คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2634/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้นที่มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22(3) ลูกหนี้ไม่มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับเจ้าหนี้ ทั้งนี้โดย ไม่ต้องคำนึงว่าเจ้าหนี้จะได้ทราบว่าลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้วหรือไม่ หนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ลูกหนี้ได้ทำขึ้นหลังจากที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้วจึงไม่สมบูรณ์ เพราะเกิดขึ้นโดย ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตามมาตรา 94(1)เจ้าหนี้จึงขอรับชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวไม่ได้ เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายที่จะบังคับให้ลูกหนี้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่เจ้าหนี้ได้นั้น หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาภายในกำหนดเวลา3 เดือน นับแต่วันที่ทราบตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 122 แล้ว เจ้าหนี้จึงจะมีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับราคาที่ดินที่ได้ชำระแก่ลูกหนี้ไปแล้วและค่าเสียหายที่ได้รับตามมาตรา 92 เจ้าหนี้จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 91 ก่อนพ้นกำหนดดังกล่าวไม่ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ไว้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2529 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมจำนวน 6,536,720 บาท กับหนี้ตามเช็คจำนวน 800,000 บาทจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเสนอความเห็นต่อศาลชั้นต้นว่า หนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมนั้น ลูกหนี้ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลหลังจากที่ศาลได้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ลูกหนี้จึงไม่มีอำนาจกระทำได้ แม้ศาลจะพิพากษาตามยอมก็เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(1) อีกทั้งหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังวันที่ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ จึงไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ แม้จะพิจารณาตามมูลหนี้เดิมซึ่งเป็นหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินลงวันที่ 19 มีนาคม 2528 เจ้าหนี้ก็ได้ติดต่อนางยุพินเจ้ามรดกขอซื้อที่ดินคืนตั้งแต่ปี 2514 แต่ไม่ได้ตกลงหรือทำหนังสือสัญญาซื้อขาย จนเวลาล่วงเลยมานานถึง 14 ปีจึงมาทำสัญญาจะซื้อจะขายกับลูกหนี้ เจ้าหนี้ทราบว่านางยุพินถึงแก่กรรมตั้งแต่ปี 2522 และลูกหนี้ไม่มีอำนาจจัดการทรัพย์มรดกของนางยุพินตามลำพัง การทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเป็นการสมยอมกัน และเจ้าหนี้ทราบอยู่แล้วว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ส่วนหนี้ตามเช็คที่ลูกหนี้สั่งจ่ายให้แก่เจ้าหนี้นั้นไม่มีมูลหนี้และสมยอมกันทั้งเจ้าหนี้ทราบอยู่แล้วว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว หนี้ทั้งสองจำนวนดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ ตามมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483เห็นควรยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เสียทั้งสิ้น ตามมาตรา 107(1) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ได้ความตามทางสอบสวนพยานฝ่ายเจ้าหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า หนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมนั้น เดิมที่ดินโฉนดตราจองที่ 6855, 6856 และ6857 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก เป็นกรรมสิทธิ์ของนายนครินทร์ ฮั่นพงษ์กุล เจ้าหนี้กับนายนครินทร์ร่วมกันทำธุรกิจโรงแรมและไนท์คลับในอาคารซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าว ครั้นปี 2513 นายนครินทร์ได้เอาที่ดินพร้อมอาคารดังกล่าวขายฝากแก่นางยุพิน ศรีสมิต มารดาของลูกหนี้เป็นเงิน 1,000,000 บาทเศษ กำหนดเวลาไถ่คืน 2 ปี ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายโฉนดตราจองเอกสารหมาย จ.12 จ.13 และ จ.14 แต่นายนครินทร์ไม่ได้ไถ่คืนภายในกำหนด ที่ดินพร้อมอาคารจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่นางยุพินเจ้าหนี้และนายนครินทร์ตกลงกับนางยุพินด้วยวาจาว่าจะขอซื้อที่ดินและอาคารคืนโดย หักเงินที่ผ่อนชำระตามสัญญาขายฝากกันบางส่วน ต่อมาต้นปี 2514 เกิดเพลิงไหม้อาคารเจ้าหนี้ได้ตกลงกับนางยุพินก่อสร้างอาคารขึ้นใหม่ โดยนายนครินทร์ยังร่วมกิจการอยู่จนถึงปี 2520 นายนครินทร์ได้ถอนตัวจากการเป็นหุ้นส่วน เจ้าหนี้ทราบว่า นางยุพินถึงแก่กรรมเมื่อปี 2522 หรือ 2523 ต่อมาเมื่อต้นปี 2528 ลูกหนี้มาพบเจ้าหนี้และแจ้งว่าเป็นผู้จัดการมรดกของนางยุพินและร้อยตำรวจโทครุฑ ศรีสมิต เจ้าหนี้จึงเสนอขอซื้อที่ดินดังกล่าวคืนในราคา4,000,000 บาท โดย หักค่าสิ่งปลูกสร้างและค่าขายฝากซึ่งผ่อนชำระไปบ้างแล้วออก เจ้าหนี้จึงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับลูกหนี้ซึ่งมอบอำนาจให้นางสมพิศ ศรีสมิตภรรยาทำสัญญาแทนเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2528 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ในวันทำสัญญาเจ้าหนี้ได้ชำระเงินให้แก่นางสมพิศจำนวน 1,000,000 บาท ก่อนหน้านี้ลูกหนี้และนางสมพิศได้มารับเงินไปแล้วประมาณ 2,000,000 บาท อ้างว่าจะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการแบ่งทรัพย์มรดกของนางยุพิน ครั้นถึงกำหนดโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาลูกหนี้ได้มีหนังสือเลื่อนการโอนกรรมสิทธิ์หลายครั้งตามเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.6 จนถึงปลายเดือนมิถุนายน 2529 เจ้าหนี้ได้อ่านพบข่าวประกาศขายที่ดิน 3 โฉนดเมื่อตรวจสอบแล้วเป็นที่ดินที่ได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายจากลูกหนี้ วันที่ 3 กรกฎาคม 2529 เจ้าหนี้จึงฟ้องลูกหนี้ต่อศาลจังหวัดพิษณุโลก