คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5215/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมิได้เป็นลูกจ้างของผู้เสียหาย แม้จำเลยร่วมกับ น. ซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายลักทรัพย์ของผู้เสียหายก็ตาม จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างตาม ป.อ. มาตรา 335 (11) ทั้งนี้เพราะความเป็นลูกจ้างเป็นเหตุเฉพาะตัวของ น. จึงไม่มีผลไปถึงจำเลยด้วย ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 335, 336 ทวิ ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายเป็นเงิน 76,500 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (11) วรรคสอง, 336 ทวิ, 83 จำคุก 3 ปี และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ร่วมกับนายนวรัตน์ จำนวน 25,500 บาท แก่ผู้เสียหาย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2553 เวลา 7.30 นาฬิกา ถึง 8.30 นาฬิกา จำเลยขับรถยนต์บรรทุกหกล้อไปบรรทุกถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร ซึ่งมีน้ำมันที่ใช้ในกระบวนการผลิตถุงพลาสติกบรรจุอยู่เต็มถัง 30 ถัง จากบริษัทไลอ้อน เอเซีย (ไทยแลนด์) จำกัด ไปส่งให้แก่บริษัทอุตสาหกรรมถุงพลาสติกไทย จำกัด ผู้เสียหาย มีนายนวรัตน์ จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5536/2553 ของศาลชั้นต้น ลูกจ้างของผู้เสียหายเป็นผู้ตรวจรับสินค้า และจำเลยรับถังน้ำมันเปล่าคืนไป 30 ถัง ในวันดังกล่าวผู้เสียหายตรวจพบว่าน้ำมันที่จำเลยนำมาส่งขาดไป 5 ถัง สอบถามนายนวรัตน์แล้วรับว่าได้ลักน้ำมันดังกล่าวไป ผู้เสียหายจึงร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่นายนวรัตน์ ต่อมานายนวรัตน์ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหาย นายนวรัตน์ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษไปแล้ว และโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า จำเลยร่วมกระทำความผิดกับนายนวรัตน์ตามฟ้องข้อ 1 ค. หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์ขณะมีการลักทรัพย์มาเบิกความ แต่จากพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมานับแต่เวลาที่จำเลยขับรถนำถังน้ำมันไปส่งมอบให้นายนวรัตน์ตรวจรับที่บริษัทผู้เสียหาย จนกระทั่งจำเลยขับรถกลับออกมาจากบริษัทผู้เสียหาย ไม่ปรากฏว่านอกจากจำเลยเด็กติดรถของจำเลยและนายนวรัตน์แล้วมีบุคคลอื่นเข้าเกี่ยวข้องอีก พฤติการณ์ฟังได้ว่า ในวันเกิดเหตุตามฟ้องข้อ 1 ค. จำเลยร่วมกับนายนวรัตน์ลักทรัพย์ของผู้เสียหายโดยใช้ยานพาหนะ ที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า วันเกิดเหตุหลังจากจำเลยส่งถังน้ำยาเคมีจำนวน 30 ถัง ให้แก่ผู้เสียหายจนครบแล้ว จำเลยไปติดต่อพนักงานรักษาความปลอดภัย แล้วพนักงานรักษาความปลอดภัยได้ขึ้นไปดูที่ท้ายรถของจำเลยโดยชะโงกศีรษะขึ้นมาดูกับรวมทั้งได้จับถังที่ท้ายรถด้วยนั้น พยานหลักฐานของจำเลยที่นำสืบมาจึงไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง จำเลยมิได้เป็นลูกจ้างของผู้เสียหาย แม้จำเลยร่วมกับนายนวรัตน์ซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายลักทรัพย์ของผู้เสียหายก็ตาม จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) ทั้งนี้เพราะความเป็นลูกจ้างของนายนวรัตน์เป็นเหตุเฉพาะตัวของนายนวรัตน์ จึงมิได้มีผลไปถึงจำเลยด้วย ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 จำคุก 2 ปี และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ร่วมกับนายเนาวรัตน์ จำนวน 25,500 บาท แก่ผู้เสียหาย ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

Share