คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7007/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยกระทำความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วย ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร ฐานข่มขืนกระทำชำเราและฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยเด็กหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตามต่อผู้เสียหายต่างคนกัน ความผิดฐานดังกล่าวมีเจตนาในการกระทำความผิดเป็นคนละเจตนาแตกต่างกันและเป็นความผิดต่างฐานกัน แม้ความผิดบางฐานจำเลยได้กระทำต่อผู้เสียหายแต่ละคนในคราวเดียวกันการกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
การนับโทษต่อจากโทษในคดีอื่นได้ไม่เกิน 50 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 91 (3) นั้น ต้องเป็นกรณีที่จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมและถูกฟ้องเป็นคดีเดียวกัน หรือในกรณีที่จำเลยถูกฟ้องหลายคดี แต่ละคดีเป็นคดีที่เกี่ยวพันกันและศาลได้มีคำสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน ซึ่งคดีที่เกี่ยวพันกันนั้นโจทก์ควรจะฟ้องจำเลยเป็นคดีเดียวกันหรือควรจะมีการรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน แต่โจทก์กลับแยกฟ้องเป็นหลายคดีและไม่มีการรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน แต่สำหรับคดีทั้งสามสำนวนนี้จำเลยกระทำความผิดต่อผู้เสียหายต่างคนกัน คดีแต่ละสำนวนไม่เกี่ยวพันกันและไม่อาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ แม้จะรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันก็เป็นเพราะจำเลยเป็นบุคคลเดียวกันและพยานหลักฐานชุดเดียวกันอันเป็นการสะดวกในการพิจารณาพิพากษาคดีเท่านั้น ดังนั้น ศาลย่อมนับโทษจำคุกจำเลยติดต่อกันอันทำให้จำเลยต้องโทษจำคุกทุกคดีเกิน 50 ปี ได้ หาอยู่ในบังคับของ ป.อ. มาตรา 91 (3) ไม่

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2547 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง วันที่ 30 ตุลาคม 2547 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง ระหว่างวันที่ 6 พฤศจิกายน 2547 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2547 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง และระหว่างวันที่ 9 พฤศจิกายน 2547 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2547 เวลากลางวัน จำเลยพรากนางสาว ร. ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจาก พ. ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นยายผู้ปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 เพื่อการอนาจารโดยผู้เสียหายที่ 1 ไม่เต็มใจไปด้วย แล้วจำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลยจำนวน 1 ครั้ง โดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ ให้ผู้เสียหายที่ 1 เกิดความกลัวและใช้กำลังประทุษร้ายดึงตัวและบังคับผู้เสียหายที่ 1 ไม่ให้หนีและขัดขืน โดยผู้เสียหายที่ 1 อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 276, 318
สำนวนที่สองโจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 16 ตุลาคม 2547 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 17 ตุลาคม 2547 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงต่อเนื่องกัน วันที่ 20 ตุลาคม 2547 เวลากลางคืนหลังเที่ยง วันที่ 25 ตุลาคม 2547 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม 2547 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2547 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง และระหว่างวันที่ 6 พฤศจิกายน 2547 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2547 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยโดยปราศจากเหตุอันสมควรได้พรากเด็กหญิง พ. ผู้เสียหายที่ 1 อายุไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจาก ส. ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นยายผู้ปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 เพื่อการอนาจาร แล้วจำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งมิใช่ภริยาของตนและมีอายุ 12 ปี 4 เดือนเศษ จำนวน 1 ครั้ง โดยเด็กหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม และเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2547 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยโดยปราศจากเหตุอันสมควรได้พรากผู้เสียหายที่ 1 อายุไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นยายผู้ปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 เพื่อการอนาจาร ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 317
สำนวนที่สามโจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 4 พฤศจิกายน 2547 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง ถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2547 เวลากลางวัน และระหว่างวันที่ 6 พฤศจิกายน 2547 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2547 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยโดยปราศจากเหตุอันสมควรได้พรากเด็กหญิง ส. ผู้เสียหายที่ 1 อายุไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจาก ว. ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาและผู้ปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 เพื่อการอนาจาร แล้วจำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลย จำนวน 2 ครั้ง และ 1 ครั้ง ตามลำดับ โดยผู้เสียหายที่ 1 ไม่ยินยอม ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 317 และนับโทษจำเลยทั้งสามสำนวนติดต่อกัน
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า สำนวนแรกจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 (ที่ถูก มาตรา 276 วรรคแรก), 318 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วย จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 12 ปี ฐานข่มขืนกระทำชำเรา จำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 16 ปี รวมจำคุก 28 ปี
สำนวนที่สอง จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 6 กระทง เป็นจำคุก 30 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี โดยเด็กหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม จำคุกกระทงละ 7 ปี รวม 5 กระทง เป็นจำคุก 35 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน และทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร จำคุก 20 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยเด็กหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม จำคุก 23 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 43 ปี 4 เดือน
สำนวนที่สาม จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 10 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม จำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 8 ปี รวมจำคุก 18 ปี นับโทษจำเลยทั้งสามสำนวนติดต่อกัน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้ลงโทษแต่ละสำนวนจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง โจทก์ไม่ได้นำเด็กหญิง ภ. มาเบิกความเป็นพยาน และคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยรับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้นั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยมานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ คงมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า การกระทำความผิดของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือไม่ เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วย ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร ฐานข่มขืนกระทำชำเราและฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยเด็กหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตามต่อผู้เสียหายต่างคนกัน ความผิดฐานดังกล่าวมีเจตนาในการกระทำความผิดเป็นคนละเจตนาแตกต่างกันและเป็นความผิดต่างฐานกัน แม้ความผิดบางฐานจำเลยได้กระทำต่อผู้เสียหายแต่ละคนในคราวเดียวกัน การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า จำเลยต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) หรือไม่ เห็นว่า การนับโทษต่อจากโทษในคดีอื่นได้ไม่เกิน 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) นั้น ต้องเป็นกรณีที่จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมและถูกฟ้องเป็นคดีเดียวกัน หรือในกรณีที่จำเลยถูกฟ้องหลายคดี แต่ละคดีเป็นคดีที่เกี่ยวพันกันและศาลได้มีคำสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน ซึ่งคดีที่เกี่ยวพันกันนั้นโจทก์ควรจะฟ้องจำเลยเป็นคดีเดียวกัน หรือควรจะมีการรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน แต่โจทก์กลับแยกฟ้องเป็นหลายคดี และไม่มีการรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน แต่สำหรับคดีทั้งสามสำนวนนี้จำเลยกระทำความผิดต่อผู้เสียหายต่างคนกัน คดีแต่ละสำนวนไม่เกี่ยวพันกันและไม่อาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ แม้จะรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันก็เป็นเพราะจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกันและพยานหลักฐานชุดเดียวกันอันเป็นสะดวกในการพิจารณาพิพากษาคดีเท่านั้น ดังนั้นศาลย่อมนับโทษจำคุกจำเลยติดต่อกันอันทำให้จำเลยต้องโทษจำคุกทุกคดีเกิน 50 ปีได้ หาอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ดังที่จำเลยฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน.

Share