คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6932/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีการอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราวและส่งความเห็นของโจทก์ทั้งสองไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา การพิจารณาสั่งคำร้องดังกล่าวจึงเป็นอำนาจของศาลฎีกา การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องว่าให้รวมสำนวนไว้ ย่อมมีผลเป็นการปฏิเสธที่จะส่งคำร้องของโจทก์ทั้งสองไปให้ศาลฎีกาพิจารณา จึงเป็นการไม่ชอบ
คำร้องของโจทก์ทั้งสองระบุเพียงแต่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาคดีปกครองหรือไม่ มิได้โต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาไม่จำต้องส่งคำร้องของโจทก์ทั้งสองไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันโดยเรียกนายชัยจิตรเป็นโจทก์ที่ 1 นางพรเพ็ญเป็นโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น ฯ กำหนดให้แก่โจทก์ทั้งสอง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ทั้งสองฎีกา ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาโจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2541 ว่า คดีนี้เป็นคดีปกครอง มีปัญหาว่าจะอยู่ในอำนาจของศาลปกครองสูงสุด ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 276 หรืออยู่ในอำนาจของศาลฎีกา ขอให้ศาลฎีการอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว และส่งความเห็นของโจทก์ทั้งสองไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 ศาลฎีกาทำคำพิพากษาและคำสั่งคำร้องเสร็จสิ้นและส่งให้ศาลชั้นต้นอ่านให้คู่ความฟัง โดยให้อ่านคำสั่งคำร้องก่อน ศาลชั้นต้นนัดฟังคำสั่งและคำพิพากษาของศาลฎีกาในวันที่ 21 กรกฎาคม 2541 เวลา 13.30 นาฬิกา โดยโจทก์ทั้งสอง ทนายโจทก์ทั้งสอง จำเลย และทนายจำเลยทราบวันนัดโดยชอบแล้ว
ก่อนถึงวันนัดฟังคำสั่งและคำพิพากษาของศาลฎีกา โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องลงวันที่ 29 มิถุนายน 2541 รวม 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งโต้แย้งว่า ศาลฎีกาไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นคดีปกครองเพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้จัดตั้งศาลปกครองขึ้นแล้ว ขอให้ศาลฎีการอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว และส่งความเห็นของโจทก์ทั้งสองไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 ส่วนคำร้องอีกฉบับหนึ่ง ขอให้ศาลชั้นต้นงดการอ่านคำสั่งและคำพิพากษาของศาลฎีกาไว้ก่อน และส่งคำร้องของโจทก์ทั้งสองให้ศาลฎีกาพิจารณาและมีคำสั่งต่อไป ต่อมาวันที่ 15 กรกฎาคม 2541 โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องอีกฉบับหนึ่ง ขอให้ศาลชั้นต้นงดการอ่านคำสั่งและคำพิพากษาของศาลฎีกา และส่งความเห็นของโจทก์ทั้งสองไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำร้องฉบับลงวันที่ 29 มิถุนายน 2541ที่ขอให้งดการอ่านคำสั่งและคำพิพากษาของศาลฎีกาว่า ไม่มีเหตุที่จะงดการอ่านคำสั่งและคำพิพากษาของศาลฎีกา ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ ส่วนคำร้องฉบับลงวันที่ 29 มิถุนายน 2541 อีกฉบับหนึ่งที่โจทก์ทั้งสองขอให้ส่งไปศาลฎีกา เพื่อให้ศาลฎีการอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราวและส่งความเห็นของโจทก์ทั้งสองไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น สั่งให้รวมสำนวนไว้ และมีคำสั่งตามคำร้องฉบับลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2541 ว่า ไม่มีเหตุที่จะต้องส่งความเห็นของโจทก์ทั้งสองไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ และเนื่องจากในวันดังกล่าวไม่มีคู่ความไปศาล ศาลชั้นต้นจึงถือว่าได้อ่านคำสั่งและคำพิพากษาของศาลฎีกาให้คู่ความฟังแล้ว โดยศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้องฉบับลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์2541 และพิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการแรกมีว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำร้องของโจทก์ทั้งสอง ฉบับลงวันที่ 29 มิถุนายน 2541 ที่ขอให้ศาลฎีการอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว และส่งความเห็นของโจทก์ทั้งสองที่คัดค้านอำนาจพิจารณาคดีปกครองของศาลฎีกาไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 โดยมีคำสั่งว่าให้รวมสำนวนไว้ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองบรรยายเหตุผลในฎีกาของตนว่า ภายหลังที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ประกาศใช้ คดีปกครองอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง ศาลฎีกาไม่มีอำนาจพิจารณาคดีปกครองอีกต่อไป คดีของโจทก์ทั้งสองที่ค้างพิจารณาอยู่ที่ศาลฎีกาเป็นคดีปกครองศาลฎีกาจะพิจารณาคดีต่อไปได้หรือไม่ ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และการพิจารณาว่าควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ เป็นอำนาจเฉพาะของศาลฎีกา การสั่งคำร้องว่าให้รวมสำนวนไว้ของศาลชั้นต้น มีผลเท่ากับไม่รับคำร้องของโจทก์ทั้งสอง เป็นการก้าวล่วงเข้ามาสั่งโดยมิชอบนั้น เห็นว่า คำร้องของโจทก์ทั้งสองฉบับลงวันที่ 29 มิถุนายน 2541 ที่ขอให้ศาลฎีการอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราวและส่งความเห็นของโจทก์ทั้งสองไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เป็นคำร้องที่โจทก์ทั้งสองประสงค์ให้ศาลฎีกาพิจารณาและมีคำสั่ง ทั้งขณะนั้นคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา การพิจารณาสั่งคำร้องดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองเป็นอำนาจของศาลฎีกา การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมสำนวนไว้ มีผลเป็นการปฏิเสธที่จะส่งคำร้องของโจทก์ทั้งสองไปให้ศาลฎีกาพิจารณา จึงเป็นการไม่ชอบดังที่โจทก์ทั้งสองฎีกา ปัญหาต้องพิจารณาต่อไปมีว่า สมควรเพิกถอนการอ่านคำสั่งและคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ศาลชั้นต้นอ่าน ภายหลังมีคำสั่งดังกล่าวหรือไม่ ในข้อนี้เห็นว่า การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 กล่าวคือ ต้องเป็นกรณีที่ศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่คำร้องของโจทก์ทั้งสองฉบับลงวันที่ 29 มิถุนายน 2541 เพียงแต่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาคดีปกครองหรือไม่ มิได้โต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาไม่จำต้องส่งคำร้องของโจทก์ทั้งสองไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จึงไม่มีประโยชน์ที่จะเพิกถอนการอ่านคำสั่งและคำพิพากษาของศาลฎีกาตามคำขอของโจทก์ทั้งสอง…
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาเป็นพับ.

Share