คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 698/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะไม่ได้ส่งสำเนาเอกสารทั้งหมดหรือบางส่วนโดยเฉพาะด้านหลังเช็คที่มีลายมือชื่อของจำเลยที่ 3 สลักหลังไว้ให้แก่จำเลยที่ 3 ก่อนวันสืบพยานตามที่ระบุไว้ในมาตรา 90(เดิม) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ก็ตาม แต่กฎหมายดังกล่าวมิได้บังคับโดยเด็ดขาดตายตัว หากเอกสารที่อ้างนั้นเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลมีอำนาจรับฟังเอกสารนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2) ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวก็เป็นข้อแสดงให้เห็นว่าเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม แม้จะฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90(เดิม) ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คให้ใช้เงินแก่ผู้ถือจำนวน 6 ฉบับ รวมจำนวนเงินทั้งสิ้น 187,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลังเช็คทั้งหกฉบับ และมีจำเลยที่ 3เป็นผู้สลักหลังเฉพาะเช็คฉบับที่ 1 ถึงฉบับที่ 4 จำเลยทั้งสามนำเช็คทั้งหกฉบับมาแลกเงินสดไปจากโจทก์ เมื่อเช็คทั้งหกฉบับถึงกำหนดชำระเงินโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้ โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสามแล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 187,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 122,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
โจทก์ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่เคยสลักหลังเช็คฉบับที่ 1ถึงฉบับที่ 4 ตามที่โจทก์นำมาฟ้องและไม่เคยนำเช็คทั้งหกฉบับตามฟ้องไปแลกเงินสดจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์จำนวน198,189 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน187,000 บาท นับถัดจากวันที่ 16 มีนาคม 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 3 ร่วมกันกับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระเงินให้โจทก์ในยอดหนี้จำนวน 129,412 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 122,000 บาท นับถัดจากวันที่ 16 มีนาคม 2532เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ 3ว่า การที่ศาลชั้นต้นรับฟังเอกสารที่โจทก์มิได้นำส่งสำเนาเอกสารให้แก่จำเลยที่ 3 ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วัน เป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 3รับผิดตามเช็ค โดยอ้างว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้สลักหลังเช็คตามเอกสารหมาย จ.2, จ.4, จ.6 และ จ.8 ซึ่งโจทก์ได้ยื่นบัญชีพยานระบุอ้างเช็คทั้งสี่ฉบับเป็นพยานแล้ว แต่โจทก์ไม่ได้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวโดยเฉพาะด้านหลังเช็คที่มีลายมือชื่อของจำเลยที่ 3สลักหลังไว้ ให้จำเลยที่ 3 ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 (เดิม) คงส่งเฉพาะแต่ภาพถ่ายด้านหน้าของเช็คและใบคืนเช็คเท่านั้น เมื่อโจทก์นำพยานเข้าสืบโจทก์ได้อ้างและส่งต้นฉบับเอกสารดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดชำระเงินตามเช็คดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่าแม้โจทก์จะไม่ได้ส่งสำเนาเอกสารทั้งหมดหรือบางส่วนให้แก่จำเลยที่ 3ก่อนวันสืบพยานตามที่ระบุไว้ในมาตรา 90 (เดิม) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งก็ตาม แต่กฎหมายดังกล่าวมิได้บังคับโดยเด็ดขาดตายตัว หากเอกสารที่อ้างนั้นเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลมีอำนาจรับฟังเอกสารนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 87(2) ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวก็เป็นข้อแสดงให้เห็นว่าเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม แม้จะฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 90 (เดิม) ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้
พิพากษายืน

Share