แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ลักโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 20 เครื่อง ราคาทรัพย์รวม 90,000 บาท ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 อย่างไรก็ตาม ผู้เสียหายยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 45,000 บาท จึงไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 อีกต่อไป นับว่าจำเลยที่ 2 ได้พยายามบรรเทาผลร้ายแห่งคดี ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการร่วมกันกระทำความผิดจึงเปลี่ยนแปลงไป การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม ตาม ป.อ. มาตรา 76 โดยวางโทษจำเลยที่ 2 จำคุก 2 ปี ก่อนลดโทษให้นั้น เป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษที่หนักเกินไป เห็นสมควรแก้ไขเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดี ปัญหาดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาด้วย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 83, 335 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 90,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 83, 335 (1), 335 (7) วรรคสอง จำคุกคนละ 6 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 3 ปี ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 90,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 76 คงจำคุก 2 ปี และลดโทษให้จำเลยที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง จำคุก 1 ปี ให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 45,000 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ลักโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโนเกียรุ่น 3310 จำนวน 20 เครื่อง ราคาเครื่องละ 4,500 บาท รวมราคาทรัพย์ 90,000 บาท ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต ลักษณะการกระทำความผิดเป็นปรปักษ์ต่อสิทธิครอบครองและกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน สร้างความเดือดร้อนแก่เจ้าของทรัพย์ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในสังคม พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ลำพังแต่จำเลยที่ 2 มีภาระต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวและอยู่ในระหว่างศึกษาเล่าเรียน ซึ่งเป็นเพียงเหตุผลและความจำเป็นส่วนตัว ยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 อย่างไรก็ตาม ผู้เสียหายยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2546 ว่าจำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 45,000 บาท จึงไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 อีกต่อไป นับว่าจำเลยที่ 2 ได้พยายามบรรเทาผลร้ายแห่งคดี ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการร่วมกันกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองจึงเปลี่ยนแปลงไป การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม ตาม ป.อ. มาตรา 76 โดยวางโทษจำเลยที่ 2 จำคุก 2 ปี ก่อนลดโทษให้นั้น เป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษที่หนักเกินไป เห็นสมควรแก้ไขเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดี ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน ปัญหาดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้วางโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 1 ปี 6 เดือน สำหรับจำเลยที่ 2 ลดมาตราส่วนโทษ ตาม ป.อ. มาตรา 76 ให้หนึ่งในสาม วางโทษจำคุก 1 ปี ลดโทษตาม ป.อ. มาตรา 78 ให้คนละกึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุกไว้มีกำหนด 9 เดือน และจำเลยที่ 2 จำคุกไว้มีกำหนด 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1.