คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7013/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายยังมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และอยู่ในวิสัยที่โจทก์จะสามารถติดตามตัวผู้เสียหายมาเบิกความเป็นพยานได้ แต่หาได้ดำเนินการไม่จึงมิใช่กรณีที่มีเหตุจำเป็น เนื่องจากไม่สามารถนำบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นด้วยตนเองโดยตรงมาเป็นพยานได้ และมีเหตุผลสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (2) แม้โจทก์จะมี จ. ที่ทราบเหตุการณ์จากผู้เสียหาย และพันตำรวจโท ส. พนักงานสอบสวนที่เบิกความยืนยันตามเหตุการณ์ที่ได้ทราบจากผู้เสียหายประกอบคำให้การของผู้เสียหายล้วนแต่เป็นเพียงพยานบอกเล่า เมื่อจำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ พยานหลักฐานของโจทก์ย่อมไม่พอให้รับฟังลงโทษจำเลยทั้งสามได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 277
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 4 ปี
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า พยานหลักฐานโจทก์รับฟังลงโทษจำเลยทั้งสามตามฟ้องได้หรือไม่ เห็นว่า ตามพฤติการณ์แห่งคดี เด็กหญิง ว. ผู้เสียหาย ถูกจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำชำเรา ผู้เสียหายจึงเป็นประจักษ์พยานที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่จะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดหรือบริสุทธิ์ เพราะเป็นผู้เห็นเหตุการณ์เกี่ยวกับการกระทำความผิด และเป็นผู้ที่ประสบเหตุโดยตรง แต่โจทก์กลับไม่นำตัวผู้เสียหายมาเบิกความยืนยันต่อศาล จำเลยทั้งสามย่อมไม่มีโอกาสถามค้านเพื่อให้ข้อเท็จจริงเป็นที่กระจ่างแก่ศาลได้ ทั้งเหตุที่โจทก์ไม่นำตัวผู้เสียหายมาเบิกความต่อศาลข้อเท็จจริงได้ความจากนาง ส. มารดาผู้เสียหายแถลงต่อศาลว่า ผู้เสียหายไม่ประสงค์ที่จะมาเบิกความต่อศาลเนื่องจากอายและไม่อยากเอาความกับผู้ใด โจทก์จึงแถลงหมดพยาน ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณา ฉบับลงวันที่ 21 ธันวาคม 2547 ของศาลชั้นต้น จากข้อเท็จจริงดังกล่าว เชื่อได้ว่าผู้เสียหายยังมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และอยู่ในวิสัยที่โจทก์จะสามารถติดตามตัวผู้เสียหายมาเบิกความเป็นพยานได้ แต่หาได้ดำเนินการไม่จึงมิใช่กรณีที่มีเหตุจำเป็น เนื่องจากไม่สามารถนำบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นด้วยตนเองโดยตรงมาเป็นพยานได้ และมีเหตุผลสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง (2) แม้โจทก์จะมีนายจันทร์เพ็ญ ที่ทราบเหตุการณ์จากผู้เสียหาย และพันตำรวจโทเสถียร พนักงานสอบสวนที่เบิกความยืนยันตามเหตุการณ์ที่ได้ทราบจากผู้เสียหายประกอบคำให้การของผู้เสียหาย ล้วนแต่เป็นเพียงพยานบอกเล่า เมื่อจำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ พยานหลักฐานของโจทก์ย่อมไม่พอให้รับฟังลงโทษจำเลยทั้งสามได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share