คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2264/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทรัพย์มรดกเป็นที่ดินมือเปล่า เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกให้โจทก์โดยข้อกำหนดในพินัยกรรมระบุว่า ให้พินัยกรรมมีผลเมื่อภริยาของเจ้ามรดกถึงแก่กรรมแล้ว ระหว่างที่โจทก์เป็นผู้เยาว์ให้จำเลยเก็บผลประโยชน์จากทรัพย์มรดกดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ โจทก์ทราบข้อความในพินัยกรรมตั้งแต่เจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ หลังจากเจ้ามรดกตายแล้วแต่ในระหว่างที่ภริยาของเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่นั้นโจทก์ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วได้แสดงเจตนาสละสิทธิในทรัพย์มรดก เมื่อภริยาของเจ้ามรดกถึงแก่กรรม จำเลยก็ได้ครอบครองทรัพย์มรดกอย่างเป็นเจ้าของนับแต่นั้นเป็นต้นมา ดังนี้ทรัพย์มรดกจึงตกเป็นของจำเลยแล้ว โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกและเงินผลประโยชน์อันเกิดจากทรัพย์มรดกจากจำเลยไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่านายเงิน ภักดีโชติ เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่ดินให้โจทก์โดยให้มีผลเมื่อนางเนี่ยม ภักดีโชติ ภริยาของเจ้ามรดกถึงแก่กรรมแล้วระหว่างที่โจทก์เป็นผู้เยาว์ให้จำเลยเก็บผลประโยชน์จากที่ดินดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ เจ้ามรดกถึงแก่กรรมไปเมื่อประมาณ ๑๘ ปีก่อนฟ้อง ส่วนภริยาเจ้ามรดกถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๒๔ โจทก์ทราบข้อความในพินัยกรรมเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม๒๕๒๕ จำเลยครอบครองที่ดินของโจทก์ตามพินัยกรรมแทนโจทก์ตั้งแต่ภริยาเจ้ามรดกถึงแก่กรรมตลอดมาจนถึงวันฟ้อง จำเลยรับผลประโยชน์จากที่ดินมรดกนับแต่ พ.ศ. ๒๕๑๗ ซึ่งเป็นเวลาที่โจทก์บรรลุนิติภาวะแล้วคิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา ๘ ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๕๖,๐๐๐ บาท จำเลยไม่ยอมส่งมอบที่ดินพร้อมเงินผลประโยชน์ให้โจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินมรดกเป็นของโจทก์ ให้จำเลยส่งมอบแก่โจทก์พร้อมเงินผลประโยชน์ ๕๖,๐๐๐ บาท ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องอีกต่อไป
จำเลยให้การว่า โจทก์ทราบข้อความในพินัยกรรมที่นายเงิน ภักดีโชติ ทำไว้ตั้งแต่ผู้ทำยังมีชีวิตอยู่ ต่อมา พ.ศ. ๒๕๑๗ โจทก์ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วได้ขายที่ดินที่จะได้ตามพินัยกรรมให้จำเลยจำเลยจึงครอบครองอย่างเป็นเจ้าของด้วยความสงบและเปิดเผยตลอดมาคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นที่โจทก์ฎีกาเป็นข้อแรกคือจำเลยครอบครองที่พิพาทแทนโจทก์มาจนถึงวันฟ้องหรือไม่ โจทก์มีตัวเองยืนยันว่าเพิ่งรู้ว่ามีสิทธิได้รับที่พิพาทตามพินัยกรรมจากนายฉอน ภักดีโชติเมื่อก่อนเบิกความประมาณ ๑ ปี คือ พ.ศ. ๒๕๒๕ เมื่อไปเปิดพินัยกรรมทราบข้อความแล้วก็มาขอให้จำเลยโอนที่พิพาทให้โดยไม่เคยขายให้จำเลยส่วนนายฉอน ภักดีโชติ พยานโจทก์ซึ่งเป็นน้าโจทก์เป็นหลานเจ้ามรดกเป็นพยานในพินัยกรรม และเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ยืนยันว่าเจ้ามรดกไม่ได้ปิดบัง ได้บอกข้อความในพินัยกรรมให้โจทก์ทราบแล้ว พยานเองก็เคยบอกโจทก์ตั้งแต่เจ้ามรดกยังไม่ถึงแก่กรรม หลังงานศพนางเนี่ยมภรรยาเจ้ามรดกแล้วพยานกับโจทก์และนายพัว ภักดีโชติ ร่วมกันเปิดพินัยกรรมพยานจะแบ่งมรดก จำเลยมาอ้างว่าที่พิพาทอันเป็นส่วนของโจทก์นั้นโจทก์ขายให้จำเลยแล้ว นายพัว ภักดีโชติ กับนางพริ้ง ทวีศักดิ์ ซึ่งรู้ตัวว่ามีสิทธิได้รับที่ดินจากพินัยกรรมนั้นได้ขายที่ดินของตนให้คนอื่นไปก่อนนางเนี่ยมจะถึงแก่กรรมอันจะทำให้พินัยกรรมมีผลบังคับใช้ แล้วผู้ซื้อก็ขอออก น.