แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
++ เรื่อง ที่ดิน
++ โปรดดูย่อจากหนังสือคำพิพากษาศาลฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม
++ เล่มที่ 9 หน้า 170 ++
++ ขอดูชุดพิเศษโปรดติดต่อห้องบริการเอกสารสำเนาคำพิพากษา (ห้องสมุด) ชั้น 4, 5 ++
ย่อยาว
เรื่อง ที่ดิน
จำเลย ฎีกาคัดค้าน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ลงวันที่ ๑๕ เดือน กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๔๒
ศาลฎีกา รับวันที่ ๑๕ เดือน กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๔๓
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) หมู่ที่ ๓ เลขที่ ๒๗ ตำบลสากเหล็ก อำเภอเมืองพิจิตร (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกิ่งอำเภอสากเหล็ก)จังหวัดพิจิตร โจทก์เคยขอให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดเปลี่ยนเป็น น.ส.๓ ก.แล้ว แต่จำเลยคัดค้านอ้างว่าโจทก์นำรังวัดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่ดินไม่สามารถออก น.ส.๓ ก. ให้แก่โจทก์ได้ขอให้บังคับจำเลยถอนคำคัดค้านต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพิจิตรในการรังวัดที่ดิน น.ส.๓ เลขที่ ๒๗ หมู่ที่ ๓ ตำบลสากเหล็ก อำเภอเมืองพิจิตร(ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกิ่งอำเภอสากเหล็ก) จังหวัดพิจิตร ของโจทก์ หากจำเลยไม่ถอนคำคัดค้านขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยต่อไป และห้ามมิให้จำเลยเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์ดังกล่าว
จำเลยให้การว่า โจทก์นำชี้ให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยกินเนื้อที่ประมาณ ๓ ไร่ จำเลยจึงต้องค้ดค้านแนวเขตที่ดินที่โจทก์นำชี้ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยถอนคำคัดค้านต่อเจ้าพนักงานที่ดิน และฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยถอนการคัดค้านต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพิจิตรในการนำรังวัดที่ดิน น.ส.๓ สารบบเลขที่๒๗ ตำบลสากเหล็ก อำเภอเมืองพิจิตร (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกิ่งอำเภอสากเหล็ก) จังหวัดพิจิตร ของโจทก์ หากจำเลยไม่ถอนคำคัดค้านก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยแทน กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๓,๐๐๐บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ ๒,๐๐๐ บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่๒๗ ตำบลสากเหล็ก อำเภอเมืองพิจิตร (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกิ่งอำเภอสากเหล็ก) จังหวัดพิจิตร โดยมารดายกให้เมื่อปี ๒๕๑๘ ตามสำเนา น.ส.๓เอกสารหมาย จ.๑ เนื้อที่ทั้งหมด ๑๐ ไร่เศษ ทิศเหนือติดที่ดินนายประสิทธิ์นายยอง ทิศใต้ติดที่ดินโจทก์ ทิศตะวันออกติดที่ดินนายเนตร นางปลั่ง (บิดามารดาจำเลย) กับที่ดินนายจันทร์ นางหยวก ทิศตะวันตกติดที่ดินนายสมชายหลังจากรับให้ที่ดินมาแล้ว โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ทั้งแปลงโดยให้ผู้อื่นเช่า และไม่มีผู้ใดคัดค้าน โจทก์ชำระค่าภาษีที่ดินมาโดยตลอดตามเอกสารหมาย จ.๒ และ จ.๓ ต่อมาปี ๒๕๓๗ โจทก์ขอรังวัดเพื่อเปลี่ยนเป็นน.ส.๓ ก ตามคำขอรังวัด (ท.ด.๙) เอกสารหมาย จ.๔ เจ้าพนักงานที่ดินออกไปรังวัดตามที่โจทก์นำชี้ ซึ่งโจทก์ชี้ตามความจริงและได้ปักหลักไว้ทั้ง๔ ทิศ ทางทิศตะวันออกโจทก์นำชี้ไปตามแนวถนนในภาพถ่ายหมาย จ.๕ซึ่งอยู่ภายในแนวระหว่างต้นไม้กับนามิได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยซึ่งอยู่บริเวณกลุ่มต้นไม้ใหญ่ แต่เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินจะให้จำเลยลงลายมือชื่อในฐานะเจ้าของที่ดินข้างเคียง จำเลยไม่ยอมอ้างว่าโจทก์บุกรุกเข้าไปในที่ดินจำเลย ทำให้การรังวัดยุติลงไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้เจ้าพนักงานที่ดินไกล่เกลี่ยแล้วไม่สามารถตกลงกันได้ จึงให้โจทก์ดำเนินการทางศาลภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่ไกล่เกลี่ยครั้งสุดท้าย หากไม่ดำเนินการภายในเวลาที่เจ้าพนักงานที่ดินกำหนด เจ้าพนักงานที่ดินจะยกเลิกคำขอรังวัดนั้นเสีย โจทก์จึงยื่นฟ้องคดีนี้
