แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด จำเลย ได้เปลี่ยนสถานภาพมาจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทองค์การของรัฐตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จึงมีสถานภาพเป็นรัฐวิสากิจด้วย เมื่อบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในบริษัทจำเลยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ จำเลยจึงเป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 6 (2) ซึ่งไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 4 แต่ต้องบังคับตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 6 (2) ประกอบระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 หมวด 6 ข้อ 47
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2539 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการสำนัก สำนักตรวจสอบ เงินเดือนเดือนละ 97,400 บาท และเงินค่าตำแหน่งอีกเดือนละ 10,000 บาท รวมค่าจ้างเดือนละ 107,400 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน ต่อมาเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์เกษียณอายุ โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันมาครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน คิดเป็นเงิน 584,400 บาท ยังขาดอยู่อีก 274,800 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าชดเชย 274,800 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่โจทก์จำนวน 584,400 บาท ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับแล้วเพราะตามระเบียบของจำเลยคือระเบียบบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด ฉบับที่ 8 ว่าด้วยสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับการตรวจสุขภาพ ค่าทำศพ ค่าทดแทนการขาดรายได้ในกรณีทุพพลภาพ ค่าชดเชยและเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงาน พ.ศ.2542 หมวดที่ 4 ว่าด้วย สิทธิประโยชน์เกี่ยวกับค่าชดเชย ข้อ 10 (3) ระบุว่า ผู้ปฏิบัติงานซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปีขึ้นไป โดยรวมวันหยุด วันลา และวันที่ บทม. สั่งให้หยุดงานเพื่อประโยชน์ของ บทม. ให้จ่ายไม่น้อยกว่าเงินเดือนอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน และหมวด 5 ว่าด้วยสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงาน ข้อ 12 ระบุว่า ผู้ปฏิบัติงานที่ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุตามระเบียบของบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด ไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชย แต่ถ้าผู้ปฏิบัติงานผู้นั้นได้ปฏิบัติงานในช่วงก่อนเกษียณอายุติดต่อกันครบห้าปีขึ้นไปให้ได้รับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานนั้น จำนวนเท่ากับเงินเดือนอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นอกจากนี้ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หมวด 3 มาตรฐานของสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับเงินเดือนค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุด ข้อ 47 ระบุว่า พนักงานที่ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุตามระเบียบข้อบังคับหรือข้อกำหนดของรัฐวิสาหกิจนั้นไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามข้อ 45 แต่พนักงานผู้นั้นได้ปฏิบัติงานในช่วงก่อนเกษียณอายุติดต่อกันครบห้าปีขึ้นไปให้ได้รับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเป็นจำนวนเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าชดเชยให้โจทก์ 274,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ก่อนวันที่ 30 กันยายน 2545 การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่โดยถืออยู่ประมาณร้อยละ 70 แต่หลังจากวันที่ 30 กันยายน 2545 แล้ว การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยได้เปลี่ยนสถานภาพเป็นบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายรองรับ และต่อมามีพระราชกฤษฎีกายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยตามสำเนาพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย พ.ศ.2545 (จ.6) ในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2545 มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยโดยการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยโอนหุ้นทั้งหมดให้แก่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (จ.4) และมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนโดยจดแจ้งผู้ถือหุ้นใหม่ต่อกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2546 ทำให้บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นอยู่ประมาณร้อยละ 70 ต่อมาวันที่ 10 กันยายน 2546 บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับโอนหุ้นจากกระทรวงการคลังอีกประมาณร้อยละ 25 ทำให้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทจำเลยโดยถืออยู่ประมาณร้อยละ 90 โจทก์เกษียณอายุในวันที่ 30 กันยายน 2546 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงประการเดียวว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (4) หรือจ่ายเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 6 (2) ประกอบระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 หมวด 6 ข้อ 47 หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 6 บัญญัติว่า “รัฐวิสาหกิจ” หมายความว่า
(1) องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลหรือกิจการของรัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งกิจการนั้นและให้หมายความรวมถึงหน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของ
(2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่กระทรวง ทบวง กรม หรือทบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบเท่า หรือรัฐวิสาหกิจตาม (1) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ เห็นว่า บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ถือหุ้นของจำเลย ได้เปลี่ยนสถานภาพมาจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยซึ่งรัฐวิสาหกิจประเภทองค์การของรัฐตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 พระราชบัญญัติดังกล่าวระบุเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงว่า เพื่อให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นเป็นองค์กรธุรกิจของรัฐที่มีความคล่องตัวในการบริหารและในเหตุผลการจัดตั้งกับมาตรา 26 ได้กำหนดให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นนั้นมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจเช่นเดียวกัน ดังนั้น บริษัทท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) ซึ่งเปลี่ยนแปลงมาจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศที่เป็นรัฐวิสาหกิจดังกล่าว จึงมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจด้วยเมื่อบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจถือหุ้นในบริษัทจำเลย จำนวน 214,999,994 หุ้น ในหุ้นทั้งหมดจำนวน 215,000,000 หุ้น จึงมีทุนที่รัฐวิสาหกิจถืออยู่เกินกว่าร้อยละห้าสิบ จำเลยจึงเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 6 (2) ซึ่งไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 4 แต่ต้องบังคับตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 6 (2) ประกอบระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 หมวด 6 ข้อ 47 โจทก์ทำงานกับจำเลยจนเกษียณอายุเป็นเวลา 7 ปีเศษ จำเลยจ่ายเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานให้แก่โจทก์เท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 180 วัน เป็นเงิน 584,400 ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 หมวด 6 ข้อ 47นั้น เป็นการถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (4)ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาอุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง