คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 47/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดฐานยักยอกระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม 2514 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2515 และโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ น. ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2514 นั้น แสดงว่าจำเลยได้กระทำความผิดระหว่างที่โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกอยู่ด้วย โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ประกอบด้วยมาตรา 354
น. มิได้ยกที่ดินโฉนดพิพาทให้จำเลย จำเลยได้รับโฉนดพิพาทจาก น. ไว้ในฐานะผู้จัดการทรัพย์สินของ น. และเมื่อ น. เพิกถอนการมอบอำนาจที่ให้จัดการทรัพย์สินแล้ว จำเลยก็ยังไม่คืนให้ ทั้ง ๆ ที่ น. และโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกได้ทวงถาม นอกจากนี้จำเลยยังได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้สั่งแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดพิพาทอีกด้วย นั้น ยังไม่พอฟังว่าจำเลยเบียดบังเอาโฉนดพิพาทเป็นของตนโดยทุจริต อันจะเป็นความผิดฐานยักยอกตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 253/2488 การที่จำเลยไปร้องขอต่อศาลให้สั่งแสดงกรรมสิทธิ์นั้นเป็นเรื่องที่จำเลยประสงค์จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเท่านั้น ยังไม่พอฟังว่าจำเลยเบียดบังเอาตัวโฉนดที่ดินที่โจทก์ฟ้องเป็นของตนโดยทุจริตด้วย
โจทก์อ้างในคำฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดในวันที่ 31 พฤษภาคม 2515 ซึ่งเป็นวันเวลาหลังจากที่ น. ได้ถอนอำนาจที่มอบให้จำเลยเป็นผู้จัดการทรัพย์สินแล้ว ฉะนั้น ในวันที่โจทก์อ้างว่าจำเลยกระทำผิด จำเลยจึงมิใช่ผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของ น. กรณีไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 353 และ 354 แม้ น. จะถอนอำนาจที่มอบให้จำเลยจัดการแล้ว จำเลยก็ต้องมีหน้าที่มอบทรัพย์สินคืนเท่านั้น ไม่มีหน้าที่จัดการทรัพย์สินของ น. อยู่ในวันเวลาที่โจทก์อ้างว่าจำเลยกระทำผิด
ศาลชั้นต้นมีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 ที่จะตรวจคำคู่ความใด ๆ ที่ยื่นไว้ต่อศาลว่าปิดแสตมป์บริบูรณ์หรือไม่ เมื่อเห็นว่าโจทก์ยังมิได้เสียค่าธรรมเนียมศาลสำหรับฟ้องในคดีส่วนแพ่งให้บริบูรณ์ ก็มีอำนาจสั่งให้เสียค่าธรรมเนียมศาล คือให้ปิดแสตมป์ให้บริบูรณ์ได้ และมาตรา 18 ก็มิได้บัญญัติว่าจะต้องสั่งเมื่อใด ฉะนั้น เมื่อศาลชั้นต้นตรวจพบก่อนมีคำพิพากษา จึงชอบที่จะสั่งให้โจทก์จัดการเสียค่าธรรมเนียมศาลให้บริบูรณ์ก่อนมีคำพิพากษาได้
จำเลยยื่นอุทธรณ์ว่า โจทก์มิใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ประกอบด้วยมาตรา 354 ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ เพราะจำเลยยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดนั้น ถือว่ามิได้ยกขึ้นมาว่าในศาลอุทธรณ์ แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยยกขึ้นฎีกาได้ แต่เนื่องจากวินิจฉัยฎีกาโจทก์แล้วว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด จึงไม่มีประโยชน์ที่จะต้องวินิจฉัยปัญหานี้ จึงไม่รับวินิจฉัยให้
(วรรคแรกวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 15/2518)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ข้อ ๑. นายแนบ พหลโยธิน ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ โจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนายแนบตามคำสั่งศาลแพ่ง
