คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 703/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ จำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาสามีจำเลยที่ 2 ได้ตกลงกับจำเลยที่ 1ขอรับรถยนต์ดังกล่าวไปไว้ในครอบครอง และตกลงจะไปเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ ข้อตกลงระหว่างสามีจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ดังกล่าวไม่ใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ เพราะการแปลงหนี้ใหม่จะต้องมีการทำสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 ดังนี้ หนี้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์จึงยังไม่ระงับ เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระเงินค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 ยังต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1ตามสัญญาค้ำประกัน เมื่อคำฟ้องและคำให้การพอที่จะรับฟังและวินิจฉัยได้ การที่ศาลอนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานหลังจากที่สืบพยานจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายที่นำสืบก่อนเสร็จแล้วก็ไม่เป็นข้อสำคัญในคดี เพราะจะอนุญาตหรือไม่ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาจำเลยที่ว่าการยื่นบัญชีระบุพยานโจทก์ไม่ชอบจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับวินิจฉัย ปัญหาว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่ามอบอำนาจให้ ป. แต่กลับนำว. เข้ามาเบิกความโดยมิได้แก้ฟ้องหรือบรรยายฟ้องกล่าวอ้างถึงว. จึงเป็นการนำสืบนอกประเด็นนั้น เมื่อประเด็นนี้จำเลยมิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างกันมาในศาลอุทธรณ์ เพิ่งมายกขึ้นในชั้นฎีกาศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน2 จ-5310 กรุงเทพมหานคร ไปจากโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ผิดนัดไม่ชำระค่างวด สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงจำเลยทั้งสองไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนทำให้โจทก์เสียหายขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากไม่สามารถส่งมอบคืนได้ให้ร่วมกันชำระราคาเป็นเงิน 241,680 บาท และให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายเดือนละ 10,000บาท นับแต่วันที่ 4 มีนาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ได้เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ตามฟ้องจริงแต่ต่อมารถยนต์ดังกล่าวประสบอุบัติเหตุ เมื่อซ่อมแซมเสร็จสามีจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ได้ครอบครองและใช้ประโยชน์ และรับว่าจะรับโอนสิทธิหน้าที่และความรับผิดทั้งหมดแทนจำเลยที่ 1 กับโจทก์โจทก์จึงต้องเรียกร้องเอาค่าเสียหายทั้งหมดจากจำเลยที่ 2 และสามีจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ได้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์จริงสามีจำเลยที่ 2 ได้รับรถยนต์ไปซ่อมแซมและเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ตลอดมา และได้ติดต่อเพื่อขอรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากไม่สามารถส่งมอบให้ร่วมกันใช้ราคา 241,680 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายถึงวันฟ้อง 40,300 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 3,100 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยหรือจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระราคารถยนต์ให้โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 201,980 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้วข้อต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและค้ำประกันหรือไม่ เห็นว่า ตามข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อ เพราะสามีจำเลยที่ 2 ได้รับรถยนต์ไปและตกลงจะไปเช่าซื้อจากโจทก์ สามีจำเลยที่ 2 จึงรับภาระหน้าที่ในการจัดการชำระหนี้ตามสัญญาแทนจำเลยที่ 1 ข้ออ้างดังกล่าวเป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับสามีจำเลยที่ 2 เองมิได้เกี่ยวข้องอะไรกับโจทก์ตามข้ออ้างของจำเลยที่ 1 เป็นการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ ถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่ อาจทำให้หนี้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ระงับได้ การแปลงหนี้ใหม่จะต้องทำสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ แต่กรณีที่จำเลยที่ 1 อ้างมานั้นเป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับสามีจำเลยที่ 2 โจทก์มิได้ตกลงทำสัญญาด้วย ทั้งการเช่าซื้อกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือถ้าสามีจำเลยที่ 2 จะทำการเช่าซื้อต่อก็ต้องมีสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์เมื่อเป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับสามีจำเลยที่ 2 โดยโจทก์มิได้ตกลงเป็นคู่สัญญาด้วย จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้ตามสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ระงับ จำเลยที่ 1จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 เมื่อค้ำประกันจำเลยที่ 1โดยยอมรับผิดร่วม จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1
ส่วนฎีกาจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับการยื่นบัญชีระบุพยานหรือโจทก์ไม่แก้ไขคำฟ้อง เห็นว่า เมื่อคำฟ้องและคำให้การพอที่จะรับฟังและวินิจฉัยได้ การที่ศาลอนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานหลังจากที่สืบพยานจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นฝ่ายที่นำสืบก่อนเสร็จแล้ว ก็ไม่เป็นข้อสำคัญในคดี เพราะจะอนุญาตหรือไม่ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปฎีกาจำเลยไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับวินิจฉัย และข้อฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่ามอบอำนาจให้นายประเสริฐ สันติพลวุฒิ แต่นำนายวัชรพงศ์ ศิริรักษ์ เข้ามาเบิกความโดยมิได้แก้ฟ้องหรือบรรยายฟ้องกล่าวอ้างถึงนายวัชรพงศ์จึงเป็นการนำสืบนอกประเด็นนั้น เห็นว่ามิได้เป็นข้อกล่าวอ้างกันมาในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน181,980 บาทแก่โจทก์

Share