คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6993/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ล. ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ต่อมาจำเลยยื่นฟ้องส. กับโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่ ส. และบริวารออกจากที่ดินพิพาทและห้าม ส. และโจทก์เข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท โดยอ้างสิทธิในฐานะที่จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามคำสั่งศาลโดยการครอบครองปรปักษ์ ซึ่งในคดีดังกล่าวศาลพิพากษาให้จำเลยชนะคดีเพราะโจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาโดยไม่มีการวินิจฉัยในประเด็นว่า ระหว่างจำเลยกับ ล. ผู้ใดเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท คดีนี้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ล. ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของ ล. ไม่ใช่เป็นของจำเลย ประเด็นข้อพิพาทคดีนี้จึงแตกต่างจากคดีก่อนฟ้องของโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำ
ทนายจำเลยขอเลื่อนคดีหลายครั้งทั้งที่ทราบคำกำชับของศาลแล้วพฤติการณ์แห่งคดีแสดงว่าจำเลยมิได้ให้ความสนใจและความสำคัญต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลและตามคำร้องขอเลื่อนคดีและใบรับรองแพทย์ท้ายคำร้องอ้างเหตุเพียงว่าจำเลยเดินทางไกลไม่ได้เท่านั้น มิได้มีปรากฏเหตุผลว่าเป็นความเจ็บป่วยจนถึงไม่สามารถมาศาลได้อย่างแท้จริงหรือไม่สามารถเบิกความได้ทั้งจำเลยก็มิได้แสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลชั้นต้นว่าหากไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีแล้วจะทำให้เสียความยุติธรรม พฤติการณ์ของจำเลยแสดงว่ามีเจตนาหน่วงเหนี่ยวให้คดีล่าช้าโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ชอบที่ศาลชั้นต้นจะไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้พิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1865ตำบลอนุสาวรีย์ (กูบแดง) อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 2 ไร่3 งาน 26 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของนางลมัย โสมนะพันธ์ ให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นคดีหมายเลขแดงที่ 23115/2531 และเพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 1865 ตำบลอนุสาวรีย์ (กูบแดง) อำเภอบางเขนกรุงเทพมหานคร และให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์เดือนละ 20,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 1865 ตำบลอนุสาวรีย์(กูบแดง) อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร เป็นกรรมสิทธิ์ของนางลมัยโสมนะพันธ์ คำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 23115/2531ไม่ผูกพันและไม่อาจใช้ยันโจทก์ได้ ให้เพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าว ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ20,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าคดีจะถึงที่สุด คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ระหว่างพิจารณา จำเลยถึงแก่กรรม พันจ่าอากาศเอกยงยุทธ มณีอินทร์และนางสาวพิมพ์ใจ มณีอินทร์ ทายาทและผู้จัดการมรดกของจำเลยยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์อนุญาต

