แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์เกิดที่อำเภอไทรโยคจังหวัดกาญจนบุรี แม้ความผิดฐานรับของโจรจะเกิดที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี แต่ก็เป็นความผิดที่ได้กระทำต่อเนื่องกัน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทรโยคจึงมีอำนาจสอบสวนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในข้อหารับของโจรได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 และเมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอไทรโยค ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดกาญจนบุรีโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 ต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2533 เวลาประมาณ 18นาฬิกา จำเลยที่ 1 กับพวก 1 คน ซึ่งหลบหนีไป ได้ร่วมกันลักเอารถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กาญจนบุรี ช-5405 ของนายวิริยะต่วนศรีแก้ว ผู้เสียหายไปโดยทุจริต เหตุเกิดที่ตำบลลุ่มสุ่มอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ตามวันเวลาดังกล่าว หลังจากจำเลยที่ 1 กับพวกลักรถผู้เสียหายไปแล้ว จนถึงวันที่จับจำเลยที่ 2และที่ 3 ได้คือวันที่ 12 กรกฎาคม 2533 จำเลยที่ 2 และที่ 3ได้ร่วมกันรับของโจรรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย เหตุเกิดที่ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี และตำบลบ่อสุพรรณอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เกี่ยวพันกันขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335, 357
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335(7) วรรคสอง(ที่ถูกวรรคแรก) จำเลยที่ 1 อายุ 17 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 วางโทษจำคุก 2 ปี จำเลยที่ 2และที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 357 วรรคแรก วางโทษจำคุกคนละ 2 ปี คำเบิกความของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุกจำเลยทั้งสามมีกำหนด 1 ปี 6 เดือน
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่าความผิดฐานรับของโจรเกิดที่ตำบลบ่อสุพรรณอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรีโจทก์จะต้องฟ้องจำเลยที่ 2และที่ 3 ที่ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี นั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 บัญญัติไว้มีใจความว่าเมื่อความผิดนั้นเป็นความต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้คดีนี้การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์เกิดที่อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี แม้ความผิดฐานรับของโจรจะเกิดที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี แต่ก็เป็นความผิดที่ได้กระทำต่อเนื่องกัน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทรโยคจึงมีอำนาจสอบสวนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในข้อหารับของโจรได้ และเมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอไทรโยค ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดกาญจนบุรีโจทก์ก็มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรีได้”ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน