แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่การรถไฟแห่งประเทศไทยยื่นฟ้องเอกชนผู้เช่าที่ดิน โดยอ้างว่าผิดสัญญาเช่า ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายเป็นค่าเช่า ค่าภาษี ค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ค้างชำระ พร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์และส่งมอบที่ดินคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยนั้น เป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง เห็นว่า แม้โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๗๙ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งอาจประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ภายในขอบเขตของกฎหมายจัดตั้งเพื่อแสวงหาผลกำไรได้เช่นเดียวกับเอกชน จึงต้องพิจารณาว่าลักษณะการประกอบกิจการอันเป็นเหตุพิพาทนั้นเป็นการดำเนินธุรกิจเช่นเดียวกับเอกชนหรือเป็นการใช้อำนาจรัฐเพื่อดำเนินกิจการบริการสาธารณะ เมื่อพิจารณาลักษณะของสัญญาพิพาทเป็นสัญญาที่โจทก์ตกลงให้จำเลยซึ่งเป็นเอกชนเช่าที่ดินเพื่อใช้พื้นที่จำหน่ายสินค้า โดยโจทก์ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินค่าเช่า อันเป็นการดำเนินการในเชิงพาณิชย์เช่นเดียวกับเอกชนทั่วไป ไม่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจรัฐหรือเอกสิทธิ์ของรัฐเพื่อจัดทำบริการสาธารณะด้านการขนส่งทางรถไฟตามอำนาจหน้าที่ของโจทก์ ทั้งสัญญาพิพาทไม่มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองตามนิยามสัญญาทางปกครองของมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สัญญาพิพาทในคดีนี้จึงเป็นเพียงสัญญาทางแพ่งที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงในคดีว่าจำเลยและผู้ค้ารายอื่นได้ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลปกครองกลาง และศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนประกาศของโจทก์ทั้งห้าฉบับที่เรียกให้ผู้ค้าแผงค้าในพื้นที่ตลาดนัดจตุจักรไปทำสัญญาเช่าในอัตราค่าเช่าที่โจทก์กำหนดอันเป็นมูลเหตุข้อพิพาทในคดีนี้แล้ว โดยคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดก็ตาม แต่ประเด็นแห่งคดีนี้เป็นเรื่องการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการปฏิบัติผิดสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลย อันเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ตามสัญญาซึ่งเป็นคนละประเด็นกับคดีดังกล่าวของศาลปกครอง และเมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าสัญญาพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาทางแพ่ง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม