คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 994/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายเกี่ยวกับวันเวลาเกิดเหตุว่า เมื่อประมาณต้นเดือนมีนาคม 2540 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งหมดได้ร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ ได้ร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทภาพถ่าย โดยร่วมกันทำซ้ำ ดัดแปลง และนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ดังนี้ ฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับวันเวลาเกิดเหตุจึงครบถ้วนถูกต้องตาม ป.วิ.อ.มาตรา 158 (5)แล้ว
วันที่กระทำความผิดตามฟ้องจะตรงตามความเป็นจริงหรือไม่เป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันในชั้นพิจารณา หามีผลกระทบถึงความสมบูรณ์ของฟ้องไม่
สัญญาว่าจ้างถ่ายแบบเป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์และ ท.ซึ่งมีสาระสำคัญว่า ถ้าภาพถ่ายตามสัญญาฉบับนี้ถูกตีพิมพ์เพื่อการพาณิชย์ที่ไม่ใช่ของบริษัทโน๊ตพับลิชชิ่ง จำกัด แล้ว ให้ถือว่าโจทก์เป็นผู้ผิดสัญญา นางสาวทิพย์วรรณจะเรียกเอาค่าเสียหายจากโจทก์หรือฟ้องร้องผู้ทำละเมิดก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่คดีไม่มีปัญหาว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาดังกล่าวหรือไม่ นอกจากนี้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายดังกล่าวจะหมดสิทธิในความเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องคดีแก่ผู้กระทำผิดหรือไม่ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่เกี่ยวกับสัญญาว่าจ้างถ่ายแบบ ดังนั้นถ้ามีผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์ก็ย่อมมีอำนาจฟ้องผู้ทำละเมิดได้โจทก์เพิ่งทราบว่ามีการพิมพ์หนังสือนิตยสาร “ร้อนเสน่หา นางฟ้านุ่งลม” ซึ่งมีภาพถ่ายของ ท.ลงพิมพ์ไว้อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ เมื่อเดือนมีนาคม 2540 และโจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดตามกฎหมายเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2540คดีนี้ย่อมมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.อ.มาตรา 95 (3) เมื่อได้ความว่าโจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 14 มกราคม 2541 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
โจทก์ถอนคำร้องทุกข์เพราะโจทก์ได้นำคดีไปฟ้องเองและศาลได้รับฟ้องไว้แล้ว โจทก์ไม่ได้ถอนคำร้องทุกข์โดยเจตนาที่จะไม่เอาความผิดแก่จำเลยสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ.มาตรา 39 (2)
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 9 ที่ 15 และที่ 17 ถึงที่ 19 ตาม พ.ร.บ.บัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537มาตรา 27, 31, 69, 70, 74, 75, 76 และ 78 มาตรา 83 โดยวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท และให้ลงโทษฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ.มาตรา 90 เป็นการปรับบทมาตราที่บางมาตรามิใช่บทกำหนดความผิดและกำหนดโทษ และมิได้ระบุวรรคให้ถูกต้องนอกจากนี้จำเลยที่ 1 ที่ 9 และที่ 15 ต่างเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดแยกจากกันแม้จะได้ความว่าเป็นบริษัทจำกัดในเครือเดียวกันหรือมีการถือหุ้นไขว้กันก็มิได้หมายความว่าจะต้องมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดด้วย ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ แม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์
จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ด้วยการพิมพ์หนังสือ “ร้อนเสน่หา นางฟ้านุ่งลม” ขึ้นโดยใช้แม่พิมพ์ ซึ่งจำเลยที่ 9 เป็นผู้จัดทำขึ้นในการพิมพ์หนังสือนี้ และหนังสือที่พิมพ์ออกมามีข้อความระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้พิมพ์และจำเลยที่ 9 เป็นผู้ทำแม่พิมพ์ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 9 ได้แบ่งหน้าที่กันทำงานในส่วนของตน โดยรู้ถึงการกระทำของกันและกันตามที่ระบุไว้ในแม่พิมพ์และหนังสือดังกล่าวเพื่อให้การพิมพ์หนังสือนี้สำเร็จลง จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 และที่ 9มีเจตนาร่วมกระทำผิดด้วยการทำซ้ำงานดังกล่าวด้วยกัน ส่วนจำเลยที่ 15 ปรากฏเพียงว่า เป็นผู้รับจ้างจากบริษัท ส.ให้ทำงานจัดจำหน่ายซึ่งเป็นความผิดฐานเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์ต่อสาธารณชนโดยเฉพาะ อันเป็นความผิดคนละส่วนกัน โดยไม่ปรากฏเลยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 9 กับจำเลยที่ 15 มีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดคดีนี้การกระทำของจำเลยที่ 1 กับที่ 9 และการกระทำของจำเลยที่ 15 จึงเป็นความผิดเฉพาะในส่วนของแต่ละฝ่ายเท่านั้นกล่าวคือ จำเลยที่ 1 และที่ 9 มีความผิดฐานร่วมกันทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยการจัดพิมพ์หนังสืออันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้า ส่วนจำเลยที่ 15 มีความผิดฐานเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไรและเพื่อการค้า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทภาพถ่ายและภาพพิมพ์ของนางสาวทิพย์วรรณหรือชโลมจิตจันทร์เกตุ หรือลูกตาล ซึ่งโจทก์ว่าจ้างนางสาวทิพย์วรรณเป็นนางแบบให้แก่โจทก์จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๘ เป็นกรรมการจำเลยที่ ๙ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๖ ที่ ๘ ที่ ๑๐ถึงที่ ๑๔ เป็นกรรมการจำเลยที่ ๑๕ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ ๒ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๑๖ ถึงที่ ๑๙ เป็นกรรมการ และจำเลยที่ ๒๐ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ ๒๑ ถึงที่ ๒๖ เป็นกรรมการ เมื่อต้นเดือนมีนาคม ๒๕๔๐เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งหมดได้ร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์โดยนำภาพถ่ายของนางสาวทิพย์วรรณซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ไปตีพิมพ์เป็นรูปเล่ม ใช้ชื่อหนังสือว่า “ร้อนเสน่หา นางฟ้านุ่งลม” ซึ่งเป็นการทำซ้ำ ดัดแปลง และนำหนังสือดังกล่าวออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อประโยชน์ทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๔, ๒๗, ๓๑, ๖๙, ๗๐, ๗๔, ๗๕, ๗๖ และ ๗๘ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ และให้จ่ายค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาจำนวนกึ่งหนึ่งแก่โจทก์
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒๑ ที่ ๒๔ และที่ ๒๕ ให้การปฏิเสธ จำเลยที่๒๒ ที่ ๒๓ และที่ ๒๖ หลบหนีระหว่างพิจารณา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้ออกหมายจับและจำหน่ายคดีชั่วคราวเฉพาะจำเลยที่ ๒๒ที่ ๒๓ และที่ ๒๖
