คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7019/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 รับสลากกินแบ่งรัฐบาลตามสิทธิของโจทก์จากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกรมสามัญศึกษาจังหวัดเลย จำกัด เพื่อนำไปขายต่อให้บุคคลภายนอก มีลักษณะเป็นสัญญาตัวแทน โจทก์ผูกพันที่จะต้องชำระค่าสลากกินแบ่งแก่สหกรณ์ฯ แต่ในส่วนที่โจทก์มอบสลากกินแบ่งรัฐบาลของตนให้จำเลยที่ 1 นำไปขายต่อให้บุคคลอื่นแล้วนำกำไรหรือส่วนต่างจากการขายมาแบ่งปันระหว่างกันนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อจำเลยที่ 1 นำสลากกินแบ่งรัฐบาลของโจทก์ไปจำหน่ายแล้ว จำเลยที่ 1 ต้องนำเงินต้นทุนค่าสลากกินแบ่งรัฐบาลไปชำระให้แก่สหกรณ์ฯ เพื่อที่โจทก์จะมีสิทธิได้รับสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดถัดไปจากสหกรณ์ฯ นำไปจำหน่ายต่อ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์จะมีนิติสัมพันธ์บังคับเอาแก่จำเลยที่ 1 ให้ชำระค่าสลากกินแบ่งรัฐบาลคืนแก่โจทก์ทุกงวดนอกเหนือจากการแบ่งกำไรส่วนหนึ่งที่โจทก์จะได้รับจากการจำหน่ายสลาก ทั้งปรากฏว่ามีสมาชิกสหกรณ์อีกหลายคนมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการในลักษณะเดียวกันเป็นกิจจะลักษณะเหมือนเป็นผู้อยู่ในวงการซื้อขายโดยตรง จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้สร้างกิจการขึ้นมาโดยหวังกำไรจำนวนมากจากส่วนต่างของราคาขายในแต่ละงวดหลังจากแบ่งปันกำไรบางส่วนให้โจทก์และผู้มอบหมายคนอื่นแล้ว เมื่อสภาพการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลมีนัยการกำหนดราคาขายไม่ต่ำกว่าต้นทุน การตั้งราคาขายเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดและตกลงกับผู้ซื้อโดยอาศัยอำนาจของตนเอง เมื่อพิจารณาประกอบกับจำเลยที่ 1 ทำหนังสือยินยอมรับสภาพหนี้ค่าสลากกินแบ่งรัฐบาลให้แก่สหกรณ์แล้ว ตามพฤติการณ์แห่งคดีจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ตัวแทนขายในนามโจทก์
หนังสือสัญญากู้ที่จำเลยที่ 1 ทำให้ไว้แก่โจทก์ จึงมีที่มาจากมูลหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระหนี้เงินกู้ตามหนังสือสัญญากู้ และจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 124,475.62 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 108,550 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 108,550 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2555 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 รับราชการครู ต่างเป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกรมสามัญศึกษาจังหวัดเลย จำกัด สมาชิกสหกรณ์ซึ่งรวมทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 มีสิทธิซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลจากสหกรณ์คนละ 13 เล่ม ต่องวด แต่ละเล่มมีจำนวน 100 ฉบับ เป็นเงินงวดละ 108,550 บาท โจทก์ตกลงมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 รับสลากกินแบ่งรัฐบาลตามสิทธิของโจทก์จากสหกรณ์เพื่อนำไปขายต่อให้บุคคลภายนอก โดยจำเลยที่ 1 ตกลงชำระเงินค่าสลากกินแบ่งรัฐบาลให้แก่โจทก์หรือแก่สหกรณ์แทนโจทก์ ส่วนผลกำไรหรือส่วนต่างจากการขายนำมาแบ่งระหว่างกัน จำเลยที่ 1 ดำเนินการขายและชำระเงินค่าสลากกินแบ่งรัฐบาลให้แก่สหกรณ์แทนโจทก์มาแล้วหลายครั้ง ต่อมาในงวดสลากกินแบ่งรัฐบาลประจำวันที่ 16 กรกฎาคม 2554 จำเลยที่ 1 รับสลากกินแบ่งรัฐบาลในส่วนของโจทก์จากสหกรณ์ไปจำนวน 13 เล่ม เป็นเงิน 108,550 บาท และดำเนินการขายได้แล้ว แต่ผู้ซื้อไม่สามารถชำระราคาให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ชำระค่าสลากกินแบ่งรัฐบาลให้แก่โจทก์หรือสหกรณ์แทนโจทก์ ต่อมา จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินจำนวนดังกล่าวให้ไว้แก่โจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ต่อโจทก์ตามหนังสือสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาค้ำประกัน แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้และเมื่อสหกรณ์ทวงถามให้โจทก์ชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือขอชำระเงินจำนวนดังกล่าวแทนโจทก์ตามหนังสือยินยอมรับสภาพหนี้
