คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดิน ขอให้ศาลสั่งแสดงว่าเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองไม่ใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์ เท่ากับอ้างว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองหรืออีกนัยหนึ่งที่ดินเป็นของโจทก์ เมื่อจำเลยให้การว่าที่ดินไม่ใช่ของโจทก์เพราะเป็นที่ดินสาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ที่ดินดังกล่าวไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน ดังนั้น โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบ ให้ได้ความว่าที่ดินเป็นของโจทก์ และโดยที่จำเลยเป็นเจ้าพนักงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แม้โจทก์ได้ครอบครองที่ดินอยู่ก็ไม่ได้ประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1369 เพราะโจทก์จะยกเอาการครอบครองขึ้นยันต่อรัฐได้ต่อเมื่อโจทก์ได้สิทธิครอบครองมาโดยชอบตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด และกฎหมายบัญญัติรับรองคุ้มครองสิทธิครอบครองนั้นไว้ด้วย โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ว่าที่ดินเป็นของโจทก์ ไม่ใช่ที่ดินสาธารณะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินตั้งอยู่ที่บ้านหนองสะโน หมู่ที่ 7 ตำบลท่าช้าง อำเภอวารินชำราบจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ประมาณ 15 ไร่มีอาณาเขตติดต่อตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง ที่ดินแปลงดังกล่าวโจทก์รับมรดกมาจากบิดามารดาและครอบครองสืบสิทธิติดต่อกันมาเป็นเวลาประมาณ 60 ปีแล้ว โดยโจทก์ได้เข้าครอบครองตั้งแต่ปี 2508 ต่อมาทางราชการได้ออกใบ ภ.บ.ท5 สำหรับที่ดินให้แก่โจทก์ไว้เป็นหลักฐานและโจทก์ได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมาต่อมาอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานีได้มีประกาศลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2533 ให้ประชาชนขอจับจองที่ดิน โจทก์ได้ไปยื่นเรื่องราวขอจับจองที่ดินดังกล่าวหลังจากที่เจ้าหน้าที่รังวัดสำนักงานที่ดินอำเภอวารินชำราบได้ทำการรังวัดที่ดินที่โจทก์ได้ขอจับจองไว้แล้ว ได้มีชาวบ้านไปร้องเรียนต่อนายอำเภอวารินชำราบ ต่อมาวันที่2 กุมภาพันธ์ 2534 อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานีได้นำเสาไม้มาปักลงในที่ดินที่โจทก์ได้ขอจับจองไว้และมีป้ายเขียนไว้ว่า “ที่สาธารณประโยชน์ห้ามบุกรุก” การกระทำดังกล่าวของทางราชการอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานีทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะไม่สามารถที่จะได้รับใบจับจองที่ดินดังกล่าวได้ จึงขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินตามฟ้องเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองไม่ใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์ ให้จำเลยรื้อถอนป้ายที่ได้นำมาปักลงไว้ในที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองและให้จำเลยออกใบจองที่ดินดังกล่าวตามฟ้องให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ที่ดินตามฟ้องไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ที่โจทก์จะมีสิทธิครอบครอง เพราะที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณะที่ประชาชนหมู่ที่ 6 และ 7ตำบลท่าช้าง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยใช้เป็นที่เผาและฝังศพ และทางราชการได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณะไว้เป็นหลักฐานตั้งแต่ปี 2496ดังนั้น แม้โจทก์จะบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์นานเท่าใด โจทก์ก็ไม่อาจอ้างสิทธิในที่ดินแปลงดังกล่าวได้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีนี้ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลยเนื่องจากโจทก์ฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท จำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นป่าช้าสาธารณะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยที่ที่ดินพิพาทไม่มีเอกสารสิทธิซึ่งโจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทดังนั้น โจทก์จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายเป็นคุณแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1367, 1369 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 84(2) เมื่อจำเลยสืบไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน โจทก์จึงมีสิทธิครอบครองในที่พิพาท พิเคราะห์แล้วคดีนี้โจทก์อ้างว่าโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทโจทก์จึงมีสิทธิครอบครอง ขอให้ศาลสั่งแสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครอง ไม่ใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ที่โจทก์จะมีสิทธิครอบครอง เพราะที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน แม้โจทก์จะเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์นานเท่าใดก็ไม่อาจอ้างสิทธิในที่ดินแปลงดังกล่าวได้ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ที่อ้างว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทและขอให้ศาลสั่งแสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองไม่ใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์ คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงเท่ากับอ้างว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทหรืออีกนัยหนึ่งที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ เมื่อจำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่เป็นที่ดินของโจทก์ที่โจทก์จะมีสิทธิครอบครอง เพราะเป็นที่ดินสาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และที่พิพาทเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน ดังนั้นโจทก์จึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องนำสืบให้ได้ความว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ และโดยที่จำเลยเป็นเจ้าพนักงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แม้จะปรากฎว่าโจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ก็ไม่ได้ประโยชน์จากข้อสันนิษฐานเพราะโจทก์จะยกเอาการครอบครองขึ้นยันต่อรัฐได้ต่อเมื่อโจทก์ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทมาโดยชอบตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด และกฎหมายบัญญัติรับรองคุ้มครองสิทธิครอบครองนั้นไว้ด้วย ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มีภาระการพิสูจน์ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ไม่ใช่ที่ดินสาธารณะจึงชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share