ข้อ ๒. เมื่อนายแนบมีชีวิตอยู่ เคยมอบอำนาจให้จำเลยซึ่งมีอาชีพเป็นทนายความอันเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนให้จัดการทรัพย์สินหลายแห่ง รวมทั้งให้เป็นตัวแทนทำนิติกรรมและเก็บผลประโยชน์ในที่ดินบางแห่งด้วย ต่อมาวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๑๔ นายแนบได้ถอนอำนาจที่ได้มอบหมายแก่จำเลยทั้งสิ้นและแจ้งให้จำเลยส่งมอบทรัพย์สิน บัญชี และเอกสารต่าง ๆ เมื่อโจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดก โจทก์และทนายความก็ได้เรียกร้องทรัพย์สินและเอกสารตลอดมา จำเลยได้มอบโฉนดคืนเฉพาะแต่ที่ดินเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานครเท่านั้น ส่วนเอกสารได้ส่งให้แต่สำเนาบางฉบับ ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๕ โจทก์ทราบว่าเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๑๕ จำเลยได้ไปยื่นคำร้องที่ศาลจังหวัดราชบุรี อ้างว่านายแนบได้ยกที่ดินโฉนดที่ ๑๔๔๘๖ ให้แก่จำเลยเมื่อ ๑๕ ปีกว่ามาแล้ว จำเลยได้ครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์ ขอให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ให้ที่ดินตกได้แก่จำเลย ความจริงนายแนบไม่เคยยกที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลย เป็นแต่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้มอบโฉนดนี้ให้จำเลยเป็นตัวแทนไปทำสัญญาและจดทะเบียนการเช่าที่ดินบางส่วนให้แก่บุคคลอื่น จำเลยไม่ได้ครอบครองปรปักษ์
โจทก์ได้คัดค้านต่อศาลจังหวัดราชบุรี จำเลยจึงขอถอนคำร้อง แต่ไม่ยอมคืนโฉนดให้โจทก์
ข้อ ๓. การกระทำของจำเลยในฐานะทนายความซึ่งเป็นอาชีพที่ไว้วางใจของประชาชนดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาทุจริต เบียดบังเอาโฉนดที่ ๑๔๔๘๖ อันเป็นทรัพย์ของนายแนบที่มอบให้จำเลยไปจัดการทำนิติกรรมดังกล่าวมาแล้ว เพื่อเอาเป็นของจำเลยโดยทุจริต ไม่ยอมคืนให้แก่โจทก์หรือทายาทของนายแนบ เป็นการกระทำผิดโดยบริบูรณ์แล้วตั้งแต่ระหว่างวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๑๔ ถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๑๕ ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน โจทก์เพิ่งทราบเจตนาทุจริตของจำเลยเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๕
ข้อ ๔. ในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๑๕ เวลากลางวัน จำเลยในฐานะดังกล่าวข้างต้นยังมีเจตนาทุจริตกระทำผิดกฎหมาย บังอาจแอบลอบไปยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดราชบุรี ขอให้สั่งแสดงว่าจำเลยมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนี้แล้วโดยอาศัยการยึดถือโฉนดไว้ไม่คืนให้นั้น อันเป็นการเสียหายแก่กองมรดกเสียทรัพย์สินไป หากแต่โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านได้ทัน การกระทำของจำเลยจึงไม่บรรลุผลได้ซึ่งกรรมสิทธิ์ แต่ถึงกระนั้นกองมรดกก็เสียหายแล้วที่ผู้จัดการมรดกต้องคัดค้านต่อศาล ต้องเสียเงินในกองมรดกในการนี้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒, ๓๕๓, ๓๕๔, ๘๐ และให้จำเลยคืนโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๔๔๘๖ ให้แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกด้วย
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยยังไม่พอฟังว่าเป็นการทุจริตเบียดบังเอาโฉนดไว้ พิพากษายกฟ้อง แต่ให้คืนโฉนดตามฟ้องแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ ประกอบด้วยมาตรา ๓๕๔ โดยที่ประชุมใหญ่แล้วมีมติว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดฐานยักยอกระหว่างวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๑๔ ถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๑๕ และโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายแนบซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ แสดงว่าจำเลยได้กระทำความผิดระหว่างที่โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายแนบอยู่ด้วย โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานยักยอกนี้
โดยที่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ ประกอบด้วยมาตรา ๓๕๔ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีไปเลยทีเดียว โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ และศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า นายแนบมิได้ยกที่ดินโฉนดพิพาทให้จำเลย จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดโฉนดพิพาทไว้ ต้องคืนให้แก่โจทก์
