แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สัญญาประนีประนอมยอมความมีสาระสำคัญอยู่ 4 ประการคือ (1) จำเลยยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ (2) โจทก์จำเลยตกลงซื้อขายที่ดินพิพาทกันในราคา 2,600,000 บาท โดยแบ่งการชำระราคาเป็น 2 งวด (3) โจทก์ตกลงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยเมื่อได้รับชำระเงินค่าซื้อขายจากจำเลยครบถ้วนและ (4) ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อใดข้อหนึ่ง ยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งบังคับคดีได้ทันที อันเป็นที่เห็นได้ว่าสัญญามิได้ระบุไว้เลยว่าหากจำเลยไม่ชำระเงินค่าซื้อขายที่ดินตามสัญญาแล้ว ให้การซื้อขายที่ดินเป็นอันเลิกกันและให้โจทก์บังคับขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกจากที่ดินได้ กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 ทวิ ฉะนั้น ในเมื่อสัญญาประนีประนอมยอมความคำพิพากษาและคำบังคับของศาลชั้นต้นไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้โดยชัดแจ้ง ก็ต้องถือว่าจำเลยยังมิได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาถูกพิพากษาให้ขับไล่ตามมาตรา 296 ทวิ ดังกล่าว โจทก์จึงไม่อาจที่จะขอหมายบังคับคดีต่อศาลให้ขับไล่จำเลยได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม2540 ทั้งได้มีคำบังคับให้โจทก์จำเลยปฏิบัติตามสัญญานั้นแล้ว โดยสัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อสำคัญว่าโจทก์ตกลงขายที่ดินพิพาทให้จำเลยในราคา 2,600,000 บาท โดยจำเลยขอแบ่งชำระเป็นสองงวด งวดแรกภายในวันที่ 12 พฤษภาคม 2543 เป็นเงิน 1,300,000บาท ส่วนที่เหลืออีก 1,300,000 บาท จะชำระให้โจทก์ภายในวันที่ 12พฤษภาคม 2542 และโจทก์จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่จำเลยในวันที่โจทก์ได้รับเงินจากจำเลยครบถ้วน หากคู่ความไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อใดข้อหนึ่ง ยอมให้อีกฝ่ายบังคับคดีได้ทันที
ต่อมาเมื่อครบกำหนดที่จำเลยต้องชำระเงินค่าซื้อที่ดินให้โจทก์ครั้งแรกจำนวน 1,300,000 บาท ปรากฏว่าจำเลยผิดสัญญาไม่ยอมชำระเงินแก่โจทก์ โจทก์จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีและศาลชั้นต้นได้ออกหมายบังคับคดีแล้ว
ครั้นวันที่ 5 มีนาคม 2542 โจทก์ยื่นคำร้องว่า ได้สืบหาทรัพย์สินของจำเลยเพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมแล้ว ปรากฏว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นใดนอกจากมีที่ดิน 1 แปลง ติดภาระจำนองธนาคารเป็นเงินถึง 4,000,000 บาท จึงไม่สามารถบังคับคดีตามหมายบังคับคดีได้ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายบริวารของจำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 7000 พร้อมส่งมอบที่ดินพิพาทแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เนื้อหาตามคำร้องของโจทก์เป็นการขอบังคับคดีนอกเหนือจากคำพิพากษาตามยอมที่คู่สัญญาคือโจทก์จำเลยสละแล้วไม่อาจบังคับได้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 7000 ของโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า โจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทได้หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 5 มีรายละเอียดว่าหากคู่ความไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อใดข้อหนึ่งให้อีกฝ่ายบังคับคดีได้ทันที ซึ่งเจตนารมณ์ของโจทก์จำเลยต่างได้ตกลงกันเรื่องชำระเงินค่าซื้อที่ดินเป็นสาระสำคัญนั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 273 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ถ้าในคำบังคับได้กำหนดให้ใช้เงิน หรือให้ส่งทรัพย์สิน หรือให้กระทำการ… ให้ศาลระบุไว้ในคำบังคับนั้นโดยชัดแจ้ง ซึ่งระยะเวลาและเงื่อนไขอื่น ๆ …” และด้วยเหตุนี้ตามคำบังคับของศาลชั้นต้น(หน้าสำนวน) ลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2540 ระบุไว้ว่า บังคับตามยอม(หมายถึงตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉบับลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2540) หากไม่ปฏิบัติตามอาจถูกยึดทรัพย์ จับ จำขัง หรือบังคับคดีตามกฎหมายโดยตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวมีสาระสำคัญอยู่ 4 ประการ คือ (1) จำเลยยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ (2) โจทก์จำเลยตกลงซื้อขายที่ดินพิพาทกันในราคา 2,600,000 บาท โดยแบ่งการชำระราคาเป็น 2 งวด (3) โจทก์ตกลงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยเมื่อได้รับชำระเงินค่าซื้อขายจากจำเลยครบถ้วน และ (4) ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อใดข้อหนึ่ง ยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งบังคับคดีได้ทันที อันเป็นที่เห็นได้ว่า สัญญามิได้ระบุไว้เลยว่า หากคู่ความฝ่ายที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวหมายถึงจำเลยไม่ชำระเงินค่าซื้อขายที่ดินตามสัญญาแล้ว ให้การซื้อขายที่ดินเป็นอันเลิกกันและให้โจทก์บังคับขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกจากที่ดินได้ กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 ทวิ ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาถูกพิพากษาให้ขับไล่… เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้จัดการให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเข้าครอบครองทรัพย์ดังกล่าว” ฉะนั้นในเมื่อสัญญาประนีประนอมยอมความก็ดี คำพิพากษาและคำบังคับของศาลชั้นต้นก็ดี ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้โดยชัดแจ้ง ก็ต้องถือว่าจำเลยยังมิได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาถูกพิพากษาให้ขับไล่ตามนัยแห่งบทมาตราดังกล่าว โจทก์จึงไม่อาจที่จะขอหมายบังคับคดีต่อศาลให้ขับไล่จำเลยได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของโจทก์