คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7015/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บทบัญญัติแห่ง ป.รัษฎากร มิได้ห้ามเจ้าพนักงานประเมินแก้ไขการประเมินที่ผิดพลาดให้ถูกต้องได้ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินยกเลิกการประเมินครั้งแรกเพราะเห็นว่าการประเมินยังไม่ถูกต้อง มิใช่เพราะเห็นว่าโจกท์ไม่มีภาษีต้องชำระเพิ่ม ซึ่งถือไม่ได้ว่าการเรียกตรวจสอบตามหมายเรียกเสร็จสิ้นลงแล้ว เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินใหม่ให้โจทก์ชำระภาษีตามที่เห็นว่าถูกต้องได้โดยไม่จำต้องออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนตาม ป.รัษฎากร มาตรา 19 อีกครั้ง แม้การประเมินครั้งหลังจะทำให้โจทก์ต้องชำระภาษีมากกว่าการประเมินครั้งแรก แต่มีผลทำให้โจทก์ต้องเสียภาษีเพียงครั้งเดียว จึงมิใช่การประเมินซ้ำซ้อน โดยเฉพาะการประเมินครั้งหลังยังเป็นการประเมินในเรื่องเดิมเกี่ยวกับยอดเงินได้พึงประเมินของโจทก์โดยเจ้าพนักงานประเมินอาศัยพยานหลักฐานที่ได้จากการตรวจสอบมาแล้วเท่าที่มีอยู่เดิมในการประเมินครั้งแรกเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณามิใช่การประเมินในเรื่องใหม่ที่ไม่เคยตรวจสอบไต่สวนมาก่อน จึงไม่จำต้องแจ้งโจทก์มาชี้แจงแสดงหลักฐานเพิ่มเติม
ข้อความในอุทธรณ์ของโจทก์เป็นไปในทำนองเดียวกับที่กล่าวในคำฟ้องโดยไม่ได้โต้แย้งหรือคัดค้านคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางว่าไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร วิธีการประเมินมิใช่ขั้นตอนปกติด้วยเหตุผลใด จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
บัญชีเงินฝากธนาคารที่โจทก์เปิดไว้ หากโจทก์อ้างว่าเงินในบัญชีมีส่วนที่เป็นของบุคคลอื่นรวมอยู่ด้วย โจทก์ต้องพิสูจน์ให้ได้ความเช่นนั้น เงินดังกล่าวเป็นจำนวนสูงมาก โจทก์อ้างว่าเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด ซ. ซึ่งตามปกตินิติบุคคลย่อมต้องมีการจัดทำบัญชีรับจ่าย บัญชีแสดงรายการเจ้าหนี้และลูกหนี้รวมทั้งงบการเงิน แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบว่าเงินของห้างมีที่มาอย่างไร แต่ละครั้งเป็นจำนวนเท่าใด การโอนเงินเข้าบัญชีเป็นเงินสำหรับหมุนเวียนในการประกอบการค้าของห้างโจทก์ก็เพียงแต่กล่าวอ้างลอย ๆ ทั้งยอดเงินในวันสุดท้ายของปีเป็นหนี้ธนาคารหรือคงเหลือ 5,000 บาท ก็ไม่อาจสรุปว่าเงินฝากในบัญชีไม่ใช่ของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นว่ายอดเงินที่เข้าบัญชีมีส่วนที่เป็นของห้างจำนวนเท่าใด การที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์นำยอดเงินฝากเข้าบัญชีภายหลังหักจำนวนเงินที่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นการชำระค่าสินค้าของห้างเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 40 (8) และหักค่าใช้จ่ายเหมาให้ในอัตราร้อยละ75 โดยงดเบี้ยปรับ จึงถูกต้องและเหมาะสมแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินเลขที่ 6760050/1/100822 ถึง 100825 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ (สภ.6) พบ./6/2548 เลขที่ (สภ.6) พบ./7/2548 เลขที่ (สภ.6) พบ./8/2548 และเลขที่ (สภ.6) พบ./9/2548
