แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1555 หากบิดามีชีวิตอยู่ต้องดำเนินคดีอย่างคดีมีข้อพิพาทคือฟ้องบิดาโดยทำเป็นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แต่ถ้าบิดาถึงแก่ความตายไปแล้วต้องดำเนินคดีอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทคือเริ่มคดีโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 188(1) ดังนั้น เมื่อผู้ตายซึ่งเป็นบิดาได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว โจทก์จึงต้องดำเนินคดีอย่างคดีไม่มีข้อพิพาท ส่วนบทบัญญัติมาตรา 1558 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิที่จะได้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมซึ่งเป็นผลตามมาจากการที่ร้องขอให้ศาลพิพากษาเป็นบุตร มิใช่บทบัญญัติที่ให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะทายาทผู้ตายเพื่อให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรของนายอนุวัติ สินธุบุญ กับนางคำเปาสุขใจ ซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรสกัน นายอนุวัติรับราชการครู เป็นสมาชิกช.พ.ค. ครุสภา เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2541 นายอนุวัติถึงแก่ความตายระหว่างมีชีวิตนายอนุวัติได้รับรองต่อบุคคลทั่วไปว่าโจทก์เป็นบุตรนายอนุวัติได้เลิกร้างกับมารดาโจทก์แล้วสมรสกับจำเลย หลังจากนายอนุวัติถึงแก่ความตาย สำนักงาน ช.พ.ค. สอบสวนแล้วได้พิจารณาว่าโจทก์เป็นทายาทนายอนุวัติ จึงได้จ่ายเงินสงเคราะห์ครอบครัวในส่วนของโจทก์จำนวน 28,561.58 บาท ให้แก่โจทก์แล้ว แต่โจทก์มีข้อขัดข้องในการรับเงินบำเหน็จตกทอดของทายาทนายอนุวัติที่ทางราชการได้กันไว้เป็นส่วนของโจทก์จำนวน 110,000 บาท ซึ่งมีระเบียบของกรมบัญชีกลางว่าต้องมีคำพิพากษาว่าโจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายอนุวัติแล้วโจทก์จึงจะได้รับเงินจำนวนดังกล่าว ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายอนุวัติ สินธุบุญ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ต่อจำเลย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะทายาทของนายอนุวัติ สินธุบุญ ผู้ตาย ให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายอนุวัติได้หรือไม่ เห็นว่า การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1555 หากบิดามีชีวิตอยู่ต้องดำเนินคดีอย่างคดีมีข้อพิพาทคือฟ้องบิดาโดยเสนอข้อหาทำเป็นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แต่ถ้าบิดาถึงแก่ความตายไปแล้วต้องดำเนินคดีอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทคือให้เริ่มคดีโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 188(1) เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ตายซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นบิดาได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว โจทก์จึงต้องดำเนินคดีอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทคือเริ่มคดีโดยยื่นคำร้องขอ มิใช่เสนอคำฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาท ส่วนกรณีที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1558 บัญญัติว่า “การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรของผู้ตายที่ได้ฟ้องภายในอายุความมรดก ถ้าศาลได้พิพากษาว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย เด็กนั้นมีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม” บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิที่จะได้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม ซึ่งเป็นผลตามมาจากการที่ร้องขอให้ศาลพิพากษาเป็นบุตร หาใช่บทบัญญัติที่ให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะทายาทผู้ตายเพื่อให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายไม่ ดังนั้นปัญหาที่ว่าตามคำให้การของจำเลยได้แสดงการโต้แย้งสิทธิว่าโจทก์มิใช่เป็นผู้สืบสันดานของนายอนุวัติและนายอนุวัติไม่เคยอุปการะเลี้ยงดูตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ย่อมเป็นที่ชัดแจ้งว่าจำเลยมีการกระทำการอันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์นั้น จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะโจทก์มิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งดังที่กล่าวมาแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผลฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่ดำเนินคดีอย่างคดีไม่มีข้อพิพาท