แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คดีที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งก่อนวันเปิดทำการของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษให้ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลฎีกา และให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มาใช้บังคับในการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกา” คดีนี้ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2560 เป็นระยะเวลาภายหลังจากกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับ และภายหลังจากศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเปิดทำการแล้ว (เปิดทำการ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2559) เมื่อโจทก์ร่วมยื่นฎีกา ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 เกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาใช้บังคับตาม มาตรา 182/1 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) บัญญัติว่า “การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่ในกรณีที่เป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งกำหนดวิธีการสำหรับเด็กหรือเยาวชน ตามมาตรา 180 ต้องห้ามมิให้ฎีกา” เช่นนี้หลักเกณฑ์ในการฎีกาคำพิพากษาเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงแตกต่างไปจาก มาตรา 183 (เดิม) ซึ่งหากคู่ความฎีกาคำพิพากษาเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน แม้จะเป็นกรณีที่ศาลกำหนดให้ส่งฝึกและอบรมเกินกว่า 3 ปี ตามมาตรา 180 ก็ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 182/1 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ฎีกาของโจทก์ร่วมที่เกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 83, 91, 288 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และริบกระสุนปืนของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นางสาวรภัสสา มารดาของนายปฏิภาณ ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะความผิดฐานฆ่าผู้อื่น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 288, 80, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฐานร่วมกันพยายามฆ่าและร่วมกันฆ่าผู้อื่นเป็นความผิดกรรมเดียว วางโทษจำคุกตลอดชีวิต ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ (ที่ถูก 16 ปีเศษ) เปลี่ยนโทษและลดมาตราส่วนโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 ประกอบ 75 คงเหลือจำคุก 25 ปี จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 12 ปี 6 เดือน ฐานร่วมกันมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้าน จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกฐานร่วมกันมีอาวุธปืนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต 3 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนฯ ไปในเมืองหมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร จำคุก 3 เดือน รวมจำคุก 12 ปี 12 เดือน พิเคราะห์พฤติกรรมและรายงานสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานครแล้ว เห็นสมควรส่งจำเลยไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานครเป็นเวลาขั้นต่ำ 4 ปี ขั้นสูง 5 ปี หากจำเลยไม่ได้รับการฝึกอบรมหรือฝึกอบรมไม่พอแก่คำพิพากษา เนื่องจากจำเลยมีอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์ แล้วให้ส่งตัวจำเลยไปจำคุกที่เรือนจำเป็นเวลา 5 ปี ริบกระสุนปืนของกลาง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 16 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ประกอบมาตรา 53 (ที่ถูกประกอบ มาตรา 18 วรรคสาม) ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นและฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 25 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 3 เดือน และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 3 เดือน รวม 3 กระทง จำคุก 25 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 12 ปี 9 เดือน ส่วนการเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมและนอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ร่วมฎีกาว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุใกล้เป็นผู้ใหญ่ อาวุธปืนที่ใช้ในกระทำความผิดเป็นอาวุธสงคราม พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมขั้นต่ำ 4 ปี ขั้นสูง 5 ปี ยังไม่เหมาะสม ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่ใช้วิธีการสำหรับเด็ก นั้น เป็นการฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ซึ่งตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 183 (เดิม) บัญญัติว่า “คดีที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่ง ให้ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลฎีกาได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่กรณีที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 180” และ มาตรา 180 (เดิม) บัญญัติว่า “คดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งแล้ว ให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่ ในกรณีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการสำหรับเด็กหรือเยาวชนอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ … (2) กำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กหรือเยาวชน ตามมาตรา 142 เว้นแต่ ในกรณีที่…ส่งตัวเด็กและเยาวชนไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมมีกำหนดระยะเวลาเกินกว่า 3 ปี” ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าว หากเป็นกรณีที่ศาลใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรม มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่า 3 ปี คู่ความมีสิทธิที่จะอุทธรณ์และฎีกาคำพิพากษาเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนได้ ต่อมา มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 มีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558 โดยบทบัญญัติ มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คดีที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งก่อนวันเปิดทำการของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษให้ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลฎีกา และให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มาใช้บังคับในการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกา” คดีนี้ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2560 เป็นระยะเวลาภายหลังจากกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับ และภายหลังจากศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเปิดทำการแล้ว (เปิดทำการ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2559) เมื่อโจทก์ร่วมยื่นฎีกา ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 ซึ่งเป็นฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนดังกล่าวแล้วข้างต้น จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 (ที่แก้ไขใหม่) มาใช้บังคับ ซึ่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมีเหตุผลในการประกาศใช้ไว้ว่า “…โดยที่ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยให้คดีแพ่งที่ขึ้นสู่ศาลฎีกาจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาแต่ระบบการอุทธรณ์และฎีกาคดีเยาวชนและครอบครัวในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวประกอบกับได้มีการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษขึ้นเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีชำนัญพิเศษต่าง ๆ สมควรแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกาคดีเยาวชนและครอบครัวให้มีความสอดคล้องเป็นระบบเดียวกัน รวมทั้งแก้ไขวิธีพิจารณาที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ ” ฉะนั้น สำหรับการกำหนดวิธีการสำหรับเด็กซึ่งเป็นวิธีพิจารณาที่เกี่ยวข้องในทางอาญานั้น พระราชบัญญัตินี้ก็ได้แก้ไขให้ถึงที่สุดในชั้นศาลอุทธรณ์ ตามมาตรา 182/1 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) บัญญัติว่า “การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่ในกรณีที่เป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งกำหนดวิธีการสำหรับเด็กหรือเยาวชน ตามมาตรา 180 ต้องห้ามมิให้ฎีกา” เช่นนี้หลักเกณฑ์ในการฎีกาคำพิพากษาเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงแตกต่างไปจาก มาตรา 183 (เดิม) ซึ่งหากคู่ความฎีกาคำพิพากษาเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน แม้จะเป็นกรณีที่ศาลกำหนดให้ส่งฝึกและอบรมเกินกว่า 3 ปี ตามมาตรา 180 ก็ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 182/1 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ฎีกาของโจทก์ร่วมที่เกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ร่วมมานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาของโจทก์ร่วม