คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6993/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าที่ดินพิพาทตั้งอยู่ซอยขี้วัวถนนเจริญกรุง แขวงบางคอแหลม เขตยานนาวา กรุงเทพมหานครเนื้อที่ 1 ไร่เศษ มีบ้านเลขที่ 34 ถึงเลขที่ 38 และเลขที่ 40 ตั้งอยู่ จำเลยทั้งสองสามารถเข้าใจดีแล้วว่าเป็นที่แปลงใด ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ ว่า เป็นที่ดินโฉนดที่เท่าใด เป็นเพียงรายละเอียดซึ่งโจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ แม้จะมิได้บรรยายฟ้องมา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ข้อความตอนต้นในพินัยกรรมระบุว่า ข้าพเจ้าทำหนังสือพินัยกรรมฉบับนี้ขึ้นก่อนหน้าที่จะออกเดินทางไปต่างประเทศมีกำหนด 45 วัน หนังสือพินัยกรรมฉบับนี้ข้าพเจ้ามีความประสงค์ให้มีผลใช้บังคับได้ เมื่อข้าพเจ้าเสียชีวิตไปแล้วข้อความดังกล่าวเป็นแต่เพียงการระบุข้อเท็จจริงให้ทราบว่าได้ทำพินัยกรรมก่อนเดินทางไปต่างประเทศ มิได้กำหนดเงื่อนไขว่าหากตนเดินทางกลับจากต่างประเทศแล้วให้พินัยกรรมสิ้นผลบังคับ พินัยกรรมฉบับนี้จึงไม่มีลักษณะเป็นเงื่อนไขบังคับหลัง โจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ล.6ไม่มีต้นฉบับหรือต้นฉบับปลอมหรือสำเนาไม่ถูกต้องกับต้นฉบับคงอ้างว่าเอกสารหมาย ล.6 เป็นเพียงสำเนาเอกสารรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าต้นฉบับของพินัยกรรมสูญหาย ศาลย่อมรับฟังสำเนาพินัยกรรมตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบเป็นพยานหลักฐานได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2) ตามทะเบียนรับบุตรบุญธรรมเอกสารหมาย จ.4 ปรากฏว่าขณะเจ้ามรดกจดทะเบียนรับจำเลยที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรมเจ้ามรดกมีอายุ 25 ปี จึงขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 เดิม มาตรา 1582 ซึ่งใช้บังคับขณะนั้นที่กำหนดว่าผู้รับเป็นบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 30 ปี ส่วนการรับจำเลยที่ 2 เป็นบุตรบุญธรรมตามเอกสารหมาย จ.3 เจ้ามรดกแจ้งว่าเป็นโสด แต่ความจริงเจ้ามรดกได้จดทะเบียนสมรสกับโจทก์ โจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอม จึงขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม มาตรา 1584 ซึ่งใช้บังคับขณะนั้น การจดทะเบียนรับจำเลยทั้งสองเป็นบุตรบุญธรรมย่อมไม่สมบูรณ์ไม่มีผลตามกฎหมาย มารดาเจ้ามรดกเช่าที่ดิน 3 แปลง จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีกำหนดเพียง 1 ปี เมื่อผู้เช่าตายสัญญาเช่าซึ่งเป็นสิทธิเฉพาะตัวย่อมระงับไป จึงรับมรดกเป็นผู้เช่าต่อไปไม่ได้ การที่จำเลยทั้งสองคงครอบครองที่ดินต่อมาแล้วให้ผู้อื่นเช่าก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยทั้งสองกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หาใช่ทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายบุญชู จำเลยทั้งสองเป็นหลานนายบุญชู ขณะนายบุญชูมีชีวิตอยู่ นายบุญชู ได้จดทะเบียนรับจำเลยทั้งสองเป็นบุตรบุญธรรม หากแต่การจดทะเบียนขัดต่อเงื่อนไขตามกฎหมายจึงไม่อาจถือว่า จำเลยทั้งสองเป็นบุตรบุญธรรมของนายบุญชูและไม่เป็นทายาทโดยชอบธรรมหรือมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของนายบุญชู นายบุญชูถึงแก่กรรมโดยมิได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใด โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของนายบุญชูแต่เพียงผู้เดียว แต่มีทรัพย์มรดกบางส่วนที่โจทก์ไม่อาจเข้ายึดถือครอบครองได้ คือ ที่ดิน 1 แปลง ตั้งอยู่ที่ซอยขี้วัวพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับสิทธิการเช่าที่ดินจำนวน 3 แปลง ซึ่งตั้งอยู่ที่แขวงวัดพระยาไกร