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสี่ โดยกำหนด ค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกมีว่า เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากโจทก์ในครั้งหลังหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินครั้งหลังมิได้มีการออกหมายเรียกตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นการประเมินซ้ำกับการประเมินครั้งแรกที่สิ้นสุดไปแล้ว และเป็นการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีจำนวนสูงกว่าที่ประเมินครั้งแรกอันเป็นโทษแก่โจทก์ จึงเป็นการประเมินที่ไม่ชอบตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5158/2538 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรว่าด้วยเรื่องอำนาจของเจ้าพนักงานประเมินมิได้ห้ามเจ้าพนักงานประเมินแก้ไขการประเมินที่ผิดพลาดให้ถูกต้องได้ ได้ความว่าก่อนมีการประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษีที่พิพาทจากโจทก์ เจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกโจทก์ไปไต่สวนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19 แล้ว เมื่อเจ้าพนักงานประเมินยกเลิกการประเมินครั้งแรกเพราะเห็นว่าการประเมินดังกล่าวยังไม่ถูกต้อง มิใช่เพราะเห็นว่าโจทก์ไม่มีภาระภาษีที่ต้องชำระเพิ่ม ซึ่งถือไม่ได้ว่าการเรียกตรวจสอบตามหมายเรียกดังกล่าวได้เสร็จสิ้นลงแล้ว เจ้าพนักงานประเมินก็ย่อมมีอำนาจประเมินใหม่ให้โจทก์ชำระภาษีตามที่เห็นว่าถูกต้องได้โดยไม่จำต้องออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19 อีกครั้ง แม้การประเมินครั้งหลังจะทำให้โจทก์ต้องชำระภาษีมากกว่าการประเมินครั้งแรกก็ตาม แต่การประเมินในครั้งหลังมีผลทำให้โจทก์ต้องเสียภาษีเพียงครั้งเดียว จึงมิใช่การประเมินซ้ำซ้อน โดยเฉพาะการประเมินครั้งหลังยังคงเป็นการประเมินในเรื่องเดิมเกี่ยวกับยอดเงินได้พึงประเมินของโจทก์ โดยเจ้าพนักงานประเมินอาศัยพยานหลักฐานที่ได้จากการดำเนินการตรวจสอบไต่สวนมาแล้วเท่าที่มีอยู่เดิมในการประเมินครั้งแรกเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาประเมิน มิใช่การประเมินในเรื่องใหม่ที่เจ้าพนักงานประเมินไม่เคยตรวจสอบไต่สวนมาก่อน ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินจึงไม่จำต้องแจ้งให้โจทก์มาชี้แจงหรือแสดงพยานหลักฐานเพิ่มเติมดังที่โจทก์อ้าง สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5158/2538 ระหว่าง บริษัทเตียง จิราธิวัฒน์ จำกัด โจทก์ กรมสรรพากรกับพวก จำเลย เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยออกหมายเรียกไต่สวนโจทก์ในคดีดังกล่าวและมีการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีแล้ว ต่อมามีการแจ้งการประเมินในประเด็นเรื่องใหม่ให้โจทก์ในคดีดังกล่าวชำระภาษีเพิ่มอีกโดยมิได้ยกเลิกการประเมินครั้งแรก ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างจึงแตกต่างจากคดีนี้ ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินในครั้งหลังโดยอาศัยหมายเรียกฉบับเดิมนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปมีว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากโจทก์โดยกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิตามมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อไม่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร จึงเป็นการประเมินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในปัญหานี้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า เจ้าพนักงานประเมินเพียงแต่นำรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีเงินฝากธนาคารของโจทก์มาประกอบการพิจารณาว่ารายการทางการเงินที่ปรากฏอยู่ในเอกสารดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์หรือไม่ และรายการที่โจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นของบุคคลอื่นก็ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์เพื่อนำมาประเมินภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม ซึ่งเป็นวิธีการประเมินตามขั้นตอนปกติทั่วไปและคำนวณภาษีเงินได้ตามมาตรา 48 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร มิใช่เป็นการประเมินโดยการกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิตามมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่เจ้าพนักงานประเมินอาศัยพยานหลักฐานจากรายการเงินฝากในบัญชีเลขที่ 324 – 301115 – 6 ของโจทก์มาเป็นเงินได้พึงประเมินและใช้เป็นฐานในการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากโจทก์ เป็นการประเมินโดยกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิตามมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากร เห็นว่า ข้อความในอุทธรณ์ของโจทก์เป็นไปในทำนองเดียวกับที่โจทก์กล่าวไว้ในคำฟ้อง โดยอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ได้โต้แย้งหรือคัดค้านคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางว่าไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร วิธีการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินดังกล่าวมิใช่การประเมินตามขั้นตอนปกติด้วยเหตุผลใด จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการสุดท้ายมีว่า โจทก์มีเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือไม่ ในปัญหานี้โจทก์นำสืบว่า ในช่วงปีภาษีที่เป็นกรณีพิพาท โจทก์ประกอบกิจการขายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับท่อพีวีซีพร้อมทั้งอุปกรณ์ในนามของห้างหุ้นส่วนจำกัด เซี่ยมกี่พาณิชย์ ห้างดังกล่าวมีโจทก์และนายอุดม พี่ชายโจทก์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ในปี 2539 โจทก์ได้รับเงินเดือนจากห้างดังกล่าวเดือนละ 15,000 บาท และในปี 2540 ได้รับเดือนละ 17,500 บาท นอกจากเงินเดือนที่ได้รับแล้วโจทก์ไม่มีรายได้อื่นใดอีก บัญชีกระแสรายวันเลขที่ 324 – 301115 – 6 ซึ่งเปิดไว้กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาท่ายาง เป็นบัญชีเงินฝากของโจทก์ นางสาลิณี และห้างหุ้นส่วนจำกัด เซี่ยมกี่พาณิชย์ เนื่องจากห้างดังกล่าวไม่มีบัญชีเงินฝากของตน จึงอาศัยบัญชีเงินฝากของโจทก์เป็นบัญชีเงินฝากของห้าง ซึ่งมีรายการฝากถอนเงินในบัญชีอยู่ตลอดเวลาอันเป็นปกติของการค้าขายทั่วไป และยังมีการโอนเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่ห้าง ส่วนรายการฝากด้วยเงินสดที่เป็นตัวเลขจำนวนเต็มและการโอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์ของโจทก์ไปเข้าบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวก็เป็นเงินหมุนเวียนทางการค้าของห้าง จึงไม่อาจแยกแยะได้ว่าเงินส่วนใดเป็นของโจทก์ ส่วนใดเป็นของห้าง การประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์จึงต้องใช้วิธีเฉลี่ยรายรับจากหลักฐานทางบัญชีตามสัดส่วนรายรับที่ปรากฏตามแบบแสดงรายการภาษีของโจทก์ กล่าวคือ ในปีภาษี 2539 รายรับตามรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวมียอดเงินรวมทั้งสิ้น 33,687,165.31 บาท คำนวณเป็นรายรับของห้างหุ้นส่วนจำกัด เซี่ยมกี่พาณิชย์ในอัตราร้อยละ 95.12 เป็นเงิน 32,043,231.66 บาท ส่วนที่เหลืออัตราร้อยละ 4.88 คิดเป็นเงิน 1,643,933.65 บาท เป็นรายรับของโจทก์และนางสาลิณี