แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เนื้อหาฎีกาของโจทก์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญล้วนคัดลอกข้อความในอุทธรณ์มาทั้งสิ้น คงมีส่วนเพิ่มเติมบ้างเล็กน้อยในรายละเอียด มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร และด้วยเหตุผลใด จึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
แบบก่อสร้างของจำเลยได้รับอนุญาตจากกรุงเทพมหานครให้ก่อสร้างอาคารได้ แสดงว่าแบบก่อสร้างของจำเลยถูกต้อง การออกแบบเฉพาะห้องหม้อแปลงไฟฟ้าและขอบสระว่ายน้ำเมื่อก่อสร้างจริง ห้องหม้อแปลงไฟฟ้าและขอบสระว่ายน้ำมีระยะห่างจากแนวเขตที่ดินต่างเจ้าของน้อยกว่า 3 เมตร ขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร การแก้ไขแบบจึงน่าจะต้องแก้ไขเฉพาะ 2 ส่วนนี้ เมื่อโจทก์แก้ไขแบบในระหว่างการก่อสร้างตามความพอใจของโจทก์ เพื่อให้โจทก์ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้พื้นที่ในอาคาร มิใช่แก้ไขเฉพาะส่วนที่จำเลยออกแบบขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครจึงอยู่นอกเหนือจากความรับผิดชอบของจำเลย โจทก์มิอาจอ้างได้ว่าโจทก์ต้องออกแบบก่อสร้างใหม่ทั้งหมด อันจะพึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการออกแบบใหม่นอกเหนือไปจากการแก้ไขแบบในส่วนที่เกี่ยวกับความสูงของห้องหม้อแปลงไฟฟ้าและขอบสระว่ายน้ำ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ปัญหาที่ว่าจำเลยมิได้ควบคุมดูแลและตรวจสอบการปักผัง ขุดเจาะ เป็นเรื่องเกี่ยวกับจำเลยปฏิบัติงานในหน้าที่บกพร่อง ซึ่งโจทก์ยกขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธไม่ชำระค่าว่าจ้างหรือชำระค่าว่าจ้างแก่จำเลยน้อยลง แต่เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งในประเด็นเรื่องค่าว่าจ้างที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลย แม้จะวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวก็ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นข้อฎีกาที่ไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยที่ 5 ใช้เงิน 8,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การและจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ใช้เงิน584,403 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 516,600 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1
จำเลยที่ 5 ให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ใช้เงิน 589,950บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 513,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 5
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 และที่ 5 และแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 5 ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้จำหน่ายคดีฟ้องแย้งของจำเลยที่ 5
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 364,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 14 พฤษภาคม 2536) จนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 1 นับถัดจากวันฟ้องแย้ง (ฟ้องแย้งวันที่ 17 มิถุนายน 2536) จนกว่าจะชำระเสร็จให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…สำหรับปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาว่าจ้างตามแบบและออกแบบผิดหลักวิชาชีพทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ ว่าฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ออกแบบในสองส่วนนี้ผิดหลักวิชาชีพโจทก์ไม่อาจเห็นพ้องด้วย และฎีกาว่าที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์นำสืบลอย ๆ ว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแก้ไขแบบเป็นเงิน 2,000,000 บาท จึงไม่น่าเชื่อว่าจะมีค่าใช้จ่ายเช่นนั้นจริง โจทก์ไม่อาจเห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ทั้งเนื้อหาฎีกาในส่วนที่เป็นสาระสำคัญล้วนคัดลอกข้อความในอุทธรณ์มาทั้งสิ้น คงมีส่วนเพิ่มเติมบ้างเล็กน้อยในรายละเอียด มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร และด้วยเหตุผลใด จึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์จะเรียกค่าว่าจ้างสถาปนิกในการออกแบบและเขียนแบบใหม่ทั้งหมดเนื่องจากต้องแก้ไขแบบในส่วนอื่น ๆ นอกเหนือจากการลดความสูงของห้องหม้อแปลงไฟฟ้าและขอบสระว่ายน้ำจากจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ซึ่งโจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ออกแบบผิดพลาดและผิดข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครหลายประการ หากโจทก์ดำเนินการต่อไปอาจถูกระงับการก่อสร้างหรือถูกดำเนินคดีอาญาโจทก์จึงต้องยกเลิกแบบของจำเลยที่ 1 และว่าจ้างสถาปนิกออกแบบและเขียนแบบใหม่ทั้งหมด ต้องเสียค่าใช้จ่าย 2,000,000 บาท นั้น เห็นว่า แบบก่อสร้างของจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากกรุงเทพมหานครให้ก่อสร้างอาคารได้ และโจทก์ได้ว่าจ้างผู้รับเหมาให้ดำเนินการก่อสร้างตามแบบนั้นแล้ว