คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3528/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ข้อ 17กำหนดให้ผู้ค้ำประกันเป็นผู้ที่ต้องเสียอากร โดยมีข้อยกเว้นไม่ต้องเสียอากรสำหรับตราสารค้ำประกันหนี้เนื่องแต่การที่ สหกรณ์ให้สมาชิกกู้ยืมหรือยืมเท่านั้น แต่ตามหนังสือค้ำประกันฉบับพิพาทเป็นการค้ำประกันความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นตามสัญญาจ้างจำเลยเป็นผู้จัดการของโจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียอากร และไม่มีกฎหมายกำหนดให้จดทะเบียนสัญญาค้ำประกัน ดังนั้น แม้โจทก์ซึ่งเป็นสหกรณ์จะเป็นคู่สัญญาก็ไม่ได้รับยกเว้นที่จะไม่ต้องเสียค่าอากรแสตมป์หรือค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 มาตรา 9 แม้โจทก์จะได้ขออนุญาตนำหนังสือค้ำประกันฉบับพิพาทไปเสียอากรและเงินเพิ่มอากรเพื่อให้มีผลเป็นตราสารที่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 117แต่โจทก์จะต้องกระทำก่อนหรือในขณะที่ได้นำเอกสารนั้นมาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งก่อนศาลชั้นต้นตัดสินชี้ขาดโจทก์นำหนังสือค้ำประกันไปเสียอากรและเงินเพิ่มอากรภายหลังที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้ว หนังสือค้ำประกันดังกล่าวจึงเป็นตราสารที่มิได้ปิดแสตมป์ให้บริบูรณ์ย่อมใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้มิได้ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 118 กรณีจำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ก็ยังมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าจำเลยจะต้องรับผิดตามหนังสือค้ำประกันตามฟ้อง ดังนี้ เมื่อหนังสือค้ำประกันใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้มิได้แล้ว คดีย่อมไม่มีทางที่จะให้จำเลยต้องรับผิด ตามฟ้องได้ จึงชอบที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาให้ ยกฟ้องโจทก์เสียได้ เงินที่จำเลยยักยอกไปตามฟ้องเป็นเงินจำนวนเดียวกับ ที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหายักยอกทรัพย์ โดยมีคำขอทางแพ่งให้จำเลยคืนเงินดังกล่าว คดีถึงที่สุด โดยศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน แก่ผู้เสียหาย การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีก่อน มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ให้รับผิดชำระเงินจำนวนเดียวกับใน คดีอาญา จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องคดีแพ่งในประเด็นที่ ศาลในคดีอาญาได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน388,369.27 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 289,019.27 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 289,019.27 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่21 มีนาคม 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระแทนในต้นเงิน 246,519.27 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวนับแต่วันที่ 21 มีนาคม 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าหนังสือค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ว่าจำเลยที่ 2และที่ 3 ได้