สำหรับปีภาษี 2540 คำนวณเป็นรายรับของห้างหุ้นส่วนจำกัด เซี่ยมกี่พาณิชย์ในอัตราร้อยละ 93.29 ของรายรับที่มีการเคลื่อนไหวทางบัญชี คิดเป็นเงิน 38,797,334.11 บาท ส่วนที่เหลืออัตราร้อยละ 6.71 คิดเป็นเงิน 2,790,546.80 บาท เป็นรายรับของโจทก์และนางสาลิณี ส่วนจำเลยทั้งสี่นำสืบว่า ในชั้นไต่สวนโจทก์ชี้แจงว่าในปีภาษี 2539 และปีภาษี 2540 โจทก์มีรายได้เป็นเงินเดือนที่ได้รับจากห้างหุ้นส่วนจำกัด เซี่ยมกี่พาณิชย์เท่านั้น ส่วนนางสาลิณีมีรายได้จากการขายอุปกรณ์การเกษตรวันละ 3,000 ถึง 4,000 บาท แต่ต่อมาโจทก์มาให้ถ้อยคำใหม่ว่า รายได้ดังกล่าวของนางสาลิณีเป็นรายได้ในปีปัจจุบัน (2544) ส่วนในปีภาษี 2539 และปีภาษี 2540 นางสาลิณีมีรายได้จากการขายสินค้าวันละ 2,000 ถึง 2,500 บาท เจ้าพนักงานประเมินได้ตรวจสอบรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีเงินฝากของโจทก์ เลขที่ 324 – 301115 – 6 แผ่นที่ 171 ถึง 220 พบว่า ในแต่ละเดือนมียอดเงินนำเข้าบัญชีค่อนข้างสูง ซึ่งโจทก์ให้ถ้อยคำชี้แจงว่า ยอดเงินที่นำเข้าบัญชีเงินฝากดังกล่าวของโจทก์ในปีภาษี 2539 จำนวน 34,024,409.33 บาท และปีภาษี 2540 จำนวน 41,649,050.91 บาท เป็นรายได้จากการขายสินค้าของนางสาลิณี รายได้จากการซื้อขายหุ้นของโจทก์ รวมทั้งการโอนเงินเข้าบัญชีให้เกิดการหมุนเวียนเพื่อให้ธนาคารเชื่อถือและเงินที่รับชำระหนี้จากการให้ญาติกู้ยืม แต่โจทก์ไม่สามารถแจ้งชื่อญาติที่อ้างว่ากู้ยืมเงินไปจากโจทก์ รวมทั้งแจ้งว่าไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินและไม่มีหลักฐานการซื้อขายหุ้นมาแสดง สำหรับการที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด เซี่ยมกี่พาณิชย์ร่วมใช้บัญชีเงินฝากธนาคารของโจทก์ ห้างจะให้โจทก์จ่ายเช็คชำระค่าสินค้าแทนห้างไปก่อน แล้วห้างจะนำเงินค่าสินค้าเข้าบัญชีเพื่อหักกลบลบหนี้กับเงินที่โจทก์จ่ายแทนไป โดยยอดเงินที่ห้างนำเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์เพื่อชำระค่าสินค้าเป็นเงินเดือนละประมาณ 600,000 ถึง 900,000 บาท หรือประมาณร้อยละ 50 ของยอดเงินที่นำเข้าบัญชีธนาคารในแต่ละเดือน รายละเอียดปรากฏตามคำให้การ ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินได้ตรวจสอบยอดเงินนำเข้าบัญชีธนาคารในแต่ละเดือนแล้ว ปรากฏว่ามีเงินนำเข้าบัญชีของโจทก์ในปีภาษี 2539 จำนวน 33,687,165.31 บาท ปีภาษี 2540 จำนวน 1,587,880.91 บาท ซึ่งเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องพิสูจน์ยอดเงินนำฝากในบัญชีดังกล่าวว่าเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทใด หากพิสูจน์ไม่ได้ก็ต้องถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร แต่โจทก์ไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ตามข้อกล่าวอ้างต่าง ๆ เว้นแต่กรณีที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด เซี่ยมกี่พาณิชย์นำเงินเข้าบัญชีเพื่อจ่ายคืนค่าซื้อสินค้าที่โจทก์ชำระแทนห้าง แม้โจทก์จะไม่มีหลักฐานใดมาพิสูจน์ แต่เจ้าพนักงานประเมินก็ได้นำหลักฐานการชำระค่าสินค้าของห้างจากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) มาประกอบการพิจารณาหักออกจากยอดเงินนำฝากในบัญชีโดยไม่ถือว่าเป็นเงินได้ของโจทก์ สำหรับเงินในบัญชีส่วนที่เหลือเมื่อไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากรประเภทใด เพื่อความเป็นธรรมจึงพิจารณาหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาให้ในอัตราร้อยละ 75 ตามมติ กพอ. ครั้งที่ 11/2522 และดำเนินการประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2539 และปีภาษี 2540 ทั้งภาษีประจำปีและภาษีครึ่งปีจากโจทก์ตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เห็นว่า บัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาท่ายาง เลขที่ 324 – 301115 – 6 เป็นบัญชีที่โจทก์เปิดไว้กับทางธนาคาร หากโจทก์อ้างว่าเงินในบัญชีดังกล่าวมีส่วนที่เป็นของบุคคลอื่นรวมอยู่ด้วย โจทก์ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ความเช่นนั้น เงินดังกล่าวเป็นจำนวนสูงมาก โจทก์อ้างว่าเงินส่วนใหญ่ในบัญชีเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด เซี่ยมกี่พาณิชย์ ซึ่งตามปกติในการประกอบธุรกิจการค้าของนิติบุคคลย่อมต้องมีการจัดทำบัญชีรับจ่าย บัญชีแสดงรายการเจ้าหนี้และลูกหนี้ รวมทั้งงบการเงินต่าง ๆ แต่โจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้ปรากฏว่าเงินของห้างหุ้นส่วนจำกัด เซี่ยมกี่พาณิชย์ ที่นำฝากเข้าบัญชีของโจทก์มีที่มาอย่างไร แต่ละครั้งเป็นจำนวนเท่าใด โดยเฉพาะหากมีการโอนเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่ทางห้างจริงก็ไม่ใช่เรื่องเหลือวิสัยที่จะตรวจสอบว่าลูกค้ารายใดเป็นผู้โอนเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ ข้อที่โจทก์อ้างว่ารายการเงินฝากในบัญชีด้วยเงินสดหรือที่เป็นตัวเลขจำนวนเต็ม รวมทั้งการโอนเงินจากบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของโจทก์เพื่อเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันดังกล่าวเป็นเงินที่ใช้สำหรับหมุนเวียนในการประกอบการค้าของห้างอันเป็นเงินรายได้ของห้างนั้น โจทก์ก็เพียงแต่กล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานใดมาแสดงให้เห็นว่ามีการโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ประเภทออมทรัพย์มาเข้าบัญชีกระแสรายวันจริง ส่วนรายการเงินฝากที่เป็นเงินสดหรือที่เป็นตัวเลขจำนวนเต็มก็ไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่ารายการเงินฝากดังกล่าวเป็นเงินทุนหมุนเวียนของห้างหุ้นส่วนจำกัด เซี่ยมกี่พาณิชย์แต่อย่างใด ทั้งการที่มียอดเงินนำฝากเข้าบัญชีเลขที่ 324 – 301115 – 6 ในปีภาษี 2539 เป็นจำนวน 30 ล้านบาทเศษ แต่ยอดเงินตามบัญชีในวันสุดท้ายของปีกลับเป็นหนี้ธนาคาร และยอดเงินนำฝากเข้าบัญชีดังกล่าวในปีภาษี 2540 เป็นจำนวน 42 ล้านบาทเศษ แต่ยอดเงินตามบัญชีในวันสุดท้ายของปีคงเหลือเพียง 5,000 บาทเศษ ก็ไม่อาจสรุปว่าเงินฝากในบัญชีดังกล่าวไม่ใช่ของโจทก์ ข้ออ้างของโจทก์จึงเลื่อนลอยและมีข้อพิรุธ ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นได้ว่ายอดเงินที่นำเข้าบัญชีเงินฝากเลขที่ 324 – 301115 – 6 ในปีภาษี 2539 และปีภาษี 2540 มีส่วนที่เป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด เซี่ยมกี่พาณิชย์จำนวนเท่าใด การที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ประเมินและวินิจฉัยว่ายอดเงินนำฝากเข้าบัญชีดังกล่าวภายหลังจากหักจำนวนเงินที่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นการชำระค่าซื้อสินค้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด เซี่ยมกี่พาณิชย์ที่ซื้อจากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร และพิจารณาหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาให้ในอัตราร้อยละ 75 โดยงดเรียกเก็บเบี้ยปรับจากโจทก์ จึงถูกต้องและเหมาะสมแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท แทนจำเลยทั้งสี่

Share