โดยนางกี๋มารดาของนายบุญชูเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่นายบุญชู ทรัพย์มรดกดังกล่าวก่อนตายนายบุญชูได้มอบให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ครอบครองดูแลเก็บผลประโยชน์จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิที่จะยึดถือครอบครองและแสวงผลประโยชน์จากทรัพย์มรดกดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองส่งมอบที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ซอยขี้วัว แก่โจทก์ หากส่งมอบไม่ได้ให้ชดใช้ราคา 1,400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าเช่าที่เก็บได้จากการให้เช่าที่ดินและบ้านที่เป็นทรัพย์มรดกเป็นเงิน 27,600 บาท พร้อมดอกเบี้ย กับให้จำเลยทั้งสองส่งมอบค่าเช่าที่ดินและบ้านดังกล่าวแก่โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 2,300 บาท จนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบการครอบครองบ้านและที่ดินดังกล่าวคืนโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของนายบุญชู นายบุญชูได้จดทะเบียนรับจำเลยทั้งสองเป็นบุตรบุญธรรม จำเลยทั้งสองจึงเป็นทายาทโดยธรรม มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของนายบุญชู โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยทั้งสอง เพราะนายบุญชูได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่นางกี๋และจำเลยทั้งสอง จึงเป็นการตัดโจทก์ไม่ให้มีสิทธิรับมรดก นายบุญชูไม่เคยมีที่ดินอยู่ในซอยขี้วัวตามฟ้องส่วนสิทธิการเช่าที่ดินทั้งสามแปลงที่โจทก์ฟ้องเป็นสิทธิเฉพาะตัวของนางกี๋ซึ่งถึงแก่กรรมไปก่อน นายบุญชู สัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวจึงระงับไม่ตกทอดแก่นายบุญชู ที่จำเลยทั้งสองยังครอบครองเก็บผลประโยชน์อยู่ เป็นการกระทำส่วนตัวของจำเลยทั้งสอง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองส่งมอบผลประโยชน์ตามฟ้อง ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีที่จำเลยทั้งสองเคยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญชู ต่อศาลชั้นต้นโดยโจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านในเหตุเดียวกัน ทั้งฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและคดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 1633 ซึ่งเป็นมรดกของนายบุญชู โดยมีชื่อนางกี๋เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ออกเป็น 3 ส่วน ให้โจทก์และจำเลยทั้งสองคนละหนึ่งส่วน ถ้าแบ่งไม่ได้ก็ให้ประมูลกันเองหรือขายทอดตลาดแบ่งเงินตามส่วน และให้จำเลยทั้งสองส่งมอบเงินค่าเช่าให้แก่โจทก์เป็นเงิน 4,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้จำเลยทั้งสองส่งมอบค่าเช่าให้แก่โจทก์เดือนละ 400 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะได้มีการแบ่งหรือขายทอดตลาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าที่ดินแปลงดังกล่าวตั้งอยู่ที่ซอยขี้วัว ถนนเจริญกรุง แขวงบางคอแหลม เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 1 ไร่เศษมีบ้านเลขที่ 34 ถึงเลขที่ 38 และเลขที่ 40 ตั้งอยู่ นายบุญชูได้รับมรดกให้เป็นสินส่วนตัวจากนางกี๋ผู้เป็นมารดา ฟ้องโจทก์จึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่เป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น จำเลยทั้งสองสามารถเข้าใจดีแล้วว่าเป็นที่แปลงใด ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ ว่า เป็นที่ดินโฉนดที่เท่าใดเป็นเพียงรายละเอียด ซึ่งโจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ แม้จะมิได้บรรยายฟ้องมา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ปัญหาข้อที่สองตามฎีกาของโจทก์มีว่า นายบุญชู ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้นางกี๋และจำเลยทั้งสองจริงหรือไม่