คดีมีปัญหาต่อไปว่า การที่จำเลยได้รับโฉนดพิพาทจากนายแนบไว้ในฐานะผู้จัดการทรัพย์สินของนายแนบ และเมื่อนายแนบเพิกถอนการมอบอำนาจที่ให้จัดการทรัพย์สินแล้ว จำเลยก็ยังไม่คืนให้ ทั้ง ๆ ที่นายแนบและโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายแนบได้ทวงถาม นอกจากนี้จำเลยยังได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้สั่งแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดพิพาทอีกด้วย เช่นนี้ จะเป็นความผิดฐานยักยอกโฉนดพิพาทหรือไม่ เห็นว่าข้อเท็จจริงที่ได้ความเพียงเท่านี้ยังไม่พอฟังว่าจำเลยได้เบียดบังเอาโฉนดพิพาทเป็นของตนโดยทุจริต อันจะเป็นความผิดฐานยักยอก ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๕๓/๒๔๘๘ ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดนครปฐม โจทก์ นางเจือ เสมสวัสดิ์ จำเลย ส่วนการที่จำเลยไปร้องขอต่อศาลให้สั่งแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดพิพาทนั้น ก็เป็นเรื่องที่จำเลยประสงค์จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเท่านั้น พฤติการณ์ยังไม่พอฟังว่าจำเลยเบียดบังเอาตัวโฉนดที่ดินที่โจทก์ฟ้องเป็นของตนโดยทุจริตด้วย การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์นำสืบจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานยักยอกโฉนดพิพาท
สำหรับฎีกาของโจทก์เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๓ ประกอบด้วยมาตรา ๓๕๔ นั้น โจทก์อ้างในคำฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๑๕ ซึ่งเป็นวันเวลาหลังจากที่นายแนบได้ถอนอำนาจที่มอบให้แก่จำเลยเป็นผู้จัดการทรัพย์สินแล้ว ฉะนั้น ในวันที่โจทก์อ้างว่าจำเลยกระทำผิด จำเลยจึงมิใช่ผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของนายแนบ กรณีไม่อยู่ในบังคับของมาตรา ๓๕๓ และ ๓๕๔ ที่จะลงโทษจำเลยได้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า แม้นายแนบถอนอำนาจที่มอบให้จำเลยจัดการแล้ว แต่จำเลยก็ยังมีหน้าที่ต้องมอบทรัพย์สินคืนให้แก่ตัวการหรือทายาทของตัวการอยู่นั้น ก็เป็นเรื่องที่จำเลยมีหน้าที่ต้องมอบทรัพย์สินคืนเท่านั้น ไม่มีหน้าที่จัดการทรัพย์สินของนายแนบอยู่ในวันเวลาที่โจทก์อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา ๓๕๓
ส่วนฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์ฟ้องขอคืนโฉนดโดยมิได้เสียค่าธรรมเนียมศาล ศาลควรยกคำขอเสีย ไม่ควรสั่งให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมศาลก่อนที่จะพิพากษานั้น เห็นว่าศาลชั้นต้นมีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘ ที่จะตรวจคำคู่ความใด ๆ ที่ยื่นไว้ต่อศาลว่าปิดแสตมป์บริบูรณ์หรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าโจกท์ยังมิได้เสียค่าธรรมเนียมศาลสำหรับฟ้องในส่วนแพ่งให้บริบูรณ์ ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจสั่งให้เสียค่าธรรมเนียมศาล คือให้ปิดแสตมป์ให้บริบูรณ์ได้ และมาตรา ๑๘ นี้ ก็มิได้บัญญัติว่าจะต้องสั่งเมื่อใด ฉะนั้น เมื่อศาลชั้นต้นตรวจพบก่อนมีคำพิพากษา จึงขอบจะสั่งให้โจทก์จัดการเสียค่าธรรมเนียมศาลให้บริบูรณ์ก่อนมีคำพิพากษาได้
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๓ ประกอบด้วยมาตรา ๓๕๔ นั้น จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านว่าโจทก์มิใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง แต่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ เพราะจำเลยยื่นอุทธรณ์เกินกำหนด ปัญหานี้จึงถือว่ามิได้ยกขึ้นมาว่าในศาลอุทธรณ์ แต่เนื่องจากปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยจึงยกขึ้นฎีกาได้ แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากศาลฎีกาได้วินิจฉัยฎีกาของโจทก์แล้วว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๓ และมาตรา ๓๕๔ ฉะนั้น จึงไม่มีประโยชน์อย่างใดที่จะต้องวินิจฉัยปัญหาที่จำเลยฎีกานี้อีก จึงไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน

Share