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๙ ที่ ๑๑ ที่ ๑๕ และที่ ๑๗ ถึงที่ ๑๙ มีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๒๗, ๓๑, ๖๙, ๗๐, ๗๔, ๗๕, ๗๖ และ ๗๘ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ให้ปรับจำเลยที่ ๑ ที่ ๙ และที่ ๑๕ คนละ๔๐๐,๐๐๐ บาท ให้จำคุกจำเลยที่ ๑๑ ที่ ๑๗ ที่ ๑๘ และที่ ๑๙ คนละ ๖ เดือน และปรับคนละ ๔๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑๑ และที่ ๑๗ ถึงที่ ๑๙ เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน สมควรให้โอกาสจำเลยที่ ๑๑ และที่ ๑๗ ถึงที่ ๑๙ กลับตัวต่อไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด ๒ ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ ของกลางให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ จ่ายค่าปรับกึ่งหนึ่งให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๘ ที่ ๑๐ ที่ ๑๒ ถึงที่ ๑๔ที่ ๑๖ ที่ ๒๐ ที่ ๒๑ ที่ ๒๔ และที่ ๒๕
จำเลยที่ ๑ ที่ ๙ ที่ ๑๑ ที่ ๑๕ และที่ ๑๗ ถึงที่ ๑๙ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า ก่อนเกิดเหตุโจทก์ได้ว่าจ้างนางสาวทิพย์วรรณหรือชโลมจิต จันทร์เกตุ หรือลูกตาล เป็นนางแบบถ่ายภาพศิลป์ โดยมีนางสาวนิธิกาญจน์ สิงห์เทียน หรืออัญมณี สีชาด เป็นผู้ถ่ายภาพและตกลงกันให้ภาพถ่ายทั้งหมดเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ เมื่อประมาณต้นปี ๒๕๓๙ โจทก์นำภาพถ่ายนางสาวทิพย์วรรณพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “เลิฟซีน” (Love Scene) ออกจำหน่ายครั้นเดือนมีนาคม ๒๕๔๐ มีหนังสือชื่อ “ร้อนเสน่หา นางฟ้านุ่งลม” ออกจำหน่าย โดยมีภาพถ่ายนางสาวทิพย์วรรณซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์รวมอยู่ในหนังสือดังกล่าวด้วยทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวมีจำเลยที่ ๑ เป็นผู้พิมพ์ จำเลยที่ ๙ เป็นผู้ทำแม่พิมพ์ และจำเลยที่ ๑๕ เป็นผู้จัดจำหน่าย
มีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ที่ ๙ ที่ ๑๑ ที่ ๑๕ และที่ ๑๗ถึงที่ ๑๙ ซึ่งต่อไปจะเรียกจำเลยทั้งเจ็ดในข้อแรกว่า โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับวันเวลาเกิดเหตุชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายเกี่ยวกับวันเวลาเกิดเหตุว่า เมื่อประมาณต้นเดือนมีนาคม ๒๕๔๐ เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งหมดได้ร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือได้ร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทภาพถ่าย… โดยร่วมกันทำซ้ำดัดแปลง และนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ดังนี้ ฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับวันเวลาเกิดเหตุจึงครบถ้วนถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ (๕) แล้ว ที่จำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์ว่า วันเวลาที่โจทก์บรรยายไว้ในฟ้องไม่ใช่วันกระทำความผิด แต่เป็นวันที่โจทก์ทราบถึงการกระทำความผิด ฟ้องของโจทก์จึงไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงนั้น เห็นว่าวันที่กระทำความผิดตามฟ้องจะตรงตามความเป็นจริงหรือไม่เป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันในชั้นพิจารณา หามีผลกระทบถึงความสมบูรณ์ของฟ้องแต่อย่างใดไม่