ข้อความตอนต้นในพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.6 ได้ระบุว่า “ข้าพเจ้าทำหนังสือพินัยกรรมฉบับนี้ขึ้นก่อนหน้าที่จะออกเดินทางไปต่างประเทศมีกำหนด 45 วัน หนังสือพินัยกรรมฉบับนี้ข้าพเจ้ามีความประสงค์ให้มีผลใช้บังคับได้ หากข้าพเจ้าเสียชีวิตไปแล้ว”ข้อความดังกล่าวเป็นแต่เพียงนางบุญชูผู้ทำพินัยกรรมระบุข้อเท็จจริงให้ทราบว่าได้ทำพินัยกรรมก่อนหน้าเดินทางไปต่างประเทศซึ่งมีกำหนด 45 วัน โดยมิได้กำหนดเงื่อนไขว่าหากตนเดินทางกลับจากต่างประเทศแล้วให้พินัยกรรมสิ้นผลบังคับ พินัยกรรมฉบับนี้จึงไม่มีลักษณะเป็นเงื่อนไขบังคับหลังทั้งข้อความต่อไปในพินัยกรรมก็เป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินเพื่อให้เกิดผลบังคับได้ตามกฎหมายจึงเป็นพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับตามมาตรา 1657 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
สำหรับข้อที่ว่าพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ล.6 เป็นสำเนาเอกสารนั้น โจทก์เองมิได้โต้แย้งคัดค้านว่าพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ล.6 ไม่มีต้นฉบับหรือต้นฉบับปลอมหรือสำเนาไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ คงนำสืบอ้างว่าเอกสารหมาย ล.6 เป็นเพียงสำเนาเอกสารรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าต้นฉบับของพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ล.6 สูญหายไป ศาลย่อมรับฟังสำเนาพินัยกรรมตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบเป็นพยานหลักฐานได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2)
ตามทะเบียนรับบุตรบุญธรรมเอกสารหมาย จ.4 ปรากฏว่าขณะนายบุญชูจดทะเบียนรับจำเลยที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรม นายบุญชูมีอายุ 25 ปี จึงขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 เดิมมาตรา 1582 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้นที่กำหนดว่าผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 30 ปี ส่วนการรับจำเลยที่ 2 เป็นบุตรบุญธรรมตามเอกสารหมาย จ.3 กระทำเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2508 นายบุญชูแจ้งว่าเป็นโสด แต่ความจริงนายบุญชูได้จดทะเบียนสมรสกับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 ตั้งแต่วันที่31 ตุลาคม 2499 โจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสของนายบุญชูไม่ได้ให้ความยินยอมด้วยจึงขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 เดิม มาตรา 1584 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้นการจดทะเบียนรับจำเลยทั้งสองเป็นบุตรบุญธรรมของนายบุญชูย่อมไม่สมบูรณ์ไม่มีผลตามกฎหมาย
ข้อที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า นางกี๋ได้ยกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสองตั้งแต่ปี 2512 จำเลยทั้งสองได้ครอบครองตลอดมาจนได้กรรมสิทธิ์แล้วที่ดินดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์มรดกนั้น จำเลยทั้งสองไม่ให้การไว้ ทั้งไม่ได้ยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
การที่ นางกี๋เช่าที่ดิน 3 แปลง จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นี้ได้เช่ามีกำหนดเพียง 1 ปี เมื่อนางกี๋ผู้เช่าตาย สัญญาเช่าซึ่งเป็นสิทธิเฉพาะตัวย่อมระงับไป ในกรณีเช่นนี้จึงรับมรดกเป็นผู้เช่าตามสัญญาเช่าต่อไปไม่ได้ การที่จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ต่อมาหลังจากนางกี๋ถึงแก่กรรมแล้วให้ผู้อื่นเช่าก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยทั้งสองกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หาใช่ทรัพย์มรดกของนายบุญชูอย่างใดไม่
พิพากษายืน

Share