คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 568/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานเก็บรังนกอีแอ่นโดยไม่ได้รับอนุญาตฐานมีรังนกอีแอ่นไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมาย และฐานขึ้นไปบนเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่นฯมีโทษอย่างสูงจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแยกข้อหาความผิดของจำเลยทั้งสามฐานดังกล่าวกับความผิดฐานร่วมกับพวกลักทรัพย์ของผู้เสียหายเป็นกรณีต่างกรรมกันและการพิจารณาว่าอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 193 ทวิ หรือไม่ ต้องพิจารณาความผิดแต่ละกระทงแยกเป็นรายกระทงความผิด ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่นฯ ซึ่งเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงนั้นจึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,91, 335, 336 ทวิ พระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2482 มาตรา 4, 5,6, 7, 9, 10, 12 พระราชกฤษฎีกากำหนดเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติเป็นเขตห้าม พ.ศ. 2485 มาตรา 3 ให้จำเลยคืนหรือชดใช้ราคารังนกอีแอ่นชนิดสีขาวที่ยังไม่ได้คืนน้ำหนัก 2,700 กรัม ราคา 135,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2482 มาตรา 4, 5, 6, 7, 9, 10, 12เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเก็บรังนกอีแอ่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 100 บาท ฐานมีรังนกอีแอ่นไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมาย จำคุก 6 เดือน และฐานขึ้นไปบนเกาะรูสิบซึ่งเป็นเกาะที่มีนกอีแอ่นทำรังตามธรรมชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 100 บาท รวมจำคุก 6 เดือนและปรับ 200 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ความผิดฐานเก็บรังนกอีแอ่นโดยไม่ได้รับอนุญาตฐานมีรังนกอีแอ่นไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมาย และฐานขึ้นไปบนเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต พระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2482 กำหนดอัตราโทษไว้อย่างสูงจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแยกข้อหาความผิดของจำเลยทั้งสามฐานดังกล่าวกับความผิดฐานร่วมกับพวกลักทรัพย์ของผู้เสียหายเป็นกรณีต่างกรรมกันและการพิจารณาว่าอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ หรือไม่ ต้องพิจารณาความผิดแต่ละกระทงแยกเป็นรายกระทงความผิด ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดในฐานความผิดต่อพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2482 หรือไม่ อันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลชั้นต้นฟังยุติไว้ว่าจำเลยมิใช่ผู้กระทำผิดแล้วพิพากษาลงโทษจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 225 คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยอีกต่อไป”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2482 ทั้งหมด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share