แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกที่ดินของ อ. ขอให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยให้การต่อสู้คดี ต่อมาศาลมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยยอมแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง และมีการบังคับคดีโดยใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ทั้งสองมาฟ้องขอให้แบ่งที่ดินแก่โจทก์ในฐานะเจ้าของรวม ซึ่งแม้การฟ้องคดีนี้กับคดีเดิมจะเป็นการฟ้องเกี่ยวเนื่องกับที่ดินแปลงเดียวกัน แต่ข้อที่ว่าเมื่อมีการแบ่งที่ดินพิพาทโดยใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของรวมแล้วโจทก์ทั้งสองจะมีสิทธิเรียกให้แบ่งที่ดินพิพาทอย่างไรหรือไม่ยังไม่มีคำวินิจฉัย ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในคดีนี้เกิดขึ้นใหม่หลังจากดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาคดีเดิมเสร็จแล้ว จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ และไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ทั้งสองชอบจะไปใช้สิทธิขอบังคับคดีตามคำพิพากษาในคดีเดิม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 10328 ตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมืองสุพรรณบุรีจังหวัดสุพรรณบุรี โดยโจทก์ทั้งสองถือกรรมสิทธิ์ 1 ใน 10 ส่วน จำเลยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดดังกล่าวในฐานะผู้จัดการมรดกของนางอุบลชาครียรัตน์ โจทก์มีความประสงค์จะขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในส่วนของโจทก์ออกจากที่ดินดังกล่าว โจทก์ทั้งสองจึงแจ้งให้จำเลยทราบแต่จำเลยเพิกเฉยไม่ยอมแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองขอให้บังคับจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางอุบลแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 10328 ตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมืองสุพรรณบุรีจังหวัดสุพรรณบุรี ให้แก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 1 ใน 10 ส่วน หากจำเลยไม่ยอมปฏิบัติตาม ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 305/2540 ของศาลชั้นต้น ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนางอุบลซึ่งมีผู้รับมรดกร่วมกันอยู่หลายคนรวมทั้งโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ ดังนั้น ผู้รับมรดกคนใดคนหนึ่งจะฟ้องขอให้แบ่งส่วนใดส่วนหนึ่งของที่ดินดังกล่าวมาเป็นของตนโดยเฉพาะนั้นไม่ได้ตามนัยแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 44/2482 นอกจากนี้ก่อนที่นางอุบลจะถึงแก่ความตายนางอุบลได้สั่งว่าเมื่อนางอุบลถึงแก่ความตายให้นำที่ดินพิพาทออกขายนำเงินมาแบ่งปันแก่ทายาท ซึ่งบิดาโจทก์ทั้งสองทราบเรื่องดังกล่าวดี โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขอให้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนางอุบล ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำคู่ความประกอบกับคำแถลงรับข้อเท็จจริงของโจทก์ทั้งสองและจำเลยแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยแล้วพิพากษาให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางอุบล ชาครียรัตน์ ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 10328ตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ให้แก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 1 ใน 10 ส่วน สำหรับวิธีการแบ่งให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้สืบเนื่องจากคดีหมายเลขแดงที่ 305/2540ของศาลชั้นต้น โดยคดีดังกล่าวโจทก์ทั้งสองอ้างในฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นทายาทของนางอุบล ชาครียรัตน์ ซึ่งมีสิทธิรับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 10328 ตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรีของนางอุบลจำนวน 1 ใน 8 ส่วน จึงขอให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางอุบลแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 10328 ให้แก่โจทก์ทั้งสอง หากแบ่งไม่ได้ให้ยึดที่ดินแปลงดังกล่าวออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งให้โจทก์ทั้งสองตามส่วน จำเลยให้การต่อสู้คดี คดีตกลงกันได้โดยโจทก์ทั้งสองและจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่า จำเลยยอมแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 1 ใน 10 ส่วน ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้ว และได้มีการดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาโดยการใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทแล้วในชั้นนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสองประการแรกว่า การฟ้องของโจทก์ทั้งสองคดีนี้เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีหมายเลขแดงที่ 305/2540 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ว่าการฟ้องในคดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ 305/2540ของศาลชั้นต้น จะเป็นการฟ้องเกี่ยวเนื่องกับที่ดินแปลงเดียวกัน แต่ประเด็นที่วินิจฉัยในคดีทั้งสองเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุคนละอย่าง กล่าวคือ ประเด็นในคดีหมายเลขแดงที่ 305/2540 ของศาลชั้นต้นมีข้อที่ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกในที่ดินโฉนดเลขที่ 10328 ของนางอุบลตามฟ้องหรือไม่ ส่วนประเด็นในคดีนี้มีข้อที่ต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองในฐานะเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 10328 จะมีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินหรือไม่ ซึ่งการวินิจฉัยข้อนี้ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363, 1364 ซึ่งเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่มีข้อวินิจฉัยตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมในคดีหมายเลขแดงที่ 305/2540 ของศาลชั้นต้น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ คำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 305/2540 ของศาลชั้นต้น มีเฉพาะคำวินิจฉัยให้จำเลยแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองตามส่วนที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับมรดกเท่านั้น ส่วนข้อที่ว่าเมื่อมีการแบ่งที่ดินพิพาทโดยใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของรวมแล้วโจทก์ทั้งสองในฐานะเจ้าของรวมจะมีสิทธิเรียกให้แบ่งที่ดินพิพาทอย่างไรหรือไม่ ยังไม่มีคำวินิจฉัยประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในคดีนี้จึงเกิดขึ้นใหม่หลังจากดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 305/2540 ของศาลชั้นต้นเสร็จแล้วดังนั้น แม้ว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยจะเป็นคู่ความเดียวกันกับคู่ความในคดีหมายเลขแดงที่ 305/2540 ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้วก็ถือไม่ได้ว่าการฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัย โดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีหมายเลขแดงที่ 305/2540 ของศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า เป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองชอบที่จะไปใช้สิทธิขอบังคับคดีตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 305/2540 ของศาลชั้นต้น การที่โจทก์ทั้งสองมาฟ้องคดีนี้เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกับคดีดังกล่าวนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เมื่อวินิจฉัยดังนี้จึงไม่ต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ทั้งสอง รวมทั้งไม่ต้องวินิจฉัยข้อต่อสู้ในคำแก้ฎีกาของจำเลยที่อ้างว่า ฎีกาข้อ 4 ของโจทก์ทั้งสองที่ว่า โจทก์ทั้งสองมาฟ้องคดีนี้เนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่อาจดำเนินการแบ่งแยกที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองในคดีหมายเลขแดงที่ 305/2540 ของศาลชั้นต้นได้ เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น