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าคดีจะถึงที่สุดนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่านางลมัย โสมนะพันธ์ เป็นบุตรพระยาธรรมเสนากับคุณหญิงแก้ว โจทก์เป็นบุตรนางลมัยกับนายเพ็ง โสมนะพันธ์ และเป็นผู้จัดการมรดกของนางลมัยโดยคำสั่งศาล นางลมัยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1865 ตำบลอนุสาวรีย์ (กูบแดง) อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานครเนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 26 ตารางวา ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า ฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 17174/2533ของศาลชั้นต้นหรือไม่ คำสั่งศาลจังหวัดสระบุรีที่ไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนการพิจารณาคดีโดยถือว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบชอบหรือไม่ และที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนางลมัยหรือของจำเลย ในปัญหาแรกเห็นว่า จำเลยยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามคดีหมายเลขแดงที่ 23115/2531 ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2533 จำเลยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางสุดใจ เอี่ยมทัศน์ เป็นจำเลยที่ 1 และโจทก์เป็นจำเลยที่ 2 ขอให้ศาลมีคำสั่งว่า จำเลยเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามคำสั่งศาล ให้ขับไล่นางสุดใจและบริวารออกจากที่ดินพิพาทห้ามนางสุดใจ และโจทก์เข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทตามคดีหมายเลขแดงที่ 17174/2533 ในคดีดังกล่าวโจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลพิพากษาให้จำเลยชนะคดี โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ และโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางลมัยฟ้องคดีนี้ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนางลมัย จำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย เห็นว่า ประเด็นข้อพิพาทในคดีหมายเลขแดงที่ 17174/2533 เป็นเรื่องที่จำเลยขอให้ศาลพิพากษาขับไล่นางสุดใจและบริวารออกจากที่ดินพิพาทและห้ามนางสุดใจและโจทก์เข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท โดยอ้างสิทธิในฐานะที่จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามคำสั่งศาลโดยการครอบครองปรปักษ์และศาลพิพากษาให้จำเลยชนะคดีเพราะโจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาโดยไม่มีการวินิจฉัยในประเด็นว่าระหว่างจำเลยกับนางลมัย ผู้ใดเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท เนื่องจากคดีก่อนโจทก์ยังมิได้เข้าไปโต้แย้งเรื่องที่จำเลยอ้างว่ามีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนางลมัยไม่ใช่เป็นของจำเลย ประเด็นข้อพิพาทคดีนี้จึงแตกต่างจากคดีก่อน และขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ ได้ความว่าคดีหมายเลขแดงที่ 17174/2533 ยังไม่ถึงที่สุด โดยอยู่ระหว่างที่โจทก์ยื่นคำขอต่อศาลให้มีการพิจารณาใหม่ แม้ภายหลังศาลฎีกาพิพากษายกคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของโจทก์ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 484/2538 ท้ายฎีกาของจำเลยฟ้องของโจทก์ก็ไม่เป็นฟ้องซ้ำตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ดังที่จำเลยฎีกา ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5240/2541 ระหว่างนางพยูร เรืองงาม โจทก์กับนางอังคณาพูลสุวรรณ กับพวก จำเลย

