แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จากสาระสำคัญของสัญญาที่ระบุว่า โจทก์ต้องจัดหาพร้อมทั้งติดตั้งหินอ่อนจนสำเร็จโดยช่างที่มีฝีมือชำนาญ และเมื่องานสำเร็จแล้วจะต้องมีการตรวจรับงาน แล้วผู้ว่าจ้างจึงจะให้สินจ้างโจทก์ตอบแทน หากต่อมาเกิดความเสียหายโจทก์ยังต้องมีหน้าที่ทำการแก้ไข ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการแก้ไขในผลงานของโจทก์หลังจากที่โจทก์ได้ทำการติดตั้งเสร็จแล้ว มิได้เกี่ยวข้องกับตัวหินอ่อนที่โจทก์เป็นผู้ผลิตส่งมอบให้แก่ลูกค้า ย่อมเป็นการสนับสนุนให้เห็นว่าเข้าลักษณะของสัญญาจ้างทำของ สัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญารับจ้างทำของตามบัญชีอัตราภาษีการค้าแห่ง ป.รัษฎากร โจทก์จึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องเสียภาษีการค้าในการรับจ้างทำของโดยโจทก์ไม่ได้รับลดหย่อนภาษีการค้าในการค้าประเภทนี้ เนื่องจากบัตรส่งเสริมการลงทุนลดหย่อนให้เฉพาะการค้าประเภทการขายของเท่านั้น
โจทก์ชำระภาษีการค้าโดยมิได้มีการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอคืนภาษีการค้าโดยไม่ต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อน เพราะตามมาตรา 30 แห่ง ป.รัษฎากรกรณีที่จะต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์นั้น ได้แก่กรณีที่มีการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน เมื่อโจทก์มีอำนาจฟ้องขอคืนภาษีการค้าโดยไม่ต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อน ปัญหาว่าโจทก์ได้อุทธรณ์ภาษีการค้าหรือไม่จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
โจทก์นำหินอ่อนที่โจทก์ผลิตเพื่อขายและทำหน้าที่ติดตั้งให้แก่ลูกค้าด้วยนั้น ตามมาตรา 79 ทวิ(3) แห่ง ป.รัษฎากร ให้ถือว่าเป็นการขายเพื่อป้องกันมิให้หลบเลี่ยงการเสียภาษีอากรและให้ถือมูลค่าของสินค้าดังกล่าวเป็นรายรับและต้องเสียภาษีการค้าประเภทการค้า 1 การขายของ และเมื่อสัญญาพิพาทเป็นสัญญารับจ้างทำของ การที่โจทก์เป็นผู้ผลิตหินอ่อนและเป็นผู้นำหินอ่อนที่โจทก์ผลิตไปรับจ้างทำของด้วยเครื่องมือ เครื่องใช้ ค่าแรง และอื่น ๆ โดยโจทก์คิดเป็นราคาเดียวกันในสินจ้าง ไม่แยกราคาเป็นค่าวัสดุกับค่าแรง จึงถือว่าเป็นการรับจ้างทำของตามประเภทการค้า 4 แห่งบัญชีอัตราภาษีการค้าอีกประเภทหนึ่งซึ่งการค้าประเภทนี้ระบุรายการประกอบการค้าว่าการรับจ้างทำของรวมทั้งการขายส่วนประกอบและวัตถุพลอยได้ ป.รัษฎากรก็มิได้บัญญัติห้ามว่าเมื่อผู้ประกอบการค้าต้องเสียภาษีการค้าประเภทหนึ่งไปแล้วไม่ต้องเสียภาษีการค้าประเภทอื่นที่เข้าลักษณะอื่นด้วยอีก ฉะนั้นโจทก์จึงต้องเสียภาษีการค้าประเภทการค้า 4การรับจ้างทำของ ชนิด 1(ฉ) ด้วย เงินได้จำนวน 23,441,571.50 บาทเป็นรายรับจากการรับจ้างทำของและตามบัตรส่งเสริมการลงทุนโจทก์ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเฉพาะรายได้จากการขายของ เงินได้จำนวนดังกล่าวจึงเป็นเงินได้ที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และต้องแยกคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต่างหากจากเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี
รายรับของโจทก์ตามสัญญาพิพาทต้องเสียภาษีการค้าตามประเภทการค้า 4 การรับจ้างทำของ ชนิด 1(ฉ) การที่จำเลยที่ 1 ได้รับชำระภาษีการค้าไว้จากโจทก์ จึงเป็นการรับชำระเนื่องจากโจทก์มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกภาษีการค้าที่ชำระไปแล้วและดอกเบี้ยตามคำขอท้ายฟ้องคืน