ฎีกาของโจทก์ว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องการซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือไม่ เห็นว่า ในส่วนที่โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปรับสลากกินแบ่งรัฐบาลที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากสหกรณ์แทนโจทก์ มีลักษณะเป็นสัญญาตัวแทนโดยโจทก์มีความผูกพันโดยตรงที่จะต้องชำระค่าสลากกินแบ่งรัฐบาลแก่สหกรณ์ แต่ในส่วนที่โจทก์มอบสลากกินแบ่งรัฐบาลของตนให้จำเลยที่ 1 นำไปขายต่อให้บุคคลอื่น แล้วนำกำไรหรือส่วนต่างจากการขายมาแบ่งปันระหว่างกัน แสดงอยู่ว่าจำเลยที่ 1 มิใช่ผู้ซื้อ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงมิใช่สัญญาซื้อขาย แต่จะเข้าลักษณะเป็นสัญญาตัวแทนหรือไม่นั้น เห็นว่า ตัวการในสัญญาตัวแทนมีเจตนาผูกนิติสัมพันธ์โดยตรงกับบุคคลภายนอกที่ตัวแทนกระทำไปตามที่ได้รับมอบหมายจากตัวการ แต่ข้อเท็จจริงในคดีฟังได้ว่า เมื่อจำเลยที่ 1 นำสลากกินแบ่งรัฐบาลของโจทก์ไปจำหน่ายแล้ว จำเลยที่ 1 จะต้องนำเงินต้นทุนค่าสลากกินแบ่งรัฐบาลจำนวน 108,550 บาท ไปชำระให้แก่สหกรณ์เพื่อที่โจทก์จะมีสิทธิได้รับสลากกินแบ่งงวดถัดไปจากสหกรณ์นำไปจำหน่ายต่อไป จำเลยที่ 1 เองก็รู้ถึงหน้าที่และสิทธิข้อนี้ของโจทก์ดีเพราะจำเลยที่ 1 ก็มีสิทธิในลักษณะเดียวกับโจทก์ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์จะมีนิติสัมพันธ์บังคับเอาแก่จำเลยที่ 1 ให้ชำระค่าสลากกินแบ่งรัฐบาลคืนแก่โจทก์ทุกงวดนอกเหนือจากการแบ่งปันกำไรส่วนหนึ่งที่โจทก์จะได้รับจากการจำหน่ายของจำเลยที่ 1 โจทก์และบุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลไปจากจำเลยที่ 1 มิได้มีความจะประสงค์จะบังคับเอาแก่กันทั้งปรากฏว่าในการดำเนินการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลของจำเลยที่ 1 นอกจากรายของโจทก์แล้ว ยังมีสมาชิกสหกรณ์กลุ่มของโจทก์อีกหลายคนมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ไปดำเนินการในลักษณะเดียวกับโจทก์ และตามหลักฐานการซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบแก่ผู้ซื้อมีวงเงินร่วม 100,000,000 บาท แสดงว่า จำเลยทั้งสองกระทำการเป็นกิจจะลักษณะเหมือนเป็นผู้อยู่ในวงการซื้อขายโดยตรง จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้สร้างกิจการขึ้นมาโดยหวังกำไรจำนวนมากจากส่วนต่างของราคาขายในแต่ละงวดหลังจากแบ่งปันกำไรบางส่วนให้โจทก์และผู้มอบหมายคนอื่นแล้ว ประกอบกับสภาพการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายให้นำไปขายต่อ มีนัยการกำหนดราคาขายไม่ต่ำกว่าต้นทุนที่โจทก์และผู้อื่นรับมา และเมื่อจะต้องแบ่งปันกำไรจากการขายให้แก่โจทก์และผู้อื่นรวมทั้งจำเลยที่ 1 ด้วย การตั้งราคาขายจึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดและตกลงกับผู้ซื้อ จึงเป็นการขายโดยอาศัยอำนาจของตนเอง เพียงแต่จะกำหนดราคาขายให้ได้กำไรมากน้อยเพียงใดเท่านั้น และเมื่อขายแล้วจำเลยที่ 1 จะต้องนำเงินต้นทุนค่าสลากกินแบ่งรัฐบาลจำนวน 108,550 บาท ไปชำระหนี้สหกรณ์แทนโจทก์ทุกครั้งไปเพื่อให้โจทก์ได้รับสิทธิในสลากกินแบ่งรัฐบาลในงวดถัดไปจากสหกรณ์ เมื่อพิจารณาประกอบกับหนังสือยินยอมรับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 1 ทำให้ไว้แก่สหกรณ์ สื่อความหมายว่าจำเลยที่ 1 มีความรับผิดจะต้องปฏิบัติการชำระหนี้ค่าสลากกินแบ่งรัฐบาลจำนวน 108,550 บาท แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงยินดีทำหนังสือชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่สหกรณ์แทนโจทก์ คดีจึงมีเหตุผลให้น่าเชื่อตามคำเบิกความโจทก์ตอบถามติงว่า การที่จำเลยที่ 1 มาเสนอตัวเพื่อรับสลากกินแบ่งในนามของกลุ่มนั้น เป็นเรื่องความสมัครใจของจำเลยที่ 1 โดยไม่มีข้อตกลงใดๆ ว่าหากจำเลยที่ 1นำสลากกินแบ่งรัฐบาลไปจำหน่ายแล้วไม่ได้เงิน จะเป็นเหตุไม่ต้องชำระเงินคืนแก่สหกรณ์หรือโจทก์ ตามพฤติการณ์แห่งคดีจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ตัวแทนขายในนามโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ฟังว่านิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เข้าลักษณะสัญญาตัวแทนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และศาลฎีกามีอำนาจปรับข้อเท็จจริงให้ตรงกับนิติสัมพันธ์ที่ถูกต้องระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ ไม่เป็นการนอกฟ้อง ดังนี้ หนังสือสัญญากู้เงินที่จำเลยที่ 1 ทำให้ไว้แก่โจทก์ จึงมีที่มาจากมูลหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระหนี้เงินกู้ตามหนังสือสัญญากู้เงิน และจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นในผล แต่ตามสัญญาค้ำประกันไม่มีข้อสัญญาให้จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามนัยมาตรา 691 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนี้ จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์จึงไม่ถูกต้อง
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ ให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แทน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share