คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6591/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุ โจทก์ขับรถยนต์กลับรถในระยะหนึ่งร้อยเมตรจากทางราบของเชิงสะพาน และเป็นบริเวณที่มีสัญญาณจราจรบนทางห้ามรถทั้งสองฝั่งขับรถคร่อมเส้น ห้ามแซง ห้ามกลับรถและห้ามเลี้ยวขวาโดยเด็ดขาด จำเลยที่ 1 ขับรถตามหลังโจทก์มีระยะห่างจากรถยนต์ของโจทก์มากพอสมควร หากโจทก์ไม่เลี้ยวกลับรถฝ่าฝืนกฎหมายและสัญญาณจราจร ทั้งมิได้ให้สัญญาณเปิดไฟเลี้ยวขวา รถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับย่อมไม่เฉี่ยวชนกับรถยนต์ของโจทก์ การที่รถยนต์จำเลยที่ 1 เฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์เป็นผลโดยตรงอันเกิดจากการขับรถยนต์ฝ่าฝืนกฎหมายของโจทก์ ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยของจำเลยที่ 1 ที่จะหยุดรถได้ทัน เหตุละเมิดเกิดขึ้นจากความประมาทของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ตามคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยืนยันข้อเท็จจริงแต่เพียงว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์เลี้ยวรถกลับบริเวณที่เกิดเหตุไปด้านตรงข้ามอย่างกะทันหัน จนจำเลยที่ 1 ไม่สามารถหยุดหรือหักหลบได้ทัน เป็นเหตุให้รถยนต์ของจำเลยที่ 1 พุ่งชนรถยนต์ของโจทก์ อันเกิดจากความประมาทของโจทก์ ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยกขึ้นกล่าวอ้างในฎีกาถือไม่ได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 เป็นข้อฎีกาที่มิชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับขณะโจทก์ฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนรวมเป็นเงิน 4,914,600.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกเสียจากสารบบความ
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 2,467,963.06 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 มีนาคม 2555) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 แต่ต้องไม่เกิน 250,000 บาท ตามที่จำเลยที่ 4 รับประกันภัยไว้ กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก (ที่ถูก ไม่มีคำขออื่นที่ยก)
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 2,367,963.06 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 มีนาคม 2555) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่โจทก์เสียเกินมาในศาลชั้นต้น 7,414 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 โดยโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านรับฟังได้เบื้องต้นว่า จำเลยที่ 3 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และเป็นเจ้าของรถยนต์ หมายเลขทะเบียน บว 4444 นครศรีธรรมราช ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 4 ในประเภทคุ้มครองเฉพาะภัย ในวันเกิดเหตุ เวลา 17.20 นาฬิกา โจทก์ขับรถยนต์ หมายเลขทะเบียน กต 6742 นครศรีธรรมราช ไปตามถนนสายจันดี – นครศรีธรรมราช จากตำบลจันดีมุ่งหน้าไปทางจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อถึงที่เกิดเหตุบริเวณร้านอาหารเรือนผักกูด รถยนต์คันที่โจทก์ขับเกิดเหตุเฉี่ยวชนกับรถยนต์ หมายเลขทะเบียน บว 4444 นครศรีธรรมราช คันที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ คดีในส่วนของจำเลยที่ 4 เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเนื่องจากไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ประเด็นที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุ โจทก์ขับรถยนต์กลับรถในระยะหนึ่งร้อยเมตรจากทางราบของเชิงสะพาน และเป็นบริเวณที่มีสัญญาณจราจรบนทางห้ามรถทั้งสองฝั่งขับรถคร่อมเส้น ห้ามแซง ห้ามกลับรถและห้ามเลี้ยวขวาโดยเด็ดขาด ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถตามหลังโจทก์มีระยะห่างจากรถยนต์ของโจทก์มากพอสมควร หากโจทก์ไม่เลี้ยวกลับรถฝ่าฝืนกฎหมายและสัญญาณจราจร ทั้งมิได้ให้สัญญาณเปิดไฟเลี้ยวขวา รถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับย่อมไม่เฉี่ยวชนกับรถยนต์ของโจทก์ การที่รถยนต์จำเลยที่ 1 เฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์เป็นผลโดยตรงอันเกิดจากการขับรถยนต์ฝ่าฝืนกฎหมายของโจทก์ ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยของจำเลยที่ 1 ที่จะหยุดรถได้ทัน เหตุละเมิดเกิดขึ้นจากความประมาทของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ตามคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยืนยันข้อเท็จจริงแต่เพียงว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์เลี้ยวรถกลับบริเวณที่เกิดเหตุไปด้านตรงข้ามอย่างกะทันหัน จนจำเลยที่ 1 ไม่สามารถหยุดหรือหักหลบได้ทัน เป็นเหตุให้รถยนต์ของจำเลยที่ 1 พุ่งชนรถยนต์ของโจทก์ อันเกิดจากความประมาทของโจทก์ ด้วยเหตุนี้เอง ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยกขึ้นกล่าวอ้างในฎีกาจึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 เป็นข้อฎีกาที่มิชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับขณะโจทก์ฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ประเด็นตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดตามคำฟ้อง จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาว่า ตามพฤติการณ์แสดงว่าโจทก์เป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพียงหนึ่งในสี่ส่วนเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 591,990.76 บาท แต่เมื่อข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าจำเลยที่ 1 หรือไม่ ไม่อาจยกขึ้นวินิจฉัย ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการละเมิดเป็นเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1 แต่ฝ่ายเดียว โจทก์จึงมิใช่เป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าจำเลยที่ 1 อันจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดแก่โจทก์เพียงหนึ่งในสี่ส่วนเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 591,990.76 บาท ดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 กล่าวอ้างในฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาว่า ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์มีจำนวน 2,467,963.06 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดชำระแก่โจทก์ ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 49,359 บาท แต่จำเลยที่ 1 เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 49,359 บาท และจำเลยที่ 3 เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 49,359 บาท รวมเป็นเงิน 98,718 บาท แต่เนื่องจากคดีนี้จำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นจำเลยร่วมในคดีที่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ เป็นการชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เกินมาจำนวน 49,359 บาท เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 วรรคห้า ในกรณีที่บุคคลซึ่งเป็นคู่ความร่วมในคดีที่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ต่างยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาแยกกัน โดยต่างได้เสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาตามความในวรรคสอง หากค่าขึ้นศาลดังกล่าวเมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนสูงกว่าค่าขึ้นศาลที่คู่ความเหล่านั้นต้องชำระในกรณีที่ยื่นอุทธรณ์หรือฎีการ่วมกัน ให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี มีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่คู่ความเหล่านั้นตามส่วนของค่าขึ้นศาลที่คู่ความแต่ละคนได้ชำระไปในเวลาที่ศาลนั้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ในฐานะลูกจ้างและจำเลยที่ 3 ในฐานะนายจ้างร่วมกันชำระเงิน 2,467,963.06 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อันเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นคู่ความร่วมในคดีที่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ต่างยื่นอุทธรณ์แยกกันขอให้ไม่ต้องร่วมกันรับผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งมีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทเป็นเงินจำนวน 2,467,963.06 บาท โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ต่างได้เสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์คนละ 49,359 บาท เมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนสูงกว่าค่าขึ้นศาลที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ต้องชำระในกรณีที่ยื่นอุทธรณ์ร่วมกัน ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามส่วนของค่าขึ้นศาลที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 แต่ละคนได้ชำระไป แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มิได้สั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ฎีกาในประเด็นนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ตามส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ชำระเกินแก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share