คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 50/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นบริษัทจำกัด มีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้ร้อง แม้ผู้ร้องจะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลย แต่การที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่มีผลโดยตรงต่อผู้ร้อง ทั้งการที่ผู้ร้องเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทจำเลยและเป็นผู้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ ก็เป็นการกระทำในฐานะผู้แทนจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลเมื่อไม่ปรากฏเหตุอื่นใดที่จะทำให้ผู้ร้องต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว ผู้ร้องย่อมไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวต่อโจทก์ ผู้ร้องจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาเป็นคู่ความเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิและไม่มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดี ไม่อาจขอเข้าเป็นจำเลยร่วมได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายผลิตได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 14,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 5 และ 15ของทุกเดือน ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย240 วัน เป็นเงิน 112,000 บาท และมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า25 วัน เป็นเงิน 11,600 บาท แต่จำเลยไม่ยอมจ่าย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 112,000 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 11,666 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

วันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทจำเลย เป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์และเป็นผู้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี เพราะอาจถูกโจทก์ดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา และหากจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ผู้ร้องในฐานะผู้ถือหุ้นย่อมได้รับความสูญเสีย ประกอบกับกรรมการอื่นไม่ยอมร่วมกับผู้ร้องลงลายมือชื่อแต่งตั้งทนายความแก้ต่างให้จำเลย ผู้ร้องจึงขอเข้าเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)(2)

ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมของผู้ร้องและพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 111,999.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีและจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 11,666 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องมีความจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้อง และมีส่วนได้เสียในผลแห่งคดี ในฐานะผู้ร้องเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลย เป็นนายจ้างผู้เลิกจ้างโจทก์ และเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลย ย่อมมีสิทธิขอเข้าเป็นจำเลยร่วมได้ เห็นว่าจำเลยเป็นบริษัทจำกัด มีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้ร้อง แม้ผู้ร้องจะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลย แต่การที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ไม่มีผลโดยตรงต่อผู้ร้อง ส่วนการที่ผู้ร้องเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทจำเลยและเป็นผู้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ ก็เป็นการกระทำในฐานะผู้แทนจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคล เมื่อไม่ปรากฏเหตุอื่นใดที่จะทำให้ผู้ร้องต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว ผู้ร้องย่อมไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวต่อโจทก์ ผู้ร้องจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาเป็นคู่ความเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิ และไม่มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีไม่อาจขอเข้าเป็นจำเลยร่วมได้ศาลแรงงานกลางสั่งยกคำร้องชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share