คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6985/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การแสดงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญตาม ป.วิ.พ. มาตรา 130 นั้น อาจแสดงความเห็นด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ แล้วแต่ศาลจะต้องการหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดเรียกร้อง เมื่อไม่ปรากฏว่ามีคู่ความฝ่ายใดเรียกร้องให้ศาลเรียกผู้เชี่ยวชาญมาศาลเพื่ออธิบายด้วยวาจา ศาลย่อมรับฟังความเห็นเป็นหนังสือของผู้เชี่ยวชาญเป็นพยานหลักฐานประกอบคดีได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 165,000 บาท มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 226,875 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 165,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ลายมือชื่อดังกล่าวเป็นลายมือชื่อปลอม จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 165,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2542 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 15 พฤษภาคม 2545) ต้องไม่เกิน 61,875 บาท กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาฟังได้เป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ไปจำนวน 165,000 บาท ตามสัญญากู้ยืมเงิน แล้วยังไม่ได้นำต้นเงินและดอกเบี้ยไปชำระแก่โจทก์ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่ พยานโจทก์มีตัวโจทก์และนางสาวทองล้วน น้องสาวโจทก์เบิกความได้ความตรงกันว่าสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันทำที่บ้านของจำเลยทั้งสอง ขณะทำสัญญามีจำเลยทั้งสองกับโจทก์และน้องสาวของโจทก์อยู่ด้วยกัน 4 คน จำเลยที่ 1 เป็นคนเขียนสัญญากู้ยืมเงินแล้วลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ โจทก์ลงลายมือชื่อในช่องผู้ให้กู้ มีนางสาวทองล้วนและจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญา ในวันเดียวกันจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 เป็นคนเขียนสัญญาค้ำประกัน หลังจากเขียนแล้วก็เรียกจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นมารดามาลงลายมือชื่อ แต่เมื่อพิเคราะห์สัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันแล้ว จะเห็นได้ชัดว่าลายมือชื่อที่โจทก์อ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 2 ชื่อลงไว้ในช่องพยานของสัญญากู้ยืมเงินและในช่องผู้ค้ำประกันของสัญญาค้ำประกัน มีสีน้ำหมึกเป็นสีน้ำเงินที่จางและเส้นน้ำหมึกที่เล็กกว่าสีน้ำหมึกและเส้นน้ำหมึกของลายมือชื่อโจทก์ จำเลยที่ 1 และนางทองล้วนรวมทั้งข้อความอื่นในสัญญา บ่งชี้ให้เห็นชัดว่าเป็นการใช้ปากกาคนละด้ามกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสีน้ำหมึกของลายมือชื่อจำเลยที่ 2 กับนายสนั่น สามีของจำเลยที่ 1 ในสัญญาทั้งสองฉบับเป็นสีเดียวกันและข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ที่ตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่า ขณะทำสัญญาสามีของจำเลยที่ 1 และสามีของจำเลยที่ 2 ไม่อยู่บ้าน เพราะออกไปทำงานนอกบ้านแสดงว่าในสัญญาทั้งสองฉบับที่มีชื่อนายสนั่นและนายดำ เป็นพยานนั้นเป็นการมาลงลายมือชื่อกันในภายหลัง จึงน่าเชื่อว่าได้มีการนำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันมาลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ในภายหลังเช่นกัน พยานหลักฐานของโจทก์ที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 อยู่ด้วยในขณะทำสัญญากู้ยืมเงินและได้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันในวันเดียวกันหลังจากที่จำเลยที่ 1 เขียนสัญญาเสร็จ จึงมีพิรุธไม่น่ารับฟังประกอบกับจำเลยที่ 2 ก็นำสืบปฏิเสธว่าไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกัน ทั้งในชั้นพิจารณาก็ได้ขอส่งเอกสารดังกล่าวพร้อมตัวอย่างลายมือชื่อที่เขียนขึ้นต่อหน้าศาลไปตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบยังกองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจากการตรวจพิสูจน์ผู้เชี่ยวชาญก็ลงความเห็นว่าไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกันตามรายงานการตรวจพิสูจน์พร้อมภาพแสดงประกอบรายงานการตรวจพิสูจน์ ซึ่งศาลฎีกาได้นำมาพิจารณาดูแล้วก็เห็นด้วยกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว จึงเชื่อได้ว่าลายมือชื่อในช่องผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ที่โจทก์ฎีกาว่า การตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญไม่มีการนำลายมือชื่อที่เขียนโดยปกติในระยะเวลาใกล้เคียงกับวันทำสัญญาส่งไปตรวจพิสูจน์ จำเลยที่ 2 อาจลงตัวอย่างลายมือชื่อให้ผิดเพี้ยนแปลกไปจากเดิมที่เคยลงลายมือชื่อไว้ได้ และผู้เชี่ยวชาญก็มิได้รู้เห็นการทำสัญญาค้ำประกัน เป็นเพียงพยานผู้ให้ความเห็นตามหลักวิชาการต่อศาล มิใช่การวินิจฉัยชี้ขาดคดีแทนศาล ทั้งจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้นำผู้เชี่ยวชาญมาเบิกความให้โจทก์ได้มีโอกาสถามค้าน จึงไม่อาจรับฟังได้มากไปกว่าพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ของโจทก์นั้น เห็นว่า ในการส่งตัวอย่างลายมือชื่อของจำเลย ที่ 2 ไปตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบนั้นได้ให้จำเลยที่ 2 ลงตัวอย่างลายมือชื่อไว้ถึง 6 หน้ากระดาษ ซึ่งย่อมเป็นการยากที่จำเลยที่ 2 จะลงลายมือชื่อให้ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงได้เหมือนกันโดยตลอดทุกแผ่น ทั้งในคดีนี้ศาลฎีกาก็มิได้ถือความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในการตรวจพิสูจน์มาตัดสินเป็นข้อแพ้ชนะเสียทีเดียว แต่ได้นำเอาความคิดเห็นตามหลักวิชาการของผู้เชี่ยวชาญมารับฟังประกอบกับพยานหลักฐานอื่น ทั้งยังได้นำตัวอย่างลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 กับลายมือชื่อของผู้ค้ำประกันที่ลงไว้ในสัญญาค้ำประกันมาตรวจเปรียบเทียบดูด้วยตาเปล่า ซึ่งก็เห็นได้ว่ามีลักษณะแตกต่างกันอีกด้วย ส่วนการแสดงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 130 ก็บัญญัติให้ผู้เชี่ยวชาญอาจแสดงความเห็นด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ แล้วแต่ศาลจะต้องการหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดเรียกร้องดังนี้เมื่อไม่ปรากฏว่ามีคู่ความฝ่ายใดเรียกร้องให้ศาลเรียกผู้เชี่ยวชาญมาศาลเพื่ออธิบายด้วยวาจา ศาลย่อมรับฟังความเห็นเป็นหนังสือของผู้เชี่ยวชาญเป็นพยานหลักฐานประกอบคดีได้ มิใช่เรื่องที่ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาผิดพลาดหรือไม่ถูกต้องแต่อย่างใด เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันในสัญญาค้ำประกันตามฟ้อง โจทก์จึงไม่มีสิทธินำสัญญาค้ำประกันมาเรียกร้องจากจำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share