ขอให้บังคับลูกหนี้โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่เจ้าหนี้ ตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 733/2529 ครั้นวันที่ 22 กรกฎาคม 2529 ลูกหนี้ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับเจ้าหนี้ตกลงโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่เจ้าหนี้หากโอนไม่ได้ยอมใช้เงิน 6,536,720 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ ศาลพิพากษาตามยอม ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมเอกสารหมาย จ.8 ในระหว่างที่ลูกหนี้ขอเลื่อนกำหนดโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เจ้าหนี้ได้ชำระเงินส่วนที่เหลือแก่ลูกหนี้และนางสมพิศครบถ้วนแล้ว ปรากฏตามใบรับและใบโอนเงินทางโทรศัพท์ของธนาคารรวม 12 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.9 ส่วนหนี้ตามเช็คนั้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2528ลูกหนี้ได้กู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้จำนวน 800,000 บาท ลูกหนี้ได้ออกเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาถนนฉัตรไชย ลงวันที่17 มกราคม 2529 สั่งจ่ายเงิน 800,000 บาท ให้แก่เจ้าหนี้ยึดถือไว้ เมื่อเช็คถึงกำหนดใช้เงินเจ้าหนี้นำไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายเช็คและใบคืนเช็คท้ายคำขอรับชำระหนี้เอกสารหมาย จ.10 เจ้าหนี้ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองพิษณุโลกให้ดำเนินคดี ปรากฏตามสำเนารายงานประจำวันลงวันที่ 25 เมษายน 2529ท้ายคำขอรับชำระหนี้ ในวันตรวจคำขอรับชำระหนี้ เจ้าหนี้จึงทราบว่าผู้จัดการมรดกของนางยุพินและร้อยตำรวจโทครุฑมิใช่มีเฉพาะลูกหนี้เพียงคนเดียว แต่มีผู้อื่นอีกสามคนร่วมเป็นผู้จัดการมรดกด้วย เจ้าหนี้จึงฟ้องลูกหนี้เป็นคดีอาญาต่อศาลจังหวัดพิษณุโลกเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2530 ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 18/2530 ในข้อหาฉ้อโกง กรรโชกทรัพย์ ลูกหนี้หลบหนี ศาลจังหวัดพิษณุโลกได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราวและออกหมายจับไว้ ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายหมายจับเอกสารหมาย จ.18…
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความจากพยานฝ่ายเจ้าหนี้ว่าเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2529 เจ้าหนี้ได้ฟ้องลูกหนี้ต่อศาลจังหวัดพิษณุโลก ขอให้บังคับลูกหนี้โอนที่ดินโฉนดตราจองที่6855, 6859 และ 6857 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลกจังหวัดพิษณุโลก ตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 ให้แก่เจ้าหนี้ตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 733/2529 ต่อมาวันที่ 22 กรกฎาคม 2529ลูกหนี้ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับเจ้าหนี้ตกลงโอนที่ดินโฉนดตราจองทั้ง 3 แปลง ดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่เจ้าหนี้หากไม่สามารถโอนให้ได้ลูกหนี้ยอมใช้เงิน 6,536,720 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ ศาลพิพากษาตามยอม ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมเอกสารหมาย จ.8 ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวได้หรือไม่เห็นว่า ศาลได้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้วตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2529 ก่อนที่เจ้าหนี้ฟ้องคดีและทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับลูกหนี้ จึงเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้นที่จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 22(3) ลูกหนี้หามีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับเจ้าหนี้ไม่ ทั้งนี้โดย ไม่ต้องคำนึงว่าเจ้าหนี้จะได้ทราบว่าลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้วหรือไม่ ดังนั้น หนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความจึงไม่สมบูรณ์ เพราะเกิดขึ้นโดย ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 94(1) เจ้าหนี้จึงขอรับชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวไม่ได้
ปัญหาต่อไปตามคำแก้ฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีว่าเมื่อเจ้าหนี้มิได้ร้องขอรับชำระหนี้โดย อาศัยมูลหนี้เดิมว่ามูลหนี้เดิมเกิดขึ้นก่อนศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ จะให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ดังกล่าวได้หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากการสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2528 ลูกหนี้โดย นางสมพิศภรรยาได้ทำหนังสือสัญญาจะขายที่ดินโฉนดตราจองทั้ง 3 แปลง ดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่เจ้าหนี้ ในราคา4,000,000 บาท เจ้าหนี้ได้ชำระราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ลูกหนี้ในวันทำสัญญาเป็นเงิน 3,000,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระให้ในวันที่ลูกหนี้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่เจ้าหนี้ โดย ตกลงจะทำการโอนกรรมสิทธิ์กันภายในกำหนด 6 เดือนนับแต่วันทำสัญญา กรณีจึงเป็นเรื่องที่เจ้าหนี้มีสิทธิตามสัญญาที่จะบังคับให้ลูกหนี้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งหากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญานี้ภายในกำหนดเวลา 3 เดือน นับแต่วันที่ทราบตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 122 เจ้าหนี้จึงจะมีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับราคาที่ดิน 3,000,000 บาท ที่ได้ชำระให้แก่ลูกหนี้ไปแล้ว และสำหรับค่าเสียหายที่ได้รับ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483เจ้าหนี้จึงไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ทันทีตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91 ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ในส่วนนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share