คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6992/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

กรณีที่รถยนต์เกิดชนกัน ม. และจำเลยได้ทำบันทึกตกลงต่อหน้าพนักงานสอบสวนว่าแต่ละฝ่ายจะนำรถของตนไปซ่อมเอง และไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายกันอีกต่อไป การที่ ม. และจำเลยตกลงกันดังกล่าวเพราะเหตุที่รถมีประกันแสดงว่า ม. เจ้าของรถยังมีความประสงค์ที่จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่รถของตนได้รับโดยให้ผู้รับประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบ จึงไม่เป็นข้อตกลงในการระงับข้อพิพาทให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตามลักษณะของสัญญาประนีประนอมยอมความ เพราะข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้ทำให้การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสิ้นสุดลงและไม่ใช่การสละสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน เป็นแต่เพียงการเปลี่ยนตัวผู้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องเท่านั้น เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยได้จัดการซ่อมรถคันที่เอาประกันภัย โจทก์จึงได้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้ชดใช้ไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
เหตุที่รถชนกันเกิดความเสียหายครั้งนี้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของทั้งจำเลยและ ม. ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ม. จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย และโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถของ ม. ย่อมไม่สามารถรับช่วงสิทธิจาก ม. เรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 95,234.62 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 91,100 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และเป็นผู้รับประกันวินาศภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน7 ว – 4269 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นรถของนายมงคล สุนทรียาอาภรณ์ ส่วนจำเลยเป็นเจ้าของรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน น – 6019 ชัยนาท เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2537เวลาประมาณ 12.40 นาฬิกา นายมงคลและจำเลยต่างขับรถของตนไปตามถนนพหลโยธิน โดยนายมงคลขับรถจากทางจังหวัดนครสวรรค์มุ่งหน้าไปทางจังหวัดชัยนาทส่วนจำเลยขับรถมาจากจังหวัดชัยนาท เมื่อถึงบริเวณที่เกิดเหตุสี่แยกมโนรมย์ หมู่ 4ตำบลคุ้งสำเภา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท จำเลยขับรถเลี้ยวขวาเข้าถนนสายมโนรมย์ – หางน้ำสาคร เพื่อมุ่งหน้าไปทางตำบลหางน้ำสาคร รถยนต์ทั้งสองคันเกิดชนกันได้รับความเสียหาย หลังเกิดเหตุทั้งสองพากันไปที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอมโนรมย์เพื่อตกลงกันในเรื่องค่าเสียหายต่อหน้าพนักงานสอบสวน โดยคู่กรณีตกลงกันให้แต่ละฝ่ายนำรถของตนไปซ่อมเอง คู่กรณีพอใจและไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อไปตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย ล.1

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์ผู้รับประกันภัยในฐานะผู้รับช่วงสิทธิของนายมงคลจะเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่า กรณีที่รถยนต์เกิดชนกันในครั้งนี้นายมงคลและจำเลยได้ทำบันทึกตกลงกันต่อหน้าพนักงานสอบสวนว่าแต่ละฝ่ายจะนำรถของตนไปซ่อมเอง โดยนายมงคลจะให้บริษัทนำสินประกันภัย จำกัดซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 7 ว – 4269 กรุงเทพมหานคร รับไปดำเนินการ ส่วนนายย้อนจะนำรถของตนเองไปซ่อมเอง และไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกันอีกต่อไป การที่นายมงคลและจำเลยตกลงกันดังกล่าวเพราะเหตุที่รถมีประกันภัยแสดงว่านายมงคลเจ้าของรถยังมีความประสงค์ที่จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่รถของตนได้รับโดยให้ผู้รับประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบ เพียงแต่เจ้าของรถไม่ต้องดำเนินการในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนด้วยตนเองเท่านั้น จึงไม่เป็นข้อตกลงในการระงับข้อพิพาทให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตามลักษณะของสัญญาประนีประนอมยอมความ เพราะข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้ทำให้การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสิ้นสุดลง และไม่ใช่การสละสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน เป็นแต่เพียงการเปลี่ยนตัวผู้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องเท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าเจ้าของรถสละสิทธิเรียกร้องในการที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยได้จัดการซ่อมรถคันหมายเลขทะเบียน 7 ว – 4269 กรุงเทพมหานคร อันเป็นการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย และไม่ปรากฏว่าโจทก์หรือตัวแทนได้ลงชื่อร่วมตกลงด้วยแต่อย่างใด โจทก์ซึ่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยสุจริตจึงไม่ทำให้การรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยต้องเสียไป โจทก์จึงได้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้ชดใช้ไปโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น