ส.๓ ก.ในที่ดินที่ซื้อพร้อม ๆ กับนายเขียบ ไชยภักดี สามีจำเลย ซึ่งออก น.ส.๓ ก. ในที่พิพาท นายพัว ภักดีโชติ พยานโจทก์เช่นกันยืนยันว่าทราบถึงข้อความในพินัยกรรมจากนางเนี่ยมมาก่อนแล้วว่ามีสิทธิรับที่ดินตามพินัยกรรมนั้นและได้ขายที่ดินนั้นให้นายทวนก่อนพินัยกรรมมีผลบังคับคือก่อนนางเนี่ยมถึงแก่กรรมส่วนนางพริ้งขายที่ดินส่วนของตนให้นายชม นายทวนออก น.ส.๓ ก. ในที่ดินที่ซื้อแล้วสำหรับนายกลิ้ง วรรณบวร พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่านางเนี่ยมถึงแก่กรรมเมื่อ ๑๐ ปีก่อนเบิกความ พยานเบิกความ พ.ศ. ๒๕๒๖ จึงหมายความว่านางเนี่ยมถึงแก่กรรม พ.ศ. ๒๕๑๖ ซึ่งขัดกับคำฟ้อง และความจริงตามทะเบียนบ้านเอกสารหมาย ล.๒ ซึ่งระบุว่านางเนี่ยมถึงแก่กรรม พ.ศ. ๒๕๒๔ และพยานปากนี้เบิกความแต่เพียงว่า เข้าใจว่าจำเลยจะครอบครองที่พิพาทแทนโจทก์ พยานปากนี้จึงไม่มีน้ำหนัก ดังนี้จะเห็นว่าตัวโจทก์เบิกความขัดแย้งกับนายฉอนในเรื่องที่ว่าโจทก์รู้ถึงสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรมมาก่อนหรือไม่ โดยโจทก์ว่าไม่รู้มาก่อน แต่นายฉอนว่ารู้มาก่อนซึ่งน่าเชื่อเพราะมีนายพัวผู้มีสิทธิรับมรดกด้วยผู้หนึ่งเบิกความรับว่ารู้มาก่อน สนับสนุนนายฉอน และยังไปเจือสมกับทางนำสืบของจำเลยที่ว่าเจ้ามรดกบอกข้อความในพินัยกรรมให้บุตรทุกคนทราบ แสดงว่าโจทก์ซ่อนเร้นความจริง เป็นพิรุธน่าสงสัย ฉะนั้นที่โจทก์เบิกความลอย ๆ ว่าไม่เคยขายที่พิพาทให้จำเลยจึงพลอยขาดน้ำหนักไปด้วย ตรงข้ามฝ่ายจำเลยนำสืบตัวจำเลยว่าก่อนนางเนี่ยมถึงแก่กรรมโจทก์ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วขอเงินจำเลยอีก ๒,๕๐๐ บาท หลังจากที่จำเลยให้โจทก์กู้และออกเงินช่วยโจทก์ในกรณีต่าง ๆ มาเป็นระยะ ๆ รวม ๑๖,๕๐๐ บาทแล้ว โดยโจทก์ยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้จำเลย ไม่เกี่ยวข้องอีกต่อไป จำเลยตกลงและทำสัญญากันไว้โดยมีนายเยื้อ วรรณบวร เป็นผู้เขียนนายเขียบสามีจำเลยจึงทำเรื่องขอออก น.ส.๓ ก.ได้ตามเอกสารหมาย ล.๓ และ ล.๔ ซึ่งเอกสารดังกล่าวออกให้ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ทำเรื่องราวมาแต่ พ.ศ. ๒๕๑๙ ตามเอกสารหมาย ล.๕ เมื่อเทียบกับเอกสารหมาย ล.๑ คือทะเบียนบ้านของจำเลยซึ่งระบุปีเกิดของโจทก์ไว้ว่า พ.ศ. ๒๔๙๗ ก็เป็นขณะที่โจทก์มีอายุ ๒๒ ปีบรรลุนิติภาวะแล้วจริง จำเลยมีนายเขียบสามีจำเลยเบิกความสนับสนุนว่าโจทก์มาทำสัญญาสละที่พิพาทให้จำเลยโดยรับเงินไป ทำสัญญากันไว้โดยนายเยื้อ วรรณบวร เป็นผู้เขียน แล้วพยานนำที่พิพาทไปขอออกน.ส.๓ ก.ได้ตามเอกสารหมาย ล.๓ และ ล.๔ จำเลยมีนายเยื้อซึ่งเป็นข้าราชการสำนักงานป่าไม้เขตนครศรีธรรมราชและไม่ปรากฏสาเหตุกับฝ่ายโจทก์มายืนยันว่าได้เขียนสัญญาดังกล่าวให้จริงเมื่อก่อนเบิกความประมาณ ๖ – ๗ ปี ซึ่งพยานปากนี้เบิกความปี พ.ศ. ๒๕๒๖ หมายความว่าเขียนสัญญาประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๙ – ๒๕๒๐ ตรงกับพยานบุคคลและเอกสารคือบันทึกการสอบสวนสิทธิฯก่อนออก น.ส.๓ ก.ให้นายเขียบพยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักดีกว่าของโจทก์ ฟังได้ว่าโจทก์เจตนาสละสิทธิในที่พิพาทให้จำเลยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๙ และเมื่อนางเนี่ยมถึงแก่กรรมแล้วจำเลยก็ได้ครอบครองอย่างเป็นเจ้าของเองนับแต่นั้นเป็นต้นมา ที่พิพาทจึงตกเป็นของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกที่พิพาทและเงินผลประโยชน์อันเกิดจากที่พิพาทจากจำเลยได้
พิพากษายืน.

Share