คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1423/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา เมื่อศาลฎีกายกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 และฟังว่า การกระทำของจำเลยที่ 3 ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แม้จำเลยที่ 3 มิได้ฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ได้ เพราะเป็นเหตุในลักษณะคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213,225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันลักด้ายหลอด 18 กระสอบจำนวน 288 ลูก ราคา 28,800 บาท ของผู้เสียหายไปโดยทุจริตในการลักทรัพย์ดังกล่าว จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้รถยนต์บรรทุกเป็นยานพาหนะ เพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดและการพาทรัพย์นั้นไปขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 336 ทวิ, 83
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7)(11) วรรคสามประกอบมาตรา 336 ทวิ จำคุกคนละ 6 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ 4และที่ 5
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7) วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 336 ทวิ จำคุก 4 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เหตุครั้งนี้น่าเชื่อว่าเกิดเพราะความเร่งรีบ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงทำงานผิดพลาด ไม่น่าจะมีเจตนาลักทรัพย์ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังมีข้อที่น่าสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องจริงหรือไม่จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสองเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขนกระสอบด้ายของกลางจำนวน 18 กระสอบ ขึ้นบรรทุกบนรถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ 3ขับนั้น ไม่มีเจตนาที่จะลักทรัพย์ การที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเพียงผู้มีหน้าที่ขับรถได้ขับรถยนต์บรรทุกนั้นออกไปจอดรออยู่หน้าสำนักงานของผู้เสียหาย โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 3ได้ทราบว่ามีกระสอบด้ายของกลางส่วนที่เกินบรรทุกมาด้วย การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง และเป็นเหตุในลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 3 มิได้ฎีกามา ศาลฎีกาก็พิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213,225 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีความผิดและลงโทษมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1และที่ 2 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share