สำหรับปัญหาที่ว่าเหตุรถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยหรือไม่และโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้หรือไม่ เพียงใด ปัญหานี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังไม่ได้วินิจฉัยนั้น และถึงแม้คดีนี้จะมีทุนทรัพย์ไม่เกินสองแสนบาทซึ่งต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงก็ตาม ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย ปัญหาเรื่องเหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทของจำเลยหรือไม่นี้ โจทก์มีนายมงคล สุนทรียาอาภรณ์ เบิกความเป็นพยานว่า ในวันเกิดเหตุพยานขับรถไปตามถนนพหลโยธินจากทางจังหวัดนครสวรรค์มุ่งหน้าไปทางจังหวัดชัยนาทโดยใช้ความเร็วประมาณ 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก่อนถึงสี่แยกที่เกิดเหตุพยานขับรถแซงรถคันที่อยู่ข้างหน้าโดยแล่นแซงออกมาทางด้านขวามือระหว่างนั้นพยานเห็นมีรถยนต์แล่นสวมมาจึงหักรถกลับเข้าช่องเดินรถเดิม พยานจำไม่ได้แล้วว่าขณะเกิดเหตุมีรถแล่นตัดหน้าหรือไม่ เนื่องจากเหตุเกิดมาเกือบ 2 ปีแล้ว รถที่พยานขับชนรถของจำเลยตรงประตูด้านซ้าย ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยเป็นพยานเบิกความว่าก่อนจำเลยขับรถถึงสี่แยกที่เกิดเหตุประมาณ 50 เมตร จำเลยชะลอความเร็วรถลงเหลือ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและเปิดไฟเลี้ยวขวาเพื่อที่จะเลี้ยวขวาไปทางตำบลหางน้ำสาครขณะนั้นจำเลยเห็นรถยนต์คันหนึ่งแล่นสวนทางมาโดยอยู่ห่างประมาณ 200 เมตร ซึ่งจำเลยเห็นว่าระยะดังกล่าวจำเลยสามารถที่จะเลี้ยวรถไปทางขวาได้อย่างปลอดภัยจำเลยจึงเลี้ยวรถไปทางขวาผ่านเกือบสุดทางของช่องทางรถที่แล่นสวนมา ขณะนั้นมีรถยนต์คันอื่นแล่นเลี้ยวขวาตามมาด้วย เป็นเหตุให้รถยนต์คันที่แล่นสวนทางมาเสียหลักพุ่งชนรถที่จำเลยขับบริเวณประตูด้านซ้าย ตามแผนที่เกิดเหตุเอกสารหมาย ล.2 เห็นว่าจำเลยซึ่งขับรถจะเลี้ยวขวาในทางร่วมทางแยกมีหน้าที่ต้องให้รถที่สวนมาในทางเดินรถทางเดียวกันผ่านทางร่วมทางแยกไปก่อนเมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงให้เลี้ยวขวาไปได้ ดังนั้น การที่จำเลยขับรถเลี้ยวขวาไปในสี่แยกที่เกิดเหตุแล้วถูกรถคันที่นายมงคลขับซึ่งเป็นรถทางตรงที่แล่นสวนทางมาพุ่งชนในขณะที่รถคันที่จำเลยขับยังเลี้ยวไม่พ้นทางแยกแสดงว่าขณะจำเลยขับรถเลี้ยวขวานั้นรถที่นายมงคลขับแล่นมาใกล้จะถึงสี่แยกที่เกิดเหตุแล้วไม่ใช่อยู่ห่างออกไปประมาณ 200 เมตร ดังที่จำเลยเบิกความมิฉะนั้นแล้วรถของจำเลยก็จะสามารถแล่นเลี้ยวขวาพ้นทางแยกไปก่อนที่รถของนายมงคลจะแล่นถึงสี่แยกที่เกิดเหตุ เหตุรถชนกันครั้งนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น เห็นได้ว่าจำเลยซึ่งขับรถจะเลี้ยวขวาในทางแยกมิได้ใช้ความระมัดระวังรอให้รถที่นายมงคลขับแล่นผ่านไปก่อนจึงจะขับรถเลี้ยวขวาไป เหตุรถชนกันครั้งนี้จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย อย่างไรก็ตาม การที่นายมงคลขับรถด้วยความเร็วสูงถึง 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และได้ความจากรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งพนักงานสอบสวนจัดทำขึ้นว่าจากการตรวจสถานที่เกิดเหตุพบรอยเบรกของรถคันที่นายมงคลขับมีความยาวถึง27 เมตร จากจุดที่รถชนกันถึงจุดเริ่มต้นเบรก แสดงว่าขณะที่นายมงคลขับรถจะถึงสี่แยกที่เกิดเหตุก็ใช้ความเร็วสูงโดยมิได้ชะลอความเร็วของรถลง ทั้งข้อเท็จจริงยังได้ความจากคำเบิกความของนายมงคลพยานโจทก์ ตัวจำเลยและนายเฉลียว เพียรงานพยานจำเลยซึ่งนั่งมาในรถของจำเลยในขณะเกิดเหตุว่า ขณะนายมงคลขับรถจะถึงสี่แยกที่เกิดเหตุได้ขับรถแซงรถคันหน้าและเมื่อเห็นว่ามีรถแล่นสวนทางมาจึงหักรถกลับเข้าช่องทางเดินรถเดิมเป็นเหตุให้รถคันดังกล่าวพุ่งชนรถของจำเลย เหตุรถชนจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายมงคลด้วยซึ่งเมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงของความประมาทเลินเล่อของจำเลยและนายมงคลที่ก่อให้เกิดความเสียหายอันจะเป็นผลในการกำหนดความรับผิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 223 วรรคแรก ประกอบมาตรา 442 แล้ว เห็นว่า เหตุที่รถชนกันเกิดความเสียหายครั้งนี้เกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของทั้งจำเลยและนายมงคลไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเมื่อเป็นดังนี้ นายมงคลจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย และโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถของนายมงคลย่อมไม่สามารถรับช่วงสิทธิจากนายมงคลเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share