สำหรับปัญหาว่าคำสั่งศาลจังหวัดสระบุรีที่ไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนการพิจารณาคดีตามคำขอของจำเลยโดยถือว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบชอบหรือไม่นั้นเห็นว่าคู่ความจะร้องขอเลื่อนคดีติดต่อกันได้ ต้องเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 40 วรรคแรก และการอนุญาตให้เลื่อนคดีหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาลพฤติการณ์แห่งคดีได้ความว่าศาลชั้นต้นส่งประเด็นไปสืบพยานจำเลยคือตัวจำเลยที่ศาลจังหวัดสระบุรีนัดแรกวันที่ 8 มิถุนายน 2535 เวลา 10 นาฬิกาถึงวันนัดทนายจำเลยแถลงขอเลื่อนการสืบพยานจำเลยไปโดยอ้างว่าศาลชั้นต้นไม่ได้ส่งสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 17174/2533 และสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 23115/2531 ของศาลชั้นต้นมาด้วย ซึ่งคดีหมายเลขแดงทั้งสองเรื่องดังกล่าวโจทก์ระบุรายละเอียดต่าง ๆ ในคำฟ้องไว้อย่างชัดแจ้งและจำเลยให้การรับในรายละเอียดของคดีถูกต้องตรงกันอยู่แล้วจึงไม่น่าที่ทนายจำเลยจะขอเลื่อนคดีเพราะเหตุดังกล่าวเท่านั้นโดยเพียงแต่อ้างว่าจำเป็นต้องอ้างเอกสารในสำนวน แต่ก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นเอกสารฉบับใด และมีความจำเป็นสำคัญอย่างใด ซึ่งศาลจังหวัดสระบุรีให้เลื่อนไปสืบพยานประเด็นจำเลยเป็นนัดที่สองในวันที่ 17 กรกฎาคม 2535เวลา 13.30 นาฬิกา ถึงวันนัดทนายจำเลยขอให้ศาลไปเดินเผชิญสืบตัวจำเลยที่โรงพยาบาลมิตรภาพ และสืบตัวจำเลยยังไม่ทันจบปาก ทนายจำเลยขอเลื่อนไปสืบตัวจำเลยต่อวันที่ 5 สิงหาคม 2535 เวลา 13.30นาฬิกา เป็นนัดที่สามถึงวันนัดทนายจำเลยขอเลื่อนคดีอ้างเหตุว่าทนายจำเลยป่วย โจทก์ค้านว่าจำเลยมีเจตนาประวิงคดี ศาลจังหวัดสระบุรีจึงให้เลื่อนไปสืบตัวจำเลยต่อวันที่ 4 กันยายน 2535 เวลา 13.30 นาฬิกาเป็นนัดที่สี่ ถึงวันนัดศาลจังหวัดสระบุรีสืบตัวจำเลยต่อยังไม่ทันเสร็จทนายจำเลยขอเลื่อนไปสืบตัวจำเลยต่อวันที่ 21 กันยายน 2535 เวลา8.30 นาฬิกา โดยอ้างว่าจำเลยมีอาการอ่อนเพลีย ศาลจังหวัดสระบุรีอนุญาตตามคำขอเป็นนัดที่ห้า ถึงวันนัดทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนอ้างเหตุตัวจำเลยป่วย ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลวชิระ และต่อมาได้ย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาที่กรุงเทพมหานคร โจทก์ค้านการขอเลื่อนว่าจำเลยไม่ได้ป่วยจริง ศาลจังหวัดสระบุรีให้เลื่อนไปสืบจำเลยต่อวันที่ 5 ตุลาคม 2535 เวลา 8.30 นาฬิกา เป็นนัดที่หกถึงวันนัดทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนการสืบพยานจำเลยอ้างเหตุว่าจำเลยยังอ่อนเพลียเสียงแหบ และยังรักษาตัวอยู่ที่กรุงเทพมหานครโจทก์ค้านว่าจำเลยมีเจตนาประวิงคดี ศาลจังหวัดสระบุรีให้เลื่อนไปสืบตัวจำเลยต่อวันที่ 27 ตุลาคม 2535 เวลา 8.30 นาฬิกา เป็นนัดที่เจ็ดและกำชับว่าในนัดหน้าจะไม่ให้จำเลยเลื่อนคดีอีก ถึงวันนัดทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนการสืบพยานจำเลยอีกโดยอ้างเหตุว่าจำเลยป่วยเป็นโรคเหนื่อยหอบ พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยา กรุงเทพมหานครไม่สามารถเดินทางไกลได้ โจทก์ค้านว่า จำเลยมีเจตนาประวิงคดีโดยมีพฤติการณ์อย่างเดียวกันในการขอเลื่อนและเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลก่อนวันนัดเสมอ ศาลจังหวัดสระบุรีมีคำสั่งว่า ได้ให้โอกาสจำเลยหลายครั้งแม้จำเลยจะป่วยจริงแต่ก็สามารถเบิกความได้ และมีเหตุเชื่อว่าจำเลยมีเจตนาประวิงคดีถือว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบและให้ส่งประเด็นคืนศาลชั้นต้น จึงเห็นได้ว่า