คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6968/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลย แต่จำเลยหลบหนีไม่ไปฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงออกหมายจับจำเลยเพื่อมารับโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ต้องถือว่าจำเลยอยู่ในระหว่างหลบหนีนับแต่วันออกหมายจับเป็นต้นมา แม้ต่อมาจำเลยถูกจับและคุมขังในคดีอื่นอีกคดีหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการแจ้งการควบคุมในคดีนี้ไว้ด้วย จึงต้องฟังว่าที่จำเลยถูกควบคุมตัวนับแต่วันที่ถูกจับตลอดมาเป็นการควบคุมในคดีอื่นอีกคดีหนึ่งเท่านั้นไม่เกี่ยวกับคดีนี้จึงต้องเริ่มนับโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นได้ออกหมายขังจำเลยไว้ในคดีนี้
การที่ศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยในคดีอื่นอีกคดีหนึ่งซึ่งรวมถึงในข้อที่จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกด้วย ก็เป็นการสอบข้อเท็จจริงในข้อที่โจทก์ขอเพิ่มโทษจำเลยเท่านั้น เมื่อจำเลยรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีนี้แล้วข้อเท็จจริงตามคำฟ้องจึงเป็นยุติ ไม่จำเป็นที่ศาลชั้นต้นจะต้องตรวจสอบการรับโทษของจำเลยอีกต่อไป จำเลยจึงไม่อาจอ้างว่าเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะรับตัวจำเลยไว้รับโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335, 357 กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 60,100 บาท แก่ผู้เสียหายจำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง จำคุก 6 ปี จำเลยอุทธรณ์และได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 9 สิงหาคม 2539 เวลา 13.30 นาฬิกา และแจ้งวันนัดให้จำเลยทราบแล้วโดยชอบ ถึงวันนัดจำเลยไม่มาศาล โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องหรือขอเลื่อนการฟังคำพิพากษาไป กรณีมีเหตุสงสัยว่าจำเลยหลบหนีหรือจงใจไม่มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นจึงให้ออกหมายจับและเลื่อนไปนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 17 ตุลาคม 2539 เวลา 13.30 นาฬิกา ครั้นถึงวันนัดยังไม่ได้ตัวจำเลยมาศาลศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ลับหลังจำเลย โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคหนึ่ง ให้จำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลย เพื่อนำตัวมารับโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ต่อมา วันที่ 15 ธันวาคม 2540 ทนายจำเลยยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 จำเลยถูกจับในคดีอื่นและถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น ขอให้ศาลชั้นต้นเบิกตัวจำเลยมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุด โดยให้หักวันที่จำเลยถูกคุมขังระหว่างพิจารณาในคดีหลังออกจากโทษจำคุกในคดีนี้ด้วย ศาลชั้นต้นเบิกจำเลยมาสอบถามในวันที่ 23 ธันวาคม 2540 ในวันนัดโจทก์ไม่อาจยืนยันต่อศาลชั้นต้นว่าบุคคลที่อยู่ต่อหน้าศาลเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีนี้ศาลชั้นต้นจึงเลื่อนไปนัดสอบถามในวันที่ 23 มกราคม 2541 และให้ออกหมายขังจำเลยระหว่างพิจารณาไว้ ครั้นถึงวันนัดโจทก์แถลงว่าได้ตรวจสอบกับพนักงานสอบสวนแล้วยืนยันต่อศาลชั้นต้นว่านายมูฮะหมัด ไฟซาล เซอเยส จำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 1255/2540 ของศาลชั้นต้นเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีนี้ ศาลชั้นต้นจึงออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดแก่จำเลย โดยนับโทษจำคุก 2 ปี นับแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่ศาลชั้นต้นออกหมายขังระหว่างพิจารณาไว้ในคดีนี้ต่อมาวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้นับวันเริ่มนับโทษจำคุก 2 ปี นับแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยถูกคุมขังในคดีหมายเลขดำที่ 1255/2540 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วสั่งยกคำร้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า โทษจำคุกจำเลยในคดีนี้เริ่มนับแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 หรือวันที่ 23 ธันวาคม 2540 จำเลยฎีกาอ้างเหตุผลว่า ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 ที่จำเลยถูกฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ 1255/2540 ของศาลชั้นต้นนั้น ศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟังและในคำฟ้องดังกล่าว โจทก์ขอเพิ่มโทษจำเลยโดยระบุว่า จำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดคดีนี้ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี ศาลชั้นต้นสอบในข้อที่จำเลยเคยต้องคำพิพากษาดังกล่าว และจำเลยให้การรับ จึงต้องถือว่าศาลชั้นต้นรู้แต่ในขณะนั้นแล้วว่า จำเลยทั้งสองคดีเป็นบุคคลคนเดียวกันและเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะต้องเอาตัวจำเลยไว้รับโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ตั้งแต่วันดังกล่าว ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นเริ่มนับโทษจำคุกจำเลยในวันที่ 23 ธันวาคม 2540 จึงไม่ถูกต้อง เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยมารับโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้นั้น ยังไม่สามารถจับกุมจำเลยได้ จึงต้องถือว่าจำเลยอยู่ในระหว่างหลบหนีนับแต่วันออกหมายจับเป็นต้นมาและในคดีของศาลชั้นต้นที่จำเลยถูกจับกุมในภายหลัง ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้มีการแจ้งการควบคุมในคดีนี้ไว้ด้วย จึงฟังว่าที่จำเลยถูกควบคุมตัวนับแต่วันที่ถูกจับตลอดมาเป็นการควบคุมในคดีหมายเลขดำที่ 1255/2540 ของศาลชั้นต้นเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้และที่ศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 1255/2540 รวมถึงในข้อที่จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 2 ปี ก็เป็นการสอบข้อเท็จจริงในข้อที่โจทก์ขอเพิ่มโทษจำเลยเท่านั้นว่า คำฟ้องของโจทก์ดังที่กล่าวมาเป็นความจริงหรือไม่ และเมื่อจำเลยให้การรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีนี้แล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องจึงเป็นยุติและไม่จำเป็นที่ศาลชั้นต้นจะต้องตรวจสอบการรับโทษของจำเลยอีกต่อไป เพราะไม่มีข้อโต้แย้งใดพาดพิงถึงเรื่องดังกล่าวและก็ไม่ใช่หน้าที่ของศาลที่จะต้องกระทำเช่นนั้น หรือมีกฎหมายบังคับให้ต้องกระทำด้วย จำเลยจึงไม่อาจอ้างว่าเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะรับตัวจำเลยไว้รับโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้นับแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 ได้ และเมื่อพิเคราะห์ถึงว่าข้อเท็จจริงในเรื่องการรับโทษของจำเลยเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยรู้อยู่แก่ใจมาโดยตลอดแต่จำเลยกลับเพิกเฉยไม่แจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ศาลชั้นต้นรู้แต่แรก จำเลยจึงไม่อาจอ้างเหตุที่จำเลยต้องเสียประโยชน์มาเป็นข้อแก้ตัวและให้ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกจำเลยในคดีนี้โดยเริ่มนับแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 ได้ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกจำเลยเมื่อคดีถึงที่สุด โดยเริ่มนับโทษจำคุก 2 ปี ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นับแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2540 จึงชอบด้วยเหตุผลและถูกต้องแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share