คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7007/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 15 เม็ด ของกลางเป็นแอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีนที่ผสมอยู่จำนวน 15 หน่วยการใช้ มีน้ำหนักรวม 4.480 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 1.457 กรัม กรณีต้องด้วย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ที่บัญญัติว่า “การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามปริมาณดังต่อไปนี้ ให้ถือว่า เป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย… (2) แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป…” ซึ่งเป็นบทสันนิษฐานเด็ดขาด แม้ทางนำสืบของโจทก์จะได้ความเพียงว่า มีผู้แจ้งว่าจำเลยจำหน่ายยาเสพติดให้โทษโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่ส่อแสดงว่าจำเลยมีพฤติการณ์จำหน่ายยาเสพติดให้โทษก็ตาม จำเลยก็มีความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
ข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 มีระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท มีอายุความ 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) คดีนี้จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2545 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 16 มกราคม 2547 คดีของโจทก์ในความผิดดังกล่าว จึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ชอบที่ศาลจะต้องยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดดังกล่าว ปัญหาข้างต้นเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบ มาตรา 215, 225
ศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลยเกินแปดหมื่นบาท โดยพิพากษาว่าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 แต่มิได้ระบุให้กักขังเกิน 1 ปี หรือไม่ เช่นนี้จะกักขังเกิน 1 ปี ไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรระบุในคำพิพากษาให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้มีปัญหาในชั้นบังคับตามคำพิพากษา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 371 กับขอให้ริบยาเสพติดให้โทษของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพข้อหาพาอาวุธปืนมีทะเบียนของตนเองติดตัวไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แต่ปฏิเสธข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
ศาลชั้นต้นพิพากษา จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2) (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคสาม (2)), 66 วรรคสอง พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 5 ปี ปรับ 420,000 บาท ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองหมู่บ้าน และทางสาธารณะ เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา 72 ทวิ วรรคสอง ปรับ 2,000 บาท คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวนและคำให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาในความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก 3 ปี 4 เดือน ปรับ 280,000 บาท ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองหมู่บ้าน และทางสาธารณะ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ 1,000 บาท รวมจำคุก 3 ปี 4 เดือน และปรับ 281,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบยาเสพติดให้โทษของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คืนอาวุธปืนของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยพร้อม 3, 4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ผสมอยู่กับเมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ จำนวน 13 เม็ด มีสีเหลืองน้ำหนัก 3.930 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 1.129 กรัม อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และอาวุธปืนพกออโตเมติกขนาด 0.32 ( 7.65 มม. ) เครื่องหมายทะเบียน กท 4509291 พร้อมกระสุนปืน 3 นัด เป็นของจำเลยที่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้เป็นของกลางกับยึด 3 , 4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์จำนวน 2 เม็ด มีสีชมพูน้ำหนัก 0.550 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.328 กรัม อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เป็นของกลาง ความผิดฐานพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 2 เม็ด ชนิดสีชมพูของกลาง เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้จากจำเลยพร้อมกับยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 13 เม็ด ชนิดสีเหลืองของกลางหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน เหตุที่จับจำเลยเนื่องจากร้อยตำรวจเอกไพฑูรย์ทราบจากสายลับ มีชายอายุ 24 ปี จำหน่ายยาเสพติดให้โทษที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีโดยบอกลักษณะรูปพรรณและประเภทยานพาหนะ ที่ใช้ขับ เมื่อพยานทั้งสองกับพวกไปดักซุ่มดูก็พบจำเลยซึ่งมีลักษณะรูปพรรณตรงกับที่แจ้งขับรถยนต์ตรงตามที่แจ้ง ครั้นเมื่อทำการตรวจค้นก็พบยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ทั้งสองชนิดรวม 15 เม็ด ของกลางรวมอยู่ด้วยกัน คำของร้อยตำรวจเอกไพฑูรย์และจ่าสิบตำรวจสุพิศมีน้ำหนักให้รับฟัง นอกจากนี้โจทก์ยังมีร้อยตำรวจเอกสำรวยพนักงานสอบสวนเบิกความยืนยัน จำเลยให้การรับสารภาพ ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ของกลางทั้งสองชนิดรวม 15 เม็ด เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้จากจำเลย ร้อยตำรวจเอกสำรวยไม่รู้จักจำเลยมาก่อน คำของร้อยตำรวจเอกสำรวยมีน้ำหนักให้รับฟัง จำเลยก็ยอมรับว่า ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ของกลางชนิดสีเหลืองจำนวน 13 เม็ด เป็นของจำเลย ยิ่งกว่านั้นไม่มีเหตุผลใดที่ร้อยตำรวจเอกไพฑูรย์และจ่าสิบตำรวจสุพิศจะต้องกลั่นแกล้งจำเลย โดยนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ของกลางชนิดสีชมพูจำนวน 2 เม็ด มาเพิ่มขึ้นอีก พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบรับฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่ายาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 2 เม็ด ชนิดสีชมพูของกลางเจ้าพนักงานตำรวจยึดได้จากจำเลยพร้อมกับยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 13 เม็ด ชนิดสีเหลืองของกลาง จำเลยก็เบิกความยอมรับ ได้ลงชื่อในบันทึกการจับกุมและชั้นสอบสวน ข้อที่จำเลยอ้างว่า เจ้าพนักงานตำรวจบอกว่า จะคืนรถยนต์ให้นั้นก็เป็นการเบิกความลอยๆ ไม่มีพยานสนับสนุน ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อมา จำเลยมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 15 เม็ด ของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ เห็นว่า ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 15 เม็ด ของกลางเป็นแอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีนที่ผสมอยู่จำนวน 15 หน่วยการใช้มีน้ำหนักรวม 4.480 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์รวมกันได้ 1.457 กรัม กรณีต้องด้วยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ที่บัญญัติว่า “การผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามปริมาณดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย… (2) แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป…” ซึ่งเป็นบทสันนิษฐานเด็ดขาด แม้ทางนำสืบของโจทก์จะได้ความเพียงมีผู้แจ้งว่าจำเลยจำหน่ายยาเสพติดให้โทษโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่ส่อแสดงว่า จำเลยมีพฤติการณ์จำหน่ายยาเสพติดให้โทษก็ตาม ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 มีระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท มีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (5) คดีนี้จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2545 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 16 มกราคม 2547 คดีของโจทก์ในความผิดดังกล่าว จึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) ชอบที่ศาลจะต้องยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดดังกล่าว ปัญหาข้างต้นเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215, 225 และศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลย โดยพิพากษาว่าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 แต่มิได้ระบุให้กักขังเกิน 1 ปี หรือไม่ เช่นนี้จะกักขังเกิน 1 ปี ไม่ได้ เห็นควรระบุในคำพิพากษาให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้มีปัญหาในชั้นบังคับตามคำพิพากษา
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 สำหรับค่าปรับหากจำเลยไม่ชำระให้กักขังแทนไม่เกิน 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share