คดีนี้จำเลยขอเลื่อนการสืบพยานจำเลยหลายครั้งแต่ก็ยังไม่สามารถสืบตัวจำเลยเพียงปากเดียวได้เสร็จสิ้น โดยจำเลยมีเหตุขอเลื่อนการสืบพยานทุกนัดด้วยเหตุผลทำนองเดียวกันและโจทก์ได้ค้านมาตลอดว่าจำเลยมีเจตนาประวิงคดีจนกระทั่งศาลจังหวัดสระบุรีได้กำชับในนัดที่หกว่าในนัดที่เจ็ดจะไม่ให้จำเลยขอเลื่อนคดีอีก แต่เมื่อถึงวันนัดในนัดที่เจ็ดทนายจำเลยกลับยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีด้วยเหตุผลเดิมทั้ง ๆ ที่ทราบคำกำชับของศาลจังหวัดสระบุรีแล้ว พฤติการณ์แห่งคดีแสดงว่าจำเลยมิได้ให้ความสนใจและความสำคัญต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลจังหวัดสระบุรีเลยแม้แต่น้อย และตามคำร้องขอเลื่อนคดีและใบรับรองแพทย์ท้ายคำร้องดังกล่าวอ้างเหตุเพียงว่าจำเลยเดินทางไกลไม่ได้เท่านั้นมิได้มีปรากฏเหตุผลว่าเป็นความเจ็บป่วยจนถึงกับไม่สามารถมาศาลได้อย่างแท้จริงหรือไม่สามารถเบิกความได้ ทั้งจำเลยอาจขอให้ศาลจังหวัดสระบุรีส่งประเด็นคืนเพื่อนำตัวจำเลยมาสืบพยานจำเลยต่อที่ศาลชั้นต้นในกรุงเทพมหานครก็ย่อมจะกระทำได้ซึ่งเป็นการสะดวกที่จะนำตัวจำเลยมาสืบพยานต่อได้เพื่อมิให้คดีต้องล่าช้า แต่จำเลยกลับเลือกที่จะใช้การขอเลื่อนคดีออกไป ซึ่งไม่แน่นอนว่าตัวจำเลยจะไปเบิกความที่ศาลจังหวัดสระบุรีในนัดต่อไปได้หรือไม่ และจำเลยก็มิได้แสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลจังหวัดสระบุรีว่าหากไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีแล้วจะทำให้เสียความยุติธรรมพฤติการณ์ของจำเลยแสดงว่ามีเจตนาหน่วงเหนี่ยวให้คดีล่าช้าโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ที่ศาลจังหวัดสระบุรีเห็นว่าจำเลยจงใจประวิงคดีและไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีโดยถือว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบในวันนัดจึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว

มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในประการสุดท้ายว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนางลมัย โสมนะพันธ์ หรือของจำเลย โจทก์มีตัวโจทก์นางเอมอร โสมนะพันธ์ นางอัจฉรา พุ่มฉัตร พี่สาวโจทก์ นายวรา สุขกสิกรอาโจทก์ และนายสันติพงษ์ บุญญะจิตร บุตรนายวราซึ่งเป็นเครือญาติเดียวกันเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า พระยาธรรมเสนามีภริยาคนแรกชื่อนางจำปี ต่อมาได้คุณหญิงแก้วเป็นภริยามีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ นางลมัยนางลมัยได้นายเพ็งเป็นสามีมีบุตร 3 คน คือตัวโจทก์และพี่สาวทั้งสองคนนายวราเป็นบุตรนายปุ๊กกับนางเมี้ยน นายปุ๊กเป็นน้องชายพระยาธรรมเสนาพยานโจทก์ดังกล่าวข้างต้นเบิกความสอดคล้องยืนยันตรงกันว่า จำเลยนางเพี้ยนมารดาจำเลยและนางบุญมายายจำเลยไม่ได้เป็นเครือญาติและไม่เคยรู้จักกับบุคคลทั้งสามดังกล่าวมาก่อน ที่ดินพิพาทเดิมเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 1865 เป็นกรรมสิทธิ์ของนายชื้นบิดานายชั้นเอี่ยมทัศน์ เนื้อที่ตามโฉนดทั้งหมด 12 ไร่เศษ ปี 2489 นางลมัยมารดาโจทก์ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากนายชื้น และในปี 2492 นางเมี้ยนมารดานายวราซื้อที่ดินข้างต้นให้แก่นายวรา นายวราได้แบ่งแยกที่ดินออกเป็นแปลงย่อยรวม 26 แปลง และก่อตั้งโรงเรียนการช่างขึ้นบนที่ดินดังกล่าว โดยให้นายชั้นสามีนางสุดใจ เอี่ยมทัศน์ ดูแลโรงเรียน ต่อมาโรงเรียนการช่างเลิกกิจการนายชั้นยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทโดยทำหนังสือขออาศัยให้ไว้แก่นายวราตามเอกสารหมาย จ.4 และนายวราได้ขายที่ดินที่แบ่งแยกให้นางลมัย 