คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 697/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่ดินมี ส.ค.1 ของโจทก์ซึ่งเป็นวัดในพุทธศาสนาตามพระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติและห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัด ดังนั้น แม้จำเลยจะครอบครองที่ดินพิพาทมานานเท่าใด จำเลยก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง ทั้งไม่อาจยกระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ขึ้นเป็นข้อโต้แย้งกับวัดได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นวัดในพระพุทธศาสนา เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เดิมโจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 8 มีเนื้อที่จำนวน 19 ไร่ 2 งาน 25 ตารางวา อาณาเขตด้านทิศเหนือจดที่ดินของจำเลยพระครูอภัยศีลคุณเจ้าอาวาสซึ่งเป็นผู้แทนโจทก์ได้ยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อทำการรังวัดออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าว เจ้าพนักงานที่ดินได้ตรวจสอบรังวัดแล้วปรากฏว่า ที่ดินของโจทก์ที่มีอยู่จริงเพียง 11 ไร่ 3 งาน 21 ตารางวา จำเลยได้คัดค้านว่า ที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์ด้านทิศเหนือส่วนที่ติดกับที่ดินของจำเลยทางด้านทิศใต้ เนื้อที่ 1 ไร่ 17 ตารางวาเป็นที่ดินของจำเลยซึ่งได้ทำประโยชน์ต่อเนื่องมาประมาณ 20 ปีแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิในการขอรังวัดออกโฉนดที่ดินเฉพาะส่วนดังกล่าวโจทก์จึงขอให้เจ้าพนักงานที่ดินกันส่วนที่ดินที่มีการโต้แย้งคัดค้านออก แล้วออกโฉนดส่วนอื่นไปก่อน คือเฉพาะส่วนที่ไม่ได้พิพาท ซึ่งทำให้โจทก์ได้ที่ดินน้อยกว่าที่มีอยู่จริง 1 ไร่ 17ตารางวา ขอให้พิพากษาว่าที่ดินบริเวณพื้นที่สีแดงตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 8 เนื้อที่ 1 ไร่ 17 ตารางวา เป็นที่ดินของโจทก์ และห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เนื้อที่ที่โจทก์ว่าขาดไป 1 ไร่ 17 ตารางวานั้น ไม่เป็นความจริง เพราะที่ดินพิพาทที่โจทก์ว่าเป็นที่ว่างนั้นเป็นทางสาธารณะมีลักษณะเป็นถนนลูกรังซึ่งเดิมทางสาธารณะดังกล่าวเป็นที่ดินของจำเลยและบิดาจำเลยมาก่อน โจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือของจำเลยนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าที่ดินของโจทก์อยู่ติดกับที่ดินของจำเลย ขณะเกิดเหตุที่ดินของจำเลยมีโฉนดที่ดินเป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้ว ส่วนที่ดินของโจทก์ในขณะนั้นมีเพียง ส.ค.1 เท่านั้น เห็นว่า ถ้าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของจำเลยจริงตามที่จำเลยนำสืบความข้อนี้ก็อาจตรวจพิสูจน์ได้โดยไม่ยาก กล่าวคือ จำเลยอาจร้องขอให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินของจำเลยดูก็จะทำให้รู้ได้ว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของจำเลยจริงหรือไม่ การที่จำเลยไม่ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดสอบเขตดังกล่าว แต่กลับนำพยานบุคคลเข้าสืบ นับเป็นข้อพิรุธที่แสดงให้เห็นว่า ที่ดินพิพาทอยู่นอกเขตโฉนดที่ดินของจำเลยนั่นเอง และจากการที่ที่ดินพิพาทมีศาลาหักพังเหลือแต่เสาปรากฏอยู่เช่นนี้ จึงเชื่อว่าที่ดินพิพาทอยู่ในที่ดินตาม ส.ค.1 ของโจทก์เพราะโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ศาลาซึ่งเป็นที่พักอาศัยสาธารณะในลักษณะเช่นนี้ย่อมจะสร้างลงในที่ดินของวัดหรือในที่ดินที่เป็นที่สาธารณะ เพราะหากสร้างลงในที่ดินของเอกชนแล้ว นอกจากจะทำให้เอกชนที่เป็นเจ้าของที่ดินเสียเนื้อที่ในการใช้สอยทำประโยชน์แล้ว ผู้ที่เข้าพักอาศัยในศาลาดังกล่าวก็อาจจะก่อความเดือดร้อนรำคาญให้แก่เอกชนซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินได้
สำหรับปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นวัดในพระพุทธศาสนาซึ่งตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505มาตรา 34 บัญญัติว่า “ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติและห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่วัดและที่ธรณีสงฆ์”ดังนั้น ตราบใดที่ยังมิได้มีพระราชบัญญัติให้โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ของวัดรายนี้ แม้จำเลยจะครอบครองที่ดินพิพาทมานานเท่าใดจำเลยก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง ทั้งไม่อาจยกระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ขึ้นเป็นข้อโต้แย้งกับวัดได้”
พิพากษากลับว่า ที่ดินในบริเวณพื้นที่สีแดงตามแผนที่พิพาทท้ายฟ้อง เนื้อที่ 1 ไร่ 17 ตารางวา เป็นที่ดินของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์600 บาท และค่าเสียหายต่อ ๆ ไปในอัตราไร่ละ 150 บาทต่อปีนับแต่วันฟ้องจนถึงวันที่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาท

Share