คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 377/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่เจ้ามรดกใช้คำว่า ‘ขอทำพินัยกรรม’ ตามความเข้าใจของสามัญชนทั่วไปย่อมเข้าใจว่าเจตนาจะยกทรัพย์สมบัติให้เมื่อเจ้ามรดกตายแล้วการยกทรัพย์ให้เมื่อยังมีชีวิตอยู่ สามัญชนทั่วไปย่อมไม่ใช้คำว่า พินัยกรรม ทั้งเอกสารก็ไม่มีข้อความที่มุ่งแสดงไปในทางอื่นเช่น ตั้งใจยกทรัพย์ให้ตั้งแต่เจ้ามรดกมีชีวิตอยู่ ข้อความในเอกสารจึงแสดงเจตนาของเจ้ามรดกไปในทางเดียวว่า ให้ยกทรัพย์ให้แก่ผู้มีชื่อตามเอกสารเมื่อเจ้ามรดกตายแล้วเอกสารดังกล่าวจึงเข้าลักษณะพินัยกรรมตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของนายพูล วรอินทร์ผู้วายชนม์ ตามสำเนาพินัยกรรมท้ายฟ้อง จำเลยที่ 1 เป็นภริยานายพูล ย่อมได้รับส่วนแบ่งสินสมรส 1 ใน 3 เหลือสินสมรสของนายพูล เป็นมรดกได้แก่โจทก์ 2 ใน 3 ส่วน จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิได้รับมรดกเลย แต่ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 2 มีส่วนได้รับมรดกด้วยบางส่วนโจทก์บอกให้จำเลยทั้งสองส่งมอบทรัพย์ ส่วนได้ของโจทก์ตามพินัยกรรมจำเลยไม่ยอม ขอให้ศาลพิพากษาให้ขายทอดตลาดสินสมรสตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้อง ได้เงินแบ่งให้จำเลย 1 ส่วน อีก 2 ส่วนให้ได้แก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การสู้คดีหลายประการ

ถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ให้งดสืบพยานทั้งสองฝ่าย เห็นว่าเอกสารหมาย จ.1 ไม่มีข้อความเป็นการแสดงเจตนากำหนดเผื่อตายของนายพูล ไม่มีลักษณะเป็นพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 และ 1647 พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เอกสารหมาย จ.1 แสดงชัดว่าเจ้ามรดกเจตนายกทรัพย์ให้โจทก์เมื่อเจ้ามรดกตาย จึงเป็นพินัยกรรมตามมาตรา 1646,1647 ซึ่งเจ้ามรดกทำขึ้นเองทั้งฉบับตามมาตรา 1657 พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาประเด็นข้ออื่น แล้วพิพากษาใหม่

จำเลยที่ 2 ฎีกา

คดีได้ความว่า พินัยกรรมมีข้อความว่า

“เขียนที่กรุงเทพฯ

30 กันยายน 2505

ขอทำพินัยกรรมทรัพย์สินของนายพูล วรอินทร์ ให้แก่นายต่ายนายไก่ ณะ บางช้าง ครึ่งหนึ่งส่วนของนายพูล วรอินทร์

พูล วรอินทร์

30 กันยายน 2505”

ศาลฎีกาเห็นว่า โดยรูปแห่งเอกสารนี้ แสดงให้เห็นเจตนาของนายพูลว่าตั้งใจทำพินัยกรรมยกทรัพย์สมบัติส่วนของนายพูลครึ่งหนึ่งให้แก่นายต่าย นายไก่ ณ บางช้าง การที่นายพูลใช้คำว่า “ขอทำพินัยกรรม” ตามความเข้าใจของสามัญชนทั่วไปย่อมเข้าใจว่า เจตนาจะยกทรัพย์สมบัติให้เมื่อนายพูลตายแล้ว การยกทรัพย์ให้เมื่อมีชีวิตอยู่ สามัญชนทั่วไปย่อมไม่ใช้คำว่า พินัยกรรมทั้งเอกสารหมายจ.1 นี้ไม่มีข้อความที่มุ่งแสดงไปในทางอื่น เช่น ตั้งใจยกทรัพย์ให้ตั้งแต่นายพูลยังมีชีวิตอยู่ ข้อความในเอกสารหมาย จ.1 นี้ แสดงเจตนาของนายพูลไปในทางเดียวว่า ให้ยกทรัพย์สมบัติให้แก่นายต่าย นายไก่ เมื่อตายแล้ว อันเป็นการกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนไว้ เอกสารหมาย จ.1 จึงเข้าลักษณะพินัยกรรมตามกฎหมาย

พิพากษายืน

Share