ที่จำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์ว่า สัญญาว่าจ้างถ่ายแบบตามเอกสารหมายจ.๒ ข้อ ๖. มีเจตนาคุ้มครองนางสาวทิพย์วรรณไม่ให้โจทก์นำภาพถ่ายไปใช้ในเชิงพาณิชย์โดยไม่มีขอบเขตจำกัด เมื่อโจทก์ผิดสัญญาจึงหมดสิทธิเป็นผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า สัญญาว่าจ้างถ่ายแบบตามเอกสารหมาย จ.๒ ข้อ ๖.เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์และนางสาวทิพย์วรรณซึ่งมีสาระสำคัญว่า ถ้าภาพถ่ายตามสัญญาฉบับนี้ถูกตีพิมพ์เพื่อการพาณิชย์ที่ไม่ใช่ของบริษัทโน๊ต พับลิชชิ่ง จำกัด แล้วให้ถือว่าโจทก์เป็นผู้ผิดสัญญา นางสาวทิพย์วรรณจะเรียกเอาค่าเสียหายจากโจทก์หรือฟ้องร้องผู้ทำละเมิดก็ได้ตามแต่จะเลือก คดีนี้ ไม่มีปัญหาว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาดังกล่าวหรือไม่ นอกจากนี้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายดังกล่าวจะหมดสิทธิในความเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องคดีแก่ผู้กระทำผิดหรือไม่ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่เกี่ยวกับสัญญาว่าจ้างถ่ายแบบตามเอกสารหมาย จ.๒ดังนั้น ถ้ามีผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์ก็ย่อมมีอำนาจฟ้องผู้ทำละเมิดได้
ที่จำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความและโจทก์ได้ถอนคำร้องทุกข์แล้ว ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปนั้น เห็นว่าโจทก์มีตัวโจทก์และนายประจักษ์ แก้วมีชัย เบิกความเป็นพยานยืนยันว่า โจทก์เพิ่งทราบว่ามีการพิมพ์หนังสือนิตยสาร “ร้อนเสน่หา นางฟ้านุ่งลม” ตามเอกสารหมายจ.๙ ซึ่งมีภาพถ่ายของนางสาวทิพย์วรรณลงพิมพ์ไว้ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๔๐ และโจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อให้ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดตามกฎหมายเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๔๐ ตามเอกสารหมาย จ.๑๑ ถึง จ.๑๔ คดีนี้ย่อมมีอายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๕ (๓) เมื่อได้ความว่าโจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๔๑ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ส่วนที่จำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์ว่า หนังสือทีวีพูลออกวางจำหน่ายวันที่๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ มีเรื่องของนางสาวทิพย์วรรณลงพิมพ์อยู่ที่หน้า ๔๑ ถึง ๔๓โดยโจทก์เป็นเจ้าของและบรรณาธิการหนังสือทีวีพูลดังกล่าว โจทก์ย่อมรู้ถึงการละเมิดลิขสิทธิ์และรู้ตัวผู้ทำละเมิดลิขสิทธิ์ตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ แล้วนั้น เห็นว่าบทความในหนังสือฉบับนี้มีข้อความเกี่ยวกับนางสาวทิพย์วรรณแต่เพียงว่า นางสาวทิพย์วรรณหรือลูกตาล ชโลมจิตร จันทร์เกตุ เตรียมฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทฐานเศรษฐกิจ จำกัด ในกรณีฐานสัปดาห์วิจารณ์ละเมิดลิขสิทธิ์แอบเอาสไลด์ที่ลูกตาลถ่ายไว้กับนิตยสารฉบับหนึ่งไปรวมเล่มจำหน่ายตามท้องตลาด ซึ่งใช้ชื่อหนังสือว่า”ร้อนเสน่หา นางฟ้านุ่งลม” เท่านั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รู้ถึงเรื่องนี้หรือไม่ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแน่ชัดในวันนั้นแล้ว และที่โจทก์ขอถอนคำร้องทุกข์ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย ล.๓๑ ก็ปรากฏว่าโจทก์ถอนคำร้องทุกข์เพราะโจทก์ได้นำคดีไปฟ้องเองและศาลได้รับฟ้องไว้แล้ว ไม่ได้ถอนคำร้องทุกข์โดยเจตนาที่จะไม่เอาความผิดแก่จำเลยแต่อย่างใด ดังนั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ (๒)