1 แปลงในปี 2505 ต่อมาปี 2506 นายวราจึงขายที่ดินพิพาทให้แก่นางลมัยนางลมัยยอมให้นายชั้นอยู่อาศัยต่อมาจนนายชั้นถึงแก่ความตายในปี2524 นางสุดใจอยู่ในที่ดินพิพาทต่อมาปี 2529 นางสุดใจยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ศาลมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนางสุดใจโดยการครอบครองปรปักษ์ปี 2531 โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางลมัยฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนางสุดใจใช้ยันโจทก์ไม่ได้ และฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนางลมัย นางสุดใจอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน นางสุดใจไม่ฎีกา ในปี 2531 จำเลยยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ต่อมาปี 2533 จำเลยฟ้องนางสุดใจเป็นจำเลยที่ 1 และโจทก์เป็นจำเลยที่ 2 ขอให้ขับไล่นางสุดใจและบริวารและห้ามโจทก์เข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท นางสุดใจและโจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาศาลชั้นต้นจึงมีคำพิพากษาตามคำขอของจำเลย โจทก์ขอให้พิจารณาคดีใหม่โดยอ้างว่าไม่จงใจขาดนัด ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดไม่อนุญาตให้โจทก์พิจารณาคดีใหม่ตามคำขอ ก่อนคดีถึงที่สุดโจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้จำเลยไม่เคยเข้ามาอยู่ในที่ดินพิพาทตามสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 จำเลยเบิกความว่า จำเลยเป็นบุตรนายยวงกับนางเพี้ยน นางเพี้ยนเป็นบุตรนางบุญมา ซึ่งเดิมเป็นคนรับใช้ในบ้านของพระยาธรรมเสนา พระยาธรรมเสนาได้เสียกับนางบุญมาจนตั้งครรภ์และเกรงว่าภริยาจะทราบเรื่องจึงให้นางบุญมาออกจากบ้านเมื่อปี 2513นางลมัยไปหามารดาจำเลยที่บ้านขณะนั้นมารดาจำเลยและจำเลยมีฐานะยากจนมาก นางลมัยพูดยกที่ดินพิพาทซึ่งขณะนั้นรกมากให้แก่มารดาจำเลยและบอกว่าหากทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเมื่อใดจะโอนที่ดินพิพาทให้ เพราะพระยาธรรมเสนาสั่งไว้ก่อนถึงแก่ความตาย จำเลยจึงปลูกบ้านกลางที่ดินพิพาทและแบ่งบ้านบางส่วนให้แก่นายชั้นและครอบครัวอยู่อาศัยโดยจ้างนายชั้นทำสวนผักเดือนละ 300 บาท นางลมัยถึงแก่ความตายก่อนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย โดยโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางลมัยปี 2517 จำเลยไปขอให้นายเพ็งบิดาโจทก์โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย แต่นายเพ็งสุขภาพไม่ดีจึงไม่ได้ดำเนินการให้นายเพ็งถึงแก่ความตายปี 2518 ต่อมาปี 2531 จำเลยจึงยื่นคำร้องขอต่อศาลขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท จึงรู้ว่านางสุดใจได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามคำสั่งศาลตั้งแต่ปี 2529 จำเลยจึงฟ้องนางสุดใจและโจทก์เป็นคดีหมายเลขแดงที่ 17174/2533 ของศาลชั้นต้นเห็นว่า พยานบุคคลของโจทก์ล้วนเป็นเครือญาติใกล้ชิดและสืบสายโดยตรงมาจากพระยาธรรมเสนา ย่อมจะต้องรู้เรื่องราวและประวัติเกี่ยวกับบุคคลในวงศ์ตระกูลของตนดีกว่าบุคคลภายนอกที่มิใช่เชื้อสายเดียวกันพยานดังกล่าวเบิกความถึงประวัติความเป็นมาของเครือญาติ และความเป็นมาของที่ดินพิพาทสอดคล้องตรงกัน และเจือสมกับทางนำสืบของจำเลยที่ ยอมรับว่าที่ดินพิพาทเดิมเป็นของนางลมัยมารดาโจทก์แต่อ้างว่ามารดาโจทก์ยกให้เพราะมารดาจำเลยมีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติเดียวกับมารดาโจทก์เพราะมารดาจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน คือพระยาธรรมเสนา แต่ข้ออ้างของจำเลยดังกล่าวคงมีเพียงตัวจำเลยคนเดียวเท่านั้นที่เบิกความลอย ๆ มิได้มีพยานบุคคลหรือพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนให้น่าเชื่อถือ และหากมารดาจำเลยเป็นบุตรพระยาธรรมเสนาที่เกิดจากนางบุญมาจริงโดยนางลมัยมารดาโจทก์ก็ยอมรับดังที่จำเลยเบิกความแล้ว ก็น่าที่เครือญาติใกล้ชิดคนอื่น ๆ เช่นนายวราซึ่งจากพฤติการณ์ที่ปรากฏได้มีการติดต่อใกล้ชิดกับนางลมัยโดยเห็นได้จากการขายที่ดินคืนให้นางลมัยถึงสองครั้งรวมที่ดินพิพาทด้วยน่าจะต้องรู้เห็นหรือเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับมารดาจำเลยบ้างแต่ปรากฏว่าบรรดาเครือญาติของพระยาธรรมเสนาไม่เคยมีใครรู้เรื่องราวหรือรู้จักนางบุญมายายจำเลย นางเพี้ยน มารดาจำเลย หรือตัวจำเลยมาก่อนเลย ส่วนข้ออ้างว่าพระยาธรรมเสนากลัวภริยารู้ว่านางบุญมาตั้งครรภ์จึงให้ออกจากบ้านโดยไม่ปรากฏว่าพระยาธรรมเสนาได้มีการติดต่อหรือจุนเจือค่าใช้จ่ายทั้งที่รู้ว่านางบุญมาตั้งครรภ์ดังกล่าว และจำเลยเพิ่งจะมาพบกับนางลมัยเมื่อปี 2513 จึงเป็นเรื่องที่ผิดวิสัยของบุคคลผู้เป็นบิดาจะพึงกระทำ พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักที่จะเชื่อถือรับฟังว่าจำเลยเกี่ยวข้องเป็นเครือญาติกับพระยาธรรมเสนาดังอ้าง และเมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยและมารดาจำเลยเกี่ยวข้องเป็นเครือญาติใกล้ชิดกับนางลมัยดังกล่าวแล้ว ข้ออ้างของจำเลยที่ว่านางลมัยพูดยกที่ดินพิพาทให้แก่มารดาจำเลยเพราะพระยาธรรมเสนาสั่งไว้ก่อนถึงแก่ความตาย จึงขาดเหตุผลที่จะรับฟัง เมื่อมารดาโจทก์และมารดาจำเลยไม่ได้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันดังวินิจฉัยมาแล้วข้างต้น จึงไม่มีเหตุที่จะยกที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์ที่มีราคาของตนให้แก่ผู้อื่นโดยมิได้มีผลประโยชน์อย่างใดตอบแทนทั้ง ๆ ที่ตนเองก็มีบุตรเป็นทายาทอยู่ถึง 3 คน ทั้งปรากฏว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ที่นางลมัยหาซื้อมามิใช่เป็นทรัพย์สินดั้งเดิมของพระยาธรรมเสนา จึงไม่น่าเชื่อว่าพระยาธรรมเสนาจะมีคำสั่งดังกล่าวไว้ก่อนถึงแก่ความตายเพราะไม่เป็นธรรมแก่นางลมัยซึ่งเป็นบุตรที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว และหากนางลมัยจะยกที่ดินพิพาทให้แก่มารดาจำเลยหรือจำเลยจริงแล้ว นางลมัยก็น่าที่จะไปโอนที่ดินพิพาทให้ได้ทันที ไม่น่าที่จะต้องมีเงื่อนไขให้มารดาจำเลยหรือจำเลยเข้าทำประโยชน์ก่อนโดยไม่ปรากฏเหตุผลพิเศษอย่างอื่นดังอ้าง เพราะเมื่อนางลมัยขายที่ดินรวมทั้งที่ดินพิพาทให้แก่นายวรา นางลมัยได้ไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่นายวราทันที ซึ่งนางลมัยอาจจะกระทำเช่นเดียวกันได้แต่ไม่ปรากฏว่านางลมัยได้กระทำดังกล่าว นอกจากนี้คำเบิกความของจำเลยขัดแย้งกันเอง ไม่อาจรับฟังได้แน่นอนว่านางลมัยมีเจตนายกที่ดินพิพาทให้แก่มารดาจำเลยหรือจำเลยกันแน่ โดยตอนแรกจำเลยเบิกความว่ายกให้แก่มารดาจำเลย แต่ต่อมาจำเลยกลับเบิกความว่า ยกให้แก่จำเลยจำเลยเบิกความรับว่า ขณะนางลมัยพูดยกที่ดินให้ มารดาจำเลยและตัวจำเลยมีฐานะยากจนมาก แต่จำเลยกลับอ้างว่าได้ปลูกบ้านในที่ดินพิพาทและจ้างนายชั้นทำสวนผักเดือนละ 300 บาท คำเบิกความของจำเลยจึงขัดต่อเหตุผลไม่มีน้ำหนักที่จะเชื่อถือรับฟัง กลับได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์ว่า ขณะนายวราเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท นายชั้นเป็นคนดูแลโรงเรียนการช่างที่นายวราก่อตั้งขึ้น