แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 อ้างว่า สามีของจำเลยที่ 2 จะเป็นผู้รับผิดชอบ ชำระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อแทนให้โจทก์ อันเป็นการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ ถือว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ ดังนี้เมื่อโจทก์มิได้ตกลงทำสัญญาด้วย กรณีจึงมิใช่การแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์ กับจำเลยที่ 1 ระงับ จำเลยที่ 1 ยังต้องรับผิดต่อโจทก์ ตามคำแก้ฎีกาโจทก์ยอมรับว่าได้รับชำระหนี้จากจำเลยบางส่วนแล้ว จึงต้องนำมาหักออกจากหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิด เมื่อคำฟ้องและคำให้การพอที่จะรับฟังและวินิจฉัยได้ การที่ศาลอนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานหลักจากจำเลย ซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบก่อนสืบพยานเสร็จก็มิได้ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่เป็นข้อสำคัญในคดี ฎีกาข้อนี้ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ผิดนัดไม่ชำระค่างวด สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน2528 จำเลยทั้งสองไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนทำให้โจทก์เสียหายขาดประโยชน์จากการใช้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากไม่สามารถส่งมอบคืนได้ให้ร่วมกันชำระราคาเป็นเงิน 241,680 บาท และให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายเดือนละ 10,000 บาทแต่วันที่ 4 มีนาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่าจำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์โดยจำเลยที่ 2 ได้ค้ำประกันเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2527รถยนต์ที่เช่าซื้อเกิดอุบัติเหตุหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้มอบภาระหน้าที่ให้สามีของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการติดต่อกับโจทก์เพื่อรับผิดใช้หนี้สินที่ค้างชำระตามสัญญาเช่าซื้อโดยสามีของจำเลยที่ 2 ตกลงจะเป็นผู้ชดใช้หนี้สินแทน สามีจำเลยที่ 2 ได้รับรถยนต์ไปซ่อมแซมและเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ตลอดมา และได้ติดต่อเพื่อขอรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้วคดีมีทางตกลงกันได้ ค่าเสียหายเกินความจริง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากไม่สามารถส่งมอบให้ร่วมกันใช้ราคา 241,680 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายถึงวันฟ้อง 40,300 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 3,100 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยหรือจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระราคารถยนต์ให้โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 201,980 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ตามข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อ เพราะสามีจำเลยที่ 2 ได้รับรถยนต์ไปและตกลงจะไปเช่าซื้อจากโจทก์ สามีจำเลยที่ 2 จึงรับภาระหน้าที่ในการจัดการชำระหนี้ตามสัญญาแทนจำเลยที่ 1 ข้ออ้างดังกล่าวเป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับสามีจำเลยที่ 2 เอง มิได้เกี่ยวข้องอะไรกับโจทก์ ตามข้ออ้างของจำเลยที่ 1 เป็นการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ ถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่ อาจทำให้หนี้ระหว่างจำเลยที่ 1กับโจทก์ระงับได้ การแปลงหนี้ใหม่จะต้องทำสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่แต่กรณีที่จำเลยที่ 1 อ้างมานั้น เป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับสามีจำเลยที่ 2 โจทก์มิได้ตกลงทำสัญญาด้วย ทั้งการเช่าซื้อกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือถ้าสามีจำเลยที่ 2 จะทำการเช่าซื้อต่อก็ต้องมีสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์เมื่อเป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับสามีจำเลยที่ 2 โดยโจทก์มิได้ตกลงเป็นคู่สัญญาด้วยจึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้ตามสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ระงับ จำเลยที่1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์… แต่ในคำแก้ฎีกาโจทก์รับว่าจำเลยที่ 2เคยผ่อนชำระให้โจทก์ 20,000 บาท จึงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยไปอีก 20,000 บาท เมื่อหนี้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดจำนวน 201,980 บาทแต่ได้รับชำระ 20,000 บาท จึงเหลือหนี้ที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิด 181,980 บาท
ส่วนฎีกาจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับการยื่นบัญชีระบุพยานหรือโจทก์ไม่แก้ไขคำฟ้อง เห็นว่า เมื่อคำฟ้องและคำให้การพอที่จะรับฟังและวินิจฉัยได้ การที่ศาลอนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานหลังจากที่สืบพยานจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นฝ่ายที่นำสืบก่อนเสร็จแล้ว ก็ไม่เป็นข้อสำคัญในคดี เพราะจะอนุญาตหรือไม่ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาจำเลยไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับวินิจฉัย…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน181,980 บาท แก่โจทก์.