แสดงว่า แบบก่อสร้างของจำเลยที่ 1 ถูกต้อง คงได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่ 1 ตรงกันว่า การออกแบบเฉพาะห้องหม้อแปลงไฟฟ้าและขอบสระว่ายน้ำมีความสูงจากพื้นดิน 1.75 เมตร และ 1.25 เมตร ตามลำดับซึ่งเมื่อก่อสร้างจริง ห้องหม้อแปลงไฟฟ้าและขอบสระว่ายน้ำจึงมีระยะห่างจากแนวเขตที่ดินต่างเจ้าของน้อยกว่า 3 เมตร ขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ฉะนั้นการแก้ไขแบบจึงน่าจะต้องแก้ไข เฉพาะ 2 ส่วนนี้ ประกอบกับโจทก์ได้ชำระค่าจ้างแก่จำเลยที่ 1 เกือบครบถ้วน คงค้างเฉพาะงวดที่ 5 บางส่วน จึงน่าเชื่อตามคำเบิกความของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ที่ว่า ในระหว่างก่อสร้างโจทก์ให้จำเลยที่ 1 แก้ไขแบบหลายครั้ง และมีการแก้ไขโดยจัดพื้นที่ภายในใหม่ทุกชั้น ต้องแก้ไขทั้งด้านสถาปัตยกรรมวิศวกรรมทุกระบบตลอดจนโครงสร้าง จึงเป็นการแก้ไขมาก ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการออกแบบเพิ่มเติม แต่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมจ่ายค่าจ้างเพิ่ม ส่วนข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าแบบก่อสร้างของจำเลยที่ 1 ผิดข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครหลายข้อ จึงต้องออกแบบใหม่ทั้งหมด โดยยึดแต่โครงร่างเดิมไว้และต้องแก้ไขแบบภายในทั้งหมดเพื่อให้ได้ใช้ประโยชน์สูงสุด คงมีแต่นายวิชัย เพชรลิขิต กรรมการผู้จัดการโจทก์ผู้เดียวเท่านั้นที่เบิกความยืนยันในข้อนี้ แต่นายภาคย์เกษมเนตร สถาปนิกซึ่งโจทก์ว่าจ้างให้แก้ไขแบบใหม่เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ถามค้านว่า ก่อนแก้ไขแบบแปลนมีการคำนวณโครงสร้างไว้เรียบร้อย จึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแบบได้มากนัก นายวิชัยให้แก้ไขโดยให้มีกันสาดคลุมเหนือชั้นที่ 12 ถึงที่ 15ส่วนระเบียงคงเดิม การแก้ไขบันไดหนีไฟจึงต้องแก้ผังพื้นให้สัมพันธ์กันมากขึ้น ส่วนการแก้ไขแบบของจำเลยที่ 1 คือแก้ไขบันไดหนีไฟ ห้องหม้อแปลงไฟฟ้า เปลี่ยนบานประตูบันไดหนีไฟ แก้ไขสระว่ายน้ำ แก้ไขด้านหน้าอาคารและแนวร่นให้สัมพันธ์กับความกว้างของถนนและเพิ่มกันสาดชั้นที่ 12 ถึงที่ 15 นอกจากนั้นไม่มีการแก้ไขแบบเดิมอีก การแก้ไขแบบของโจทก์จึงเป็นการแก้ไขเพื่อให้โจทก์ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้พื้นที่ในอาคาร มิใช่การแก้ไขข้อผิดพลาดในการออกแบบก่อสร้างของจำเลยที่ 1 เพื่อให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เมื่อเป็นการแก้ไขในระหว่างการก่อสร้างภายหลังจากแบบก่อสร้างของจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากกรุงเทพมหานครแล้ว ทั้งเป็นการแก้ไขตามความพอใจของโจทก์ มิใช่แก้ไขเฉพาะส่วนที่จำเลยที่ 1 ออกแบบขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร จึงอยู่นอกเหนือจากความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 อีกทั้งการแก้ไขบางรายการ เช่น การเปลี่ยนตำแหน่งบันไดหนีไฟ เปลี่ยนบานประตูหนีไฟจากบานเลื่อนเป็นบานเปิดปิด และการเพิ่มกันสาดชั้นที่ 12 ถึงที่ 15 โจทก์ก็มิได้บรรยายมาในฟ้องเพื่อขอให้จำเลยที่ 1 รับผิด ทั้งมิใช่ส่วนที่จำเป็นต้องแก้ไขเพื่อให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เพราะแบบก่อสร้างของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้ถูกต้องอยู่แล้ว โจทก์จึงมิอาจอ้างได้ว่าโจทก์ต้องออกแบบก่อสร้างใหม่ทั้งหมดอันจะพึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการออกแบบใหม่นอกเหนือไปจากการแก้ไขแบบในส่วนที่เกี่ยวกับความสูงของห้องหม้อแปลงไฟฟ้าและขอบสระว่ายน้ำ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เมื่อการแก้ไขแบบก่อสร้างในส่วนที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดเป็นการแก้ไขเพียงเล็กน้อย และไม่ได้ความจากพยานหลักฐานโจทก์ว่าค่าใช้จ่ายส่วนนี้มีเพียงใด เมื่อเทียบสัดส่วนกับเนื้องานการออกแบบทั้งหมดจึงเป็นเนื้องานเพียงเล็กน้อย ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าจ้างส่วนนี้เป็นเงิน 5,000 บาท เหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข
ส่วนปัญหาต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า ข้ออุทธรณ์ที่ว่าจำเลยที่ 1 มิได้ควบคุมดูแลและตรวจสอบการปักผัง ขุดเจาะ ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้เพราะเป็นเรื่องนอกประเด็น โจทก์ยังไม่เห็นพ้องด้วยนั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานในหน้าที่บกพร่อง ซึ่งโจทก์ยกขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธไม่ชำระค่าว่าจ้างหรือชำระค่าว่าจ้างแก่จำเลยที่ 1 น้อยลง แต่เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งในประเด็นเรื่องค่าว่าจ้างที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยที่ 1 แม้จะวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวก็ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นข้อฎีกาที่ไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน