คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7010/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคู่มือการใช้บัตรเครดิต ผู้ถือบัตรหลักสามารถมอบเครดิตของตนให้ได้เฉพาะสมาชิกในครอบครัว ด้วยการสมัครให้เป็นสมาชิกบัตรเสริม นอกจากนี้การแจ้งยอดค่าใช้จ่ายของบัตรหลักและบัตรเสริมกำหนดให้แจ้งแก่ผู้ถือบัตรหลักเท่านั้น ดังนี้ แสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาว่าผู้ถือบัตรหลักต้องร่วมรับผิดชอบในการใช้บัตรของผู้ถือบัตรเสริมซึ่งเป็นสมาชิกครอบครัวเดียวกันด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ออกบัตรเสริมแก่จำเลยที่ 2 ผู้เป็นสามีจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรหลักจึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ของบัตรเสริมเสมือนกับเป็นหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรของตนเอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๘๓,๘๗๔.๓๖ บาท และจำเลยที่ ๒ ชำระเงิน ๘๒,๗๓๔.๕๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ในต้นเงิน ๔๔,๗๙๔.๑๗ บาท และต้นเงิน ๔๔,๑๙๐.๖๕ บาท ตามลำดับ นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๖๑๒.๗๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๔ และจำเลยที่ ๒ ชำระเงิน ๔๕,๒๖๙.๓๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ในต้นเงิน ๔๔,๑๙๐.๖๕ บาท นับแต่วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๕ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองไม่แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๓๒ จำเลยที่ ๑ ยื่นคำขอใช้บัตรเครดิตของโจทก์ และขอให้โจทก์ออกบัตรเครดิตประเภทบัตรเสริมให้แก่จำเลยที่ ๒ โดยใช้วงเงินเดียวกัน โจทก์อนุมัติวงเงินการใช้บัตรเครดิตให้แก่จำเลยทั้งสองจำนวนเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท ภายหลังทำสัญญาจำเลยทั้งสองได้รับบัตรเครดิตไปจากโจทก์และนำบัตรเครดิตไปใช้ซื้อสินค้า ชำระค่าบริการและเบิกถอนเงินสดหลายครั้ง โจทก์แจ้งยอดหนี้ให้จำเลยทั้งสองทราบ จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวยกเลิกบัตรเครดิตและทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่จำเลยทั้งสองได้รับหรือถือว่าได้รับหนังสือบอกกล่าว ซึ่งจำเลยทั้งสองได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๔๐ สัญญานี้จึงเลิกกันวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๔๐ ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีเพียงว่า จำเลยที่ ๑ จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๒ ในหนี้บัตรเสริมต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ตามคำขอใช้บัตรเครดิตรายละเอียดที่ระบุในคำขอ เช่น ประวัติ ที่อยู่ อาชีพ รายได้ สถานที่ส่งใบเรียกเก็บเงินตลอดจนการชำระเงิน ล้วนเป็นรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับผู้ขอบัตรหลักคือจำเลยที่ ๑ ส่วนรายละเอียดของผู้ขอบัตรเสริมคือจำเลยที่ ๒ นั้น เป็นเพียงข้อมูลเท่าที่จำเป็นเพื่อทราบว่าเป็นใคร เกี่ยวข้องกับผู้ขอบัตรหลักอย่างไร ในการอนุมัติโจทก์ได้พิจารณาอนุมัติโดยคำนึงถึงข้อมูล ความสามารถในการชำระเงินของจำเลยที่ ๑ ผู้ขอบัตรหลักซึ่งเป็นคู่สัญญาโดยตรงเท่านั้น วงเงินของบัตรเสริมก็ใช้ร่วมกับวงเงินของบัตรหลักที่โจทก์อนุมัติให้จำเลยที่ ๑ หากปราศจากบัตรหลักแล้วย่อมไม่อาจทำสัญญาขอใช้บัตรเสริมได้โดยลำพัง ทั้งจำเลยที่ ๑ ลงชื่อรับรองไว้ในคำขอว่า จำเลยที่ ๑ ยินยอมผูกพันตามระเบียบและเงื่อนไขของโจทก์ที่กำหนดไว้ทุกประการซึ่งในคู่มือการใช้บัตร ผู้ถือบัตรหลักสามารถมอบเครดิตของตนให้ได้เฉพาะสมาชิกในครอบครัว ด้วยการสมัครให้เป็นสมาชิกบัตรเสริม ดังนี้ แสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาว่าผู้ถือบัตรหลักต้องร่วมรับผิดชอบในการใช้บัตรของผู้ถือบัตรเสริมซึ่งเป็นสมาชิกครอบครัวเดียวกันด้วย เมื่อจำเลยที่ ๑ ขอให้โจทก์ออกบัตรเสริมแก่จำเลยที่ ๒ ผู้เป็นสามี จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรหลักจึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ของบัตรเสริมเสมือนกับเป็นหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรของตนเอง ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดในหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรเครดิตแยกต่างหากจากกันไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๒ ในหนี้ของจำเลยที่ ๒ ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๑,๐๐๐ บาท.

Share