คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 697/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นวัดในพระพุทธศาสนา ตราบใดที่ยังมิได้มีพระราชบัญญัติให้โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ของโจทก์ แม้จำเลยจะครอบครองที่ดินพิพาทมานานเท่าใด จำเลยก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง ทั้งไม่อาจยกระยะเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 ขึ้นเป็นข้อโต้แย้งกับโจทก์ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย และโจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นวัดในพระพุทธศาสนาซึ่งตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 บัญญัติว่า “ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติและห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่วัดและที่ธรณีสงฆ์” ดังนั้น ตราบใดที่ยังมิได้มีพระราชบัญญัติให้โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ของวัดรายนี้ แม้จำเลยจะครอบครองที่ดินพิพาทมานานเท่าใด จำเลยก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง ทั้งไม่อาจยกระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ขึ้นเป็นข้อโต้แย้งกับวัดได้ สำหรับปัญหาเรื่องค่าเสียหายนั้นได้ความว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 1 ไร่ 17 ตารางวา โจทก์ขอค่าเสียหายมาในอัตราไร่ละ 150 บาทต่อปี จำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้าน เห็นว่าค่าเสียหายดังกล่าวมีจำนวนพอสมควรแล้ว ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องของโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์.

Share