คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1640/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้สัญญาระบุชื่อว่าสัญญาค้ำประกัน แต่ข้อความในสัญญามีว่าจำเลยที่ 3 จ้างโจทก์ประกันตัวจำเลยที่ 1 ไปจากศาลแล้วจำเลยที่ 3 จะปฏิบัติตามนัดทุกครั้ง โดยการมอบตัวจำเลยที่ 1 ณ สถานที่ส่งตัว ถ้าจำเลยที่ 3 ไม่สามารถส่งตัวจำเลยที่ 1 ได้เพราะจำเลยที่ 1 หลบหนีเป็นเหตุให้โจทก์ถูกปรับเป็นเงินมากน้อยเท่าใด จำเลยที่ 3 ยอมชดใช้เงินแทนโจทก์ทั้งสิ้น ดังนี้ เป็นสัญญาต่างตอบแทนธรรมดาที่ใช้บังคับกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นคู่สัญญาจำเลยที่ 3 มีหน้าที่ชำระหนี้คือส่งตัวจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์โดยตรง หาใช่เป็นการผูกพันตนเข้าชำระหนี้ในเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้อันเป็นการค้ำประกันไม่ ฉะนั้นข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 3 ว่าไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 689, 700 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในลักษณะ 11 เรื่องค้ำประกันจะนำมาใช้กับคดีนี้หาได้ไม่
จำเลยทั้งสามทำสัญญากับโจทก์ยอมชดใช้เงินค่าปรับที่โจทก์ต้องชำระต่อศาลฐานผิดสัญญาประกันรายเดียวกัน โดยจำเลยทั้งสามจะต้องชำระให้โจทก์สิ้นเชิง จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันรับผิดชำระหนี้รายนี้
จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ที่ 2 แล้วนั้น แม้โจทก์แก้ฎีกายอมรับว่าได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ที่ 2 แล้วบางส่วนแต่ก็เป็นการได้รับชำระหนี้ชั้นบังคับคดี หาเป็นเหตุให้หนี้ที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดตามสัญญา ลดลงไม่ ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสองให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดเต็มจำนวน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นจำเลยของศาลมณฑลทหารบกที่ 5 ในระหว่างการพิจารณาคดีดังกล่าวจำเลยทั้งสามทำสัญญาจ้างโจทก์ประกันตัวจำเลยที่ 1 โดยจำเลยทั้งสามให้สัญญาว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 จะนำตัวจำเลยที่ 1 มาส่งให้แก่โจทก์ทุกวันที่มีการนัดพิจารณา หากจำเลยที่ 1 หลบหนีเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถส่งตัวจำเลยที่ 1 ต่อศาลตามสัญญาประกัน จำเลยทั้งสามยอมรับรับผิดชดใช้ค่าปรับที่โจทก์ต้องชำระต่อศาลตามสัญญาประกันรวมทั้งค่าเสียหายในการติดตามตัวจำเลยที่ 1 โจทก์ยื่นขอประกันตัวจำเลยที่ 1 และศาลอนุญาตแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 หลบหนี จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่สามารถนำตัวจำเลยที่ 1 มาส่งแก่โจทก์เพื่อส่งต่อศาลได้ ศาลสั่งปรับโจทก์เป็นเงิน 245,000 บาท โจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการติดตามตัวจำเลยที่ 1 อีก 56,000 บาท ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 301,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันจริง โจทก์ขอประกันตัวจำเลยที่ 1 ซึ่งเจ็บป่วยไปรักษานอกเรือนจำ เมื่อจำเลยที่ 1 หายป่วยแล้ว โจทก์มิได้ส่งตัวจำเลยที่ 1 ต่อศาลและถอนประกันทันที เป็นการผ่อนเวลาให้ลูกหนี้โดยจำเลยที่ 3 ไม่ได้ตกลงด้วย จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้โจทก์และการที่จะบังคับให้ชำระหนี้ไม่เป็นการยาก จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 689, 700ค่าเสียหายเกินความจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน 245,000 บาทแก่โจทก์ คำฟ้องและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาชั้นฎีกาว่าจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายที่ศาลสั่งปรับโจทก์เป็นเงิน 245,000 บาท หรือไม่ เห็นว่า สัญญาเอกสารหมาย จ.3 แม้จะมีข้อความเป็นชื่อสัญญาค้ำประกันแต่ในข้อ 1 ข้อ 2 มีข้อความว่าจำเลยที่ 3 จ้างโจทก์ประกันตัวจำเลยที่ 1 ไปจากศาลแล้ว จำเลยที่ 3 จะต้องปฏิบัติตามนัดทุกครั้ง โดยการมอบตัวจำเลยที่ 1 ณ สถานที่ส่งตัว ถ้าจำเลยที่3 ไม่สามารถส่งตัวจำเลยที่ 1 ได้เพราะจำเลยที่ 1 หลบหนีเป็นเหตุให้โจทก์ถูกปรับเป็นเงินมากน้อยเท่าใด จำเลยที่ 3 ยอมใช้เงินแทนโจทก์ทั้งสิ้นอันเป็นสัญญาต่างตอบแทนธรรมดา ที่ใช้บังคับกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นคู่สัญญา จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ชำระหนี้คือส่งตัวจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์โดยตรงหาใช่เป็นการผูกพันตนเข้าชำระหนี้ในเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้อันเป็นการค้ำประกันไม่ ดังนั้น ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 3 ว่าไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 689,700 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในลักษณะ 11 เรื่องค้ำประกันจะนำมาใช้กับคดีนี้หาได้ไม่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3ไม่สามารถนำตัวจำเลยที่ 1 มาส่งตามวันเวลานัดของศาล เพราะจำเลยที่ 1 หลบหนี และศาลสั่งปรับโจทก์เป็นเงิน 245,000 บาทจำเลยที่ 3 ก็ต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามทำสัญญากับโจทก์ยอมชดใช้เงินค่าปรับที่โจทก์ต้องชำระต่อศาลฐานผิดสัญญาประกันรายเดียวกัน โดยจำเลยทั้งสามจะต้องชำระให้โจทก์สิ้นเชิงจำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันรับผิดชำระหนี้รายนี้ ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ที่ 2 แล้วนั้น แม้โจทก์แก้ฎีกายอมรับว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ที่ 2 แล้วเป็นเงิน 49,037.75 บาท ก็เป็นการได้รับชำระหนี้ชั้นบังคับคดี หาเป็นเหตุให้หนี้ที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 ลดลงไม่
พิพากษายืน.

Share