คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6980/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

วันที่ 3 ธันวาคม 2546 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ในวงเงินคนละ 250,000 บาท วันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 มีผลใช้บังคับ ซึ่งกำหนดให้นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานด้วยการค้ำประกันด้วยบุคคลไม่เกิน 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ย หากมีการค้ำประกันเกินกำหนดดังกล่าวให้นายจ้างดำเนินการให้มีหลักประกันใหม่ไม่เกินจำนวนตามที่กำหนด ต่อมาโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันการทำงาน วันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลางโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมชำระหนี้ให้โจทก์คนละ 250,000 บาท ศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอม
การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามสัญญาค้ำประกันการทำงานระงับสิ้นไป และทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850, 852 สัญญาประนีประนอมยอมความทำขึ้นหลังจากที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 1 แล้ว ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 สัญญาประนีประนอมยอมความจึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกจ้างรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เบียดบังเอาเงินค่าสินค้าและสินค้าของโจทก์เป็นเงิน 1,389,800.46 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานคนละ 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัด
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมชำระหนี้ให้โจทก์คนละ 250,000 บาท ศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอม
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 1,389,800.46 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2551 เป็นต้นไป จนกว่าจะเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 95,548 บาท
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีว่าสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 ไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 และที่ 3 เนื่องจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2546 ในวงเงินคนละ 250,000 บาท คนละฉบับ แต่ต่อมาได้มีประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ. 2551 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติ พ.ศ.2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 กำหนดให้นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานด้วยการค้ำประกันด้วยบุคคลได้ไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ย หากมีการค้ำประกันเกินกำหนดดังกล่าวก่อนวันประกาศใช้บังคับ ให้นายจ้างดำเนินการให้มีหลักประกันใหม่ไม่เกินจำนวนตามที่กำหนดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ แต่โจทก์ไม่ได้ดำเนินการอย่างใด การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอมโดยมิได้พิจารณาข้อเท็จจริงเสียก่อนว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าวหรือไม่ ดังนั้นสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงฝ่าฝืนต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เห็นว่า แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2546 อันเป็นเวลาก่อนจะมีประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ก็ตาม แต่ต่อมาเมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันการทำงาน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 และศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอมในวันเดียวกัน อันเป็นเวลาภายหลังจากที่ประกาศกระทรวงแรงงานฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามสัญญาค้ำประกันการทำงานระงับสิ้นไปและทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 อีกทั้งสัญญาประนีประนอมยอมความไม่มีลักษณะเป็นสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป เพราะทำขึ้นหลังจากที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 1 แล้ว สัญญาประนีประนอมยอมความจึงใช้บังคับได้ ไม่ตกอยู่ภายใต้ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ. 2551 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share