คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6830/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การกู้ยืมเงินกฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 และตามมาตรา 193/12 บัญญัติว่า “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป” จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2539 ตามหนังสือสัญญากู้เงิน ข้อ 4 กำหนดให้จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทุกเดือน ซึ่งจะครบกำหนดชำระดอกเบี้ยเดือนแรกในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 การที่จำเลยไม่ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์จึงเป็นการผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกเงินต้นและดอกเบี้ยได้ทันทีตามสัญญาข้อ 6 โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของตนได้ ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2539 เป็นต้นไป โดยไม่จำต้องรอจนครบกำหนดชำระเงินคืนตามสัญญา อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าว ซึ่งจะครบกำหนดอายุความ 10 ปี ในวันที่ 10 มิถุนายน 2549 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2550 เกินกว่า 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 90,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 90,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 เมษายน 2550) จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2539 จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ 90,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุกวันที่ 9 ของเดือน และต้องชำระต้นเงินคืนในวันที่ 9 พฤษภาคม 2540 ตามหนังสือสัญญากู้เงิน หลังจากทำสัญญาจำเลยไม่เคยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2550
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า ตามหนังสือสัญญากู้เงิน กำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยเดือนละครั้ง และจะต้องชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2540 เมื่อจำเลยผิดสัญญา โจทก์จึงอาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2539 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2550 เกินกว่า 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ เห็นว่า การกู้ยืมเงินกฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 และตามมาตรา 193/12 บัญญัติว่า “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป” จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2539 ตามหนังสือสัญญากู้เงิน ข้อ 4 กำหนดให้จำเลยจะต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทุกเดือน ซึ่งจะครบกำหนดชำระดอกเบี้ยเดือนแรกในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 การที่จำเลยไม่ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์จึงเป็นการผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกเงินต้นและดอกเบี้ยได้ทันทีตามสัญญาข้อ 6 โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของตนได้ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2539 เป็นต้นไป โดยไม่จำต้องรอจนครบกำหนดชำระเงินคืนตามสัญญา อายุความจึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าว ซึ่งจะครบกำหนดอายุความ 10 ปี ในวันที่ 10 มิถุนายน 2549 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2550 เกินกว่า 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลฎีกาให้เป็นพับ

Share