และนายชั้นทำหนังสือขออาศัยในที่ดินพิพาทให้ไว้แก่นายวราโดยเหตุผลจึงไม่น่าเชื่อว่าที่ดินพิพาทเป็นที่รกร้างอยู่เดิมและจำเลยเป็นคนปลูกบ้านดังที่จำเลยอ้างแต่น่าเชื่อว่านายชั้นอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทอยู่ก่อนแล้ว บ้านดังกล่าวจึงน่าจะเป็นบ้านของนายชั้นมากกว่า จำเลยมิได้มีพยานหลักฐานอื่นมาแสดงยืนยันประกอบ คงมีแต่คำเบิกความกล่าวอ้างเพียงลอย ๆดังกล่าวซึ่งขัดต่อเหตุผลและผิดวิสัยที่ควรจะเป็น และเมื่อพิจารณาพฤติการณ์แห่งคดีมาตามลำดับ นับแต่นางสุดใจยื่นคำร้องต่อศาลขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเมื่อปี 2529 ศาลมีคำสั่งให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิของนางสุดใจโดยการครอบครองปรปักษ์ตามคดีหมายเลขแดงที่ 9387/2529 เมื่อปี 2530 โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการได้กรรมสิทธิ์ของนางสุดใจ วันที่ 28 มีนาคม 2531 ศาลพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนางลมัย การได้กรรมสิทธิ์ของนางสุดใจดังกล่าวไม่อาจใช้ยันโจทก์ได้ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 4674/2531 เอกสารหมาย จ.4 นางสุดใจอุทธรณ์ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2531 จำเลยยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทวันที่ 3 ธันวาคม 2531 ศาลมีคำสั่งให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 23115/2531เอกสารหมาย ป.ล.2 ปี 2533 จำเลยฟ้องขับไล่นางสุดใจ ห้ามนางสุดใจและโจทก์เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท นางสุดใจและโจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2533 ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่นางสุดใจ ห้ามนางสุดใจและโจทก์เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 17174/2533 เอกสารหมายป.ล.3 ก่อนปี 2534 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 4674/2531 ที่โจทก์ฟ้องนางสุดใจนางสุดใจก็มิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เพื่อรักษาสิทธิของตนแต่อย่างใด พฤติการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกันตามลำดับไม่น่าเชื่อว่าเป็นเหตุบังเอิญ แต่ส่อไปในทางที่ไม่สุจริตว่า จำเลยร่วมกับนางสุดใจในการทุจริตเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินพิพาท โดยหลังจากศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีที่โจทก์ฟ้องนางสุดใจ จำเลยก็ได้ร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยมีพฤติการณ์ในคดีเช่นเดียวกับนางสุดใจว่าได้ที่ดินพิพาทโดยนางลมัยยกให้ และหลังจากที่ศาลพิพากษาให้จำเลยชนะคดีที่ฟ้องนางสุดใจและโจทก์เป็นจำเลยแล้วต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้โจทก์ชนะคดีที่ฟ้องนางสุดใจ นางสุดใจก็มิได้ฎีกา ทั้ง ๆ น่าจะกระทำพฤติการณ์ดังกล่าวน่าเชื่อว่านางสุดใจทราบว่าศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องฎีกาอีกต่อไป ดังปรากฏรายละเอียดตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น อีกทั้งจำเลยเองก็มีภูมิลำเนาตามสำเนาทะเบียนบ้านอยู่ที่อื่นมิใช่ที่ดินพิพาท ข้ออ้างว่าจำเลยเป็นฝ่ายครอบครองที่ดินพิพาทมาโดยตลอด จึงขาดเหตุผลที่จะรับฟัง พยานหลักฐานโจทก์มีเหตุผลและน้ำหนักเชื่อถือรับฟังได้มากกว่าหลักฐานของจำเลยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนางลมัย โสมนะพันธ์มิใช่ของจำเลย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share