จำเลยนำสืบว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของนายเผือก ชุ่มเย็นตาของจำเลย ต่อมาตกเป็นของนายเนตร นางปลั่ง บิดามารดาของจำเลย แล้วตกเป็นของจำเลยกับพี่น้องบางส่วน กับตกเป็นของนางวิสุนีรัตนนคร มารดาของโจทก์บางส่วน เพราะนางปลั่งตีใช้หนี้ให้ประมาณ๒๐ ไร่ สำหรับส่วนที่เป็นของจำเลยกับพี่น้องทิศเหนือติดที่ดินนายตุ๊นางเพิ่ม ทิศใต้ติดที่ดินนางวิสุนี (มารดาโจทก์) ทิศตะวันออกติดที่ดินนายปลั่ง นายฉาบ ทิศตะวันตกติดที่ดินนายฉาบ นางวิสุนี มีการเสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมา จำเลยเคยขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออก น.ส.๓ ให้และขอให้มารดาโจทก์ช่วยระวังแนวเขต ครั้งแรกมารดาโจทก์รับปากจะช่วยแต่ต่อมามารดาโจทก์ได้ขอที่ดินเพิ่มส่วนที่เป็นทางเดินด้วย ซึ่งจำเลยไม่ยอมจึงตกลงกันไม่ได้ เดิมระหว่างที่ดินโจทก์กับจำเลยมีคันนาสองคัน ตรงกลางเป็นคลองชักน้ำเข้านากั้นระหว่างที่ดินทั้งสองแปลง ฝ่ายจำเลยทำนาด้านเหนือคลอง ส่วนโจทก์อยู่ด้านใต้คลอง ต่อมาฝ่ายโจทก์ทำลายคันนาทั้งสองและคลองทิ้งไปจนเป็นที่ดินผืนเดียวกัน และทำคันนาใหม่ล้ำมาในที่ดินจำเลย จำเลยตรวจ น.ส.๓ ที่โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกให้ เห็นว่าทับที่ดินของจำเลย เมื่อโจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดจำเลยจึงไม่ยอมลงลายมือชื่อ เดิม น.ส.๓ ของโจทก์มีเนื้อที่ ๑๑ ไร่๙๐ ตารางวา แต่ที่รังวัดใหม่ได้เนื้อที่เพิ่มขึ้นเป็น ๑๗ ไร่ ๑ งาน๔๕ ตารางวา มากกว่าเดิมถึง ๖ ไร่ ๕๓ ตารางวา เพราะโจทก์นำรังวัดล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลย จำเลยได้รับมอบหมายจากญาติพี่น้องให้คัดค้านเพียงผู้เดียว
พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายไว้โดยละเอียดแล้วว่า ที่ดินของโจทก์มีเนื้อที่เท่าใดมีอาณาเขตติดกับที่ดินของจำเลยด้านไหน เมื่อโจทก์ไปยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินขอรังวัดเพื่อเปลี่ยนน.ส.๓ เป็น น.ส.๓ ก. จำเลยได้โต้แย้งคัดค้านอย่างไร มีผลทำให้โจทก์เสียหาย ไม่สามารถเปลี่ยนหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดินจาก น.ส.๓ เป็นน.ส.๓ ก. ได้ อันเป็นการบรรยายฟ้องโดยชัดแจ้ง ซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒ วรรคสอง แล้ว หาจำต้องกล่าวในฟ้องด้วยว่า การคัดค้านของจำเลยเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต และจำเลยไม่มีสิทธิคัดค้านอย่างไร ส่วนจำนวนเนื้อที่ตาม น.ส.๓ ของโจทก์ที่มีมากกว่าที่ระบุไว้ในคำฟ้องก็เป็นเรื่องที่ปรากฏขึ้นภายหลังในชั้นพิจารณา หาทำให้ฟ้องโจทก์ที่สมบูรณ์อยู่แล้วกลายเป็นฟ้องเคลือบคลุมแต่อย่างใดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่า โจทก์มีอำนาจขอให้จำเลยถอนคำคัดค้านการนำรังวัดที่ดินของโจทก์หรือไม่ นอกจากตัวโจทก์จะเบิกความยืนยันว่า ที่ดิน น.ส.๓ เลขที่ ๒๗ หมู่ที่ ๓ ตำบลสากเหล็กอำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร ของโจทก์ซึ่งมารดาโจทก์ยกให้เมื่อปี๒๕๑๘ มีสภาพเป็นที่นา อาณาเขตทิศเหนือติดที่ดินนายประสิทธิ์ นายยองทิศใต้ติดที่ดินโจทก์อีกแปลงหนึ่ง ทิศตะวันออกติดที่ดินนายเนตร นางปลั่งบิดามารดาของจำเลย กับที่ดินนายจันทร์ นางหยวก ส่วนทิศตะวันตกติดที่ดินนายสมชาย ตามภาพถ่ายหมาย จ.๕ โจทก์เข้าครอบครองตั้งแต่ได้รับยกให้โดยให้ผู้อื่นเช่าทำนา ส่วนที่ดินของจำเลยอยู่ในบริเวณกลุ่มต้นไม้ใหญ่ด้านขวามือตามภาพถ่ายหมาย จ.๕ ภาพแรก แล้วโจทก์ยังมีนางไหมพุกยอด ผู้เช่าที่ดินโจทก์และนายจันทร์ กองยอด ซึ่งมีที่ดินติดกับที่ดินพิพาทต่างเบิกความว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์มีสภาพเป็นที่นา ซึ่งเมื่อดูตามภาพถ่ายหมาย จ.๕ ภาพแรกแล้วจะเห็นว่าบริเวณที่เป็นที่นามีอาณาเขตติดต่อเป็นแปลงเดียวกัน แยกออกจากที่ดินบริเวณต้นไม้ใหญ่ซึ่งเป็นที่ปลูกบ้านของฝ่ายจำเลยอย่างเห็นได้ชัด ที่จำเลยนำสืบว่า เดิมที่ดินของโจทก์และจำเลยมีคันนาสองคันตรงกลางเป็นคลองกั้นเป็นอาณาเขต จำเลยทำนาด้านเหนือคลอง โจทก์อยู่ด้านใต้คลอง ต่อมาฝ่ายโจทก์ได้ทำลายคันนาและคลองทิ้งแล้วทำคันนาขึ้นใหม่ล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลย ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เคยโต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด ทั้งตามบันทึกเอกสารหมาย จ.๗ ที่จำเลยให้ปากคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินผู้ทำการรังวัดสอบเขต กลับรับว่าจำเลยมิได้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและไม่เคยขอหรือเก็บค่าเช่านา ทั้งที่จำเลยรู้จักผู้เช่านาแปลงพิพาทเป็นอย่างดี อันเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ ข้อนำสืบของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ และแม้ปรากฏว่าที่ดินที่โจทก์นำชี้จะมีเนื้อที่ ๑๗ ไร่เศษ มากกว่าที่ระบุไว้ใน น.ส.๓ ถึง๖ ไร่เศษ ก็อาจเนื่องจากจำนวนเนื้อที่ที่ระบุใน น.ส.๓ เดิมคลาดเคลื่อนไม่แน่นอน เมื่อมีการนำชี้และรังวัดกันจริง ๆ จึงทำให้ผลที่ออกมาแตกต่างไปจากที่ระบุไว้ กรณีหาได้ชี้ให้เห็นว่าโจทก์นำชี้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยดังที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใดไม่ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย น่าเชื่อว่าโจทก์มิได้นำชี้รุกล้ำเข้าไปในแนวเขตที่ดินของจำเลย จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะคัดค้านการขอรังวัดที่ดินของโจทก์ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยถอนคำคัดค้านดังกล่าวของจำเลยนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาประการสุดท้ายว่า คดีนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ โจทก์มิได้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องครบถ้วนในศาลชั้นต้น ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ จะพิพากษายกฟ้องโจทก์เสีย มิใช่สั่งให้จำเลยเสียค่าธรรมเนียมและค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์แล้วพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์มาแต่ต้น และศาลชั้นต้นก็มิได้สั่งให้เรียกเก็บตามจำนวนทุนทรัพย์จึงมิใช่เรื่องที่โจทก์ขัดขืนไม่ยอมเสียอันจะเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องโจทก์เสียได้คดีนี้ความเพิ่งจะปรากฏในชั้นพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ว่า ฟ้องโจทก์เป็นคดีมีทุนทรัพย์ จึงล่วงเลยเวลาที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ จะย้อนสำนวนไปสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นเสียให้ถูกต้อง และเมื่อจำเลยเพียงฝ่ายเดียวเป็นผู้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ย่อมมีอำนาจที่จะสั่งให้จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่ยังขาดอยู่ให้ครบได้ คำสั่งและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา ๑,๕๐๐ บาทแทนโจทก์.