แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าผู้เสียหายที่ 1 กับจำเลยที่ 2 รักใคร่กันฉันชู้สาว ในคืนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นผู้ไปแจ้งให้ผู้เสียหายที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ด้วยกันตามลำพังในยามวิกาลทราบว่า ผู้ปกครองของผู้เสียหายที่ 1 กำลังติดตามหาผู้เสียหายที่ 1 อีกทั้งจำเลยที่ 1 ยังขับรถพาจำเลยที่ 2 และผู้เสียหายที่ 1 ไปหลบเพื่อให้พ้นจากการติดตามหาตัวผู้เสียหายที่ 1 พบ จำเลยที่ 1 มีอายุ 27 ปี เป็นผู้ใหญ่กว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งมีอายุ 17 ปีเศษ และผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งอายุเพียง 14 ปีเศษ จำเลยที่ 1 ย่อมทราบดีว่าโดยพฤติการณ์และในสภาวะที่จำเลยที่ 2 พาผู้เสียหายที่ 1 ไปตามลำพังเช่นนั้น ย่อมเป็นโอกาสที่จำเลยที่ 2 จะล่วงเกินทางเพศต่อผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งยังเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม
จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 318 วรรคสาม จำคุกคนละ 3 ปี และปรับคนละ 10,000 บาท ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 1 ปี 6 เดือน และปรับคนละ 5,000 บาท และรอการลงโทษให้ โจทก์อุทธรณ์ว่าไม่ควรรอการลงโทษแก่จำเลยทั้งสอง แม้ศาลอุทธรณ์จะมีอำนาจหยิบยกปัญหาที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษความผิดข้อหาดังกล่าวมาไม่ถูกต้องขึ้นวินิจฉัยเองโดยพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม อันเป็นการปรับบทกฎหมายที่ถูกต้องลงโทษแก่จำเลยทั้งสองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า แต่ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษที่ลงแก่จำเลยทั้งสองเสียใหม่ โดยโทษที่จำเลยทั้งสองได้รับสำหรับความผิดในข้อหานี้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์สูงกว่าโทษที่ศาลชั้นต้นลงแก่จำเลยทั้งสอง จึงเป็นการเพิ่มเติมโทษซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 แม้จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 58 , 83 , 91 , 277 , 310 , 318 และให้นำโทษจำคุกในคดีก่อนมาบวกโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง , 318 วรรคสาม เป็นความผิดสองกรรม ลงโทษทุกกระทงความผิดตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร จำคุกคนละ 3 ปี และปรับคนละ 10,000 บาท ฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเรา จำคุกคนละ 2 ปี ปรับคนละ 10,000 บาท รวมจำคุกคนละ 5 ปี และปรับคนละ 20,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 2 ปี 6 เดือน และปรับคนละ 10,000 บาท ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 เพียงแต่พาจำเลยที่ 2 กับผู้เสียหายที่ 1 ไปส่งเท่านั้น มิได้ลงมือข่มขืนผู้เสียหายที่ 1 ด้วย และจำเลยที่ 2 กับผู้เสียหายที่ 1 ก็เป็นคนรักใคร่ชอบพอกัน ทั้งผู้เสียหายทั้งสองได้รับชดใช้ค่าเสียหายจนไม่ติดใจเอาความแล้ว โทษจำคุกจำเลยทั้งสองจึงเห็นควรให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29 , 30 ส่วนคำขอให้บวกโทษให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม จำคุก 5 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง , 317 วรรคสาม ให้เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 อายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 76 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 2 ปี 8 เดือน ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 3 ปี 4 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 1 ปี 4 เดือน ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 1 ปี 8 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 12 เดือน ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเพียงความผิดฐานร่วมกันพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยปราศจากเหตุอันสมควรตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคหนึ่ง เท่านั้น มิใช่เป็นการพรากเด็กไปเพื่อการอนาจารตามมาตรา 317 วรรคสอง นั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง แต่ความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยปราศจากเหตุอันสมควรซึ่งกระทำเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม ตามที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท โจทก์จะต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพให้เป็นที่พอใจต่อศาลว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดจริง ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 และจากคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าผู้เสียหายที่ 1 กับจำเลยที่ 2 รักใคร่กันฉันชู้สาว แต่ในคืนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ก็เป็นผู้ไปแจ้งให้ผู้เสียหายที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ด้วยกันตามลำพังในยามวิกาลทราบว่าผู้ปกครองของผู้เสียหายที่ 1 กำลังติดตามหาผู้เสียหายที่ 1 ยิ่งไปกว่านั้น จำเลยที่ 1 ยังขับรถพาจำเลยที่ 2 และผู้เสียหายที่ 1 ไปหลบอยู่ที่หมู่บ้านเขาชะอมเพื่อให้พ้นจากการติดตามหาตัวผู้เสียหายที่ 1 พบ เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 มีอายุ 27 ปี เป็นผู้ใหญ่กว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งมีอายุ 17 ปีเศษ และผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งอายุเพียง 14 ปีเศษ จำเลยที่ 1 ย่อมทราบดีว่าโดยพฤติการณ์และในสภาวะที่จำเลยที่ 2 พาผู้เสียหายที่ 1 ไปตามลำพังเช่นนั้น ย่อมเป็นโอกาสที่จำเลยที่ 2 จะล่วงเกินทางเพศต่อผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งยังเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับความผิดในข้อหานี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 318 วรรคสาม จำคุกคนละ 3 ปี และปรับคนละ 10,000 บาท ลดโทษกึ่งหนึ่งเพราะเหตุรับสารภาพ คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 1 ปี 6 เดือน และปรับคนละ 5,000 บาท และรอการลงโทษให้ โจทก์อุทธรณ์สำหรับความผิดข้อหานี้เพียงว่าไม่ควรรอการลงโทษแก่จำเลยทั้งสอง ดังนี้ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะมีอำนาจหยิบยกปัญหาที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษความผิดข้อหาดังกล่าวมาไม่ถูกต้องขึ้นวินิจฉัยเองโดยพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม อันเป็นการปรับบทกฎหมายที่ถูกต้องลงโทษแก่จำเลยทั้งสองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดโทษที่ลงแก่จำเลยทั้งสองเสียใหม่ด้วย โดยสำหรับจำเลยที่ 1 ลงโทษจำคุก 5 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งเพราะเหตุรับสารภาพคงจำคุก 2 ปี 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามเพราะเหตุอายุ 17 ปีเศษ ลงโทษจำคุก 3 ปี 4 เดือน ลดโทษกึ่งหนึ่งเพราะเหตุรับสารภาพ คงจำคุก 1 ปี 8 เดือน ก็จะเห็นได้ว่าโทษที่จำเลยทั้งสองได้รับสำหรับความผิดในข้อหานี้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 สูงกว่าโทษที่ศาลชั้นต้นลงแก่จำเลยทั้งสอง เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองให้หนักขึ้น จึงเป็นการเพิ่มเติมโทษซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ฉะนั้น แม้จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ด้วย โดยให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 เฉพาะโทษที่ลงแก่จำเลยทั้งสองสำหรับข้อหานี้ และเห็นสมควรไม่ลดมาตราส่วนโทษเพราะเหตุอายุ 17 ปีเศษ ให้แก่จำเลยที่ 2 ในข้อหานี้ เพราะเป็นกรณีที่ศาลหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเอง ซึ่งเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า ฝ่ายผู้เสียหายทั้งสองกับจำเลยทั้งสองตกลงกันได้โดยฝ่ายจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ฝ่ายผู้เสียหายทั้งสองแล้ว และฝ่ายผู้เสียหายทั้งสองแถลงไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง ประกอบกับตามพยานเอกสารซึ่งทนายจำเลยทั้งสองส่งต่อศาลประกอบการถามค้านผู้เสียหายที่ 1 น่าเชื่อว่าผู้เสียหายที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ผูกสมัครรักใคร่กันฉันชู้สาวจริง จึงมีเหตุควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยทั้งสองแต่สมควรกำหนดโทษปรับด้วย และเพื่อให้โทษที่ลงแก่จำเลยทั้งสองเหมาะสมแก่ความผิด ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดโทษปรับสำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงแก่จำเลยที่ 2 เช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม ให้บังคับจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 1 ปี 6 เดือน และปรับคนละ 5,000 บาท สำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 2 จำนวน 15,000 บาท อีกสถานหนึ่ง เมื่อลดมาตราส่วนโทษหนึ่งในสามและลดโทษกึ่งหนึ่งแล้ว ลงโทษจำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 5,000 บาท รวมลงโทษจำเลยที่ 2 ทั้งสองข้อหา จำคุก 2 ปี 10 เดือน และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกจำเลยทั้งสองให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามมาตรา 29 , 30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2.