ที่จำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์ว่า โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๙และที่ ๑๕ ได้ภาพถ่ายของนางสาวทิพย์วรรณมาโดยทุจริตหรือรู้ว่าเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์จำเลยที่ ๑ ที่ ๙ และที่ ๑๕ จึงไม่มีความผิด จำเลยที่ ๑๑ ที่ ๑๗ ที่ ๑๘ และที่ ๑๙ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยดังกล่าวย่อมไม่มีความผิดด้วยนั้น เห็นว่า โจทก์มีตัวโจทก์นายประจักษ์ แก้วมีชัย และนางสาวทิพย์วรรณเบิกความเป็นทำนองเดียวกันว่าโจทก์นำภาพถ่ายนางสาวทิพย์วรรณตามภาพถ่ายและภาพสไลด์หมาย จ.๓ และ จ.๑๓จัดพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “เลิฟซีน” (Love Scene) ตามเอกสารหมาย จ.๔ ออกจำหน่ายเมื่อปี ๒๕๓๘ ต่อมามีนักข่าวมาขอภาพสไลด์นางสาวทิพย์วรรณไปทำข่าว และหนังสือพิมพ์ฐานสัปดาห์วิจารณ์ ฉบับลงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๓๙ ถึง ๒ กุมภาพันธ์๒๕๓๙ หน้า ๑๐๑ ถึง ๑๐๒ ได้ลงพิมพ์ภาพถ่ายนางสาวทิพย์วรรณบางภาพในคอลัมน์จัตุรัสดาวพร้อมบทความประกอบ ต่อมาก็มีหนังสือ “ร้อนเสน่หา นางฟ้านุ่งลม”ตามเอกสารหมาย จ.๙ ซึ่งลงพิมพ์ภาพถ่ายของนางสาวทิพย์วรรณออกจำหน่าย และตามหนังสือรับรองนิติบุคคลในสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนเอกสารหมายจ.๑๒ ก็ปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๙ และที่ ๑๕ มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการพิมพ์และจำหน่ายหนังสือ ทั้งในหนังสือ”ร้อนเสน่หา นางฟ้านุ่งลม” ที่จำเลยที่ ๑เป็นผู้พิมพ์โดยจำเลยที่ ๙ เป็นผู้ทำแม่พิมพ์และจำเลยที่ ๑๕ เป็นผู้จัดจำหน่ายนั้นก็มีข้อความที่พิมพ์ไว้ในหน้า ๘ ว่า หนังสือเล่มนี้รวบรวมจากคอลัมน์จตุรัสดาว โดยเมย์วรินทร์ หนังสือพิมพ์ฐานสัปดาห์วิจารณ์ และในหน้าที่ ๑๑๔ ถึง ๑๑๘ ที่พิมพ์ภาพถ่ายนางสาวทิพย์วรรณไว้ก็มีข้อความสรุปได้ว่านางสาวทิพย์วรรณได้ถ่ายภาพนำไปลงพิมพ์ในหนังสือ “เลิฟซีน” (Love Scene) มาแล้ว แสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๙ ผู้พิมพ์และทำแม่พิมพ์ข้อความดังกล่าวและเป็นผู้มีอาชีพอยู่ในวงการพิมพ์และจำหน่ายหนังสือทราบว่าภาพถ่ายนางสาวทิพย์วรรณนี้เป็นงานสร้างสรรค์ที่มีการโฆษณาในหนังสือ “เลิฟซีน” (Love Scene) ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นมาก่อนแล้วและจำเลยที่ ๑๕ ซึ่งมีอาชีพอยู่ในวงการพิมพ์และจำหน่ายหนังสือและรับจัดจำหน่ายหนังสือ “ร้อนเสน่หา นางฟ้านุ่งลม” ที่มีภาพถ่ายของนางสาวทิพย์วรรณและข้อความดังกล่าวข้างต้นลงพิมพ์อยู่ จึงมีเหตุอันควรรู้ว่าหนังสือดังกล่าวทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ส่วนพยานหลักฐานฝ่ายจำเลยตามหนังสือพิมพ์ฐานสัปดาห์วิจารณ์เอกสารหมายล.๑ หนังสือฉบับนี้หน้า ๑๐๑ ถึง ๑๐๒ ลงพิมพ์ภาพถ่ายนางสาวทิพย์วรรณและข้อความประกอบทำนองเดียวกับข้อความในหนังสือ “ร้อนเสน่หา นางฟ้านุ่งลม” และในหนังสือพิมพ์ฐานสัปดาห์วิจารณ์ฉบับนี้ยังมีข้อความระบุไว้ในหน้า ๔ ว่า จำเลยที่ ๒ เป็นประธานและกรรมการผู้อำนวยการ นายนิรันดร์ ทองปาน เป็นผู้อำนวยการฝ่ายข่าว บริษัทฐานเศรษฐกิจ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการและจัดพิมพ์ จำเลยที่ ๑๕ เป็นผู้จัดจำหน่ายและปรากฏว่าจำเลยที่ ๑๕ ตกลงทำสัญญารับจ้างจัดจำหน่ายหนังสือ “ร้อนเสน่หานางฟ้านุ่งลม” เอกสารหมาย จ.๙ ซึ่งละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์กับบริษัท ๒๒๒ วิภาวดีจำกัด โดยนายนิรันดร์ ทองปาน เป็นผู้ทำการแทน เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๓๙ตามสัญญารับจ้างจัดจำหน่ายเอกสารหมาย ล.๒๔ ด้วยเช่นกัน จึงมีเหตุที่จำเลยที่ ๑๕ควรรู้อยู่ก่อนทำสัญญารับจ้างจัดจำหน่ายดังกล่าวแล้วว่าการลงพิมพ์ภาพถ่ายของนางสาวทิพย์วรรณในหนังสือ “ร้อนเสน่หา นางฟ้านุ่งลม” เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น สำหรับจำเลยที่ ๑ ได้ความจากสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเอกสารหมาย ล.๔ลำดับที่ ๑ ว่า บริษัทฐานเศรษฐกิจ จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ ๑รายใหญ่ที่สุดจำนวน ๒,๙๙๙,๖๐๐ หุ้น ส่วนจำเลยที่ ๙ ได้ความจากสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเอกสารหมาย ล.๖ ลำดับที่ ๑ ว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ ๙รายใหญ่ที่สุดจำนวน ๒๒๔,๙๙๕ หุ้น แสดงว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๙ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบริษัทฐานเศรษฐกิจ จำกัด อย่างยิ่ง ประกอบกับจำเลยทั้งเจ็ดยอมรับมาในอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๙ และที่ ๑๕ กับบริษัท ๒๒๒ วิภาวดี จำกัด เป็นบริษัทในเครือของบริษัทฐานเศรษฐกิจ จำกัด ดังนั้น ที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๙ รับจ้างพิมพ์หนังสือ “ร้อนเสน่หา นางฟ้านุ่งลม” และรับจ้างทำแม่พิมพ์ข้อความและภาพถ่ายนางสาวทิพย์วรรณให้แก่บริษัท ๒๒๒ วิภาวดี จำกัด โดยนายนิรันดร์ ทองปานเป็นผู้ทำการแทนตามใบสั่งจ้างพิมพ์เอกสารหมาย ล.๑๖ และสัญญาจ้างเอกสารหมาย ล.๑๑ ตามลำดับ ก็มีเหตุให้เชื่อได้ว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๙ รู้อยู่ก่อนทำสัญญาดังกล่าวแล้วว่าภาพถ่ายนางสาวทิพย์วรรณที่นำมาทำแม่พิมพ์และลงพิมพ์ในหนังสือ”ร้อนเสน่หา นางฟ้านุ่งลม” เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเช่นกัน จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๙ มีเจตนาทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ และจำเลยที่ ๑๕ ได้จัดจำหน่ายหนังสือ “ร้อนเสน่หา นางฟ้านุ่งลม” อันเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยมีเหตุอันควรรู้ว่าหนังสือดังกล่าวทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ส่วนจำเลยที่ ๑๑และที่ ๑๗ ถึงที่ ๑๙ ซึ่งเป็นกรรมการของนิติบุคคลนั้น มีข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ ว่าในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่ากรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำผิดด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำของนิติบุคคลนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ ๑๑ เป็นกรรมการของจำเลยที่ ๙ ส่วนจำเลยที่ ๑๗ ถึงที่ ๑๙ เป็นกรรมการของจำเลยที่ ๑๕ ในเบื้องต้นจึงต้องถือว่าจำเลยที่ ๑๑ และที่ ๑๗ ถึงที่ ๑๙ เป็นผู้ร่วมกระทำผิดด้วย เว้นแต่จำเลยดังกล่าวจะพิสูจน์ได้ว่าตนไม่ได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย ได้ความจากคำเบิกความจำเลยที่ ๑๑ ว่าหลังจากจำเลยที่ ๑๑ ถูกฟ้องแล้วจึงทราบว่านายนิรันดร์ ทองปาน ได้ตกลงว่าจ้างให้จำเลยที่ ๙ ทำแม่พิมพ์ จำเลยที่ ๑๒ ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ ๙เช่นเดียวกับจำเลยที่ ๑๑ ก็เบิกความทำนองเดียวกันว่า หลังจากถูกฟ้องแล้วได้เรียกนายอุดม อารีราษฎร์ มาสอบถามจึงทราบว่าจำเลยที่ ๙ ตกลงรับจ้างทำแม่พิมพ์รายนี้ตามสัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย ล.๑๑ ในสัญญาฉบับนี้นายนิรันดร์ลงชื่อในช่องผู้สั่งจ้าง ส่วนนายอุดมซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายผลิตของจำเลยที่ ๙ ลงชื่อในช่องผู้รับจ้างข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ ๑๑ ไม่ได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วยกับการกระทำของจำเลยที่ ๙ จำเลยที่ ๑๑ จึงไม่มีความผิด สำหรับจำเลยที่ ๑๗ ถึงที่ ๑๙ ข้อเท็จจริงได้ความชัดแจ้งว่า จำเลยที่ ๑๗ และที่ ๑๘ ได้ลงนามในสัญญารับจ้างจัดจำหน่ายหนังสือ “ร้อนเสน่หา นางฟ้านุ่งลม” แทนจำเลยที่ ๑๕ โดยมีจำเลยที่ ๑๙ ลงชื่อเป็นพยานตามเอกสารหมาย ล.๒๔ จึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ ๑๗ ถึงที่ ๑๙ รู้เห็นหรือยินยอมด้วยในการกระทำผิดของจำเลยที่ ๑๕ จึงถือว่าจำเลยที่ ๑๗ ถึงที่ ๑๙ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ ๑๕
อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางปรับบทลงโทษจำเลยที่ ๑ ที่ ๙ ที่ ๑๕ และที่ ๑๗ ถึงที่ ๑๙ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๒๗, ๓๑, ๖๙, ๗๐, ๗๔, ๗๕, ๗๖ และ ๗๘ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ โดยวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท และให้ลงโทษฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ นั้น เห็นว่า เป็นการปรับบทมาตราที่บางมาตรามิใช่บทกำหนดความผิดและกำหนดโทษ และมิได้ระบุวรรคให้ถูกต้อง นอกจากนี้จำเลยที่ ๑ ที่ ๙ และที่ ๑๕ ต่างเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดแยกจากกัน แม้จะได้ความว่าเป็นบริษัทจำกัดในเครือเดียวกันหรือมีการถือหุ้นไขว้กันก็มิได้หมายความว่าจะต้องมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดด้วย เมื่อข้อเท็จจริงในทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ด้วยการพิมพ์หนังสือ “ร้อนเสน่หานางฟ้านุ่งลม” ขึ้นโดยใช้แม่พิมพ์ ซึ่งจำเลยที่ ๙ เป็นผู้จัดทำขึ้นในการพิมพ์หนังสือนี้และหนังสือที่พิมพ์ออกมามีข้อความระบุชื่อจำเลยที่ ๑ เป็นผู้พิมพ์ และจำเลยที่ ๙เป็นผู้ทำแม่พิมพ์ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๙ ได้แบ่งหน้าที่กันทำงานในส่วนของตน โดยรู้ถึงการกระทำของกันและกันตามที่ระบุไว้ในแม่พิมพ์และหนังสือดังกล่าวเพื่อให้การพิมพ์หนังสือนี้สำเร็จลง จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๙ มีเจตนาร่วมกระทำผิดด้วยการทำซ้ำงานดังกล่าวด้วยกัน ส่วนจำเลยที่ ๑๕ ปรากฏเพียงว่าเป็นผู้รับจ้างจากบริษัท ๒๒๒ วิภาวดี จำกัด ให้ทำงานจัดจำหน่ายซึ่งเป็นความผิดฐานเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์ต่อสาธารณชนโดยเฉพาะเท่านั้นอันเป็นความผิดคนละส่วนกันโดยไม่ปรากฏเลยว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๙ กับจำเลยที่ ๑๕ มีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดคดีนี้ การกระทำของจำเลยที่ ๑ กับที่ ๙ และการกระทำของจำเลยที่ ๑๕จึงเป็นความผิดเฉพาะในส่วนของแต่ละฝ่ายเท่านั้นกล่าวคือ จำเลยที่ ๑ และที่ ๙มีความผิดฐานร่วมกันทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยการจัดพิมพ์หนังสืออันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้า ส่วนจำเลยที่ ๑๕ มีความผิดฐานเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไรและเพื่อการค้า โดยจำเลยที่ ๑๗ถึงที่ ๑๙ ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ ๑๕ ด้วย ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้แม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๙ มีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๒๗ (๑), ๖๙ วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ จำเลยที่ ๑๕ และที่ ๑๗ ถึงที่ ๑๙ มีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๓๑ (๒), ๗๐ วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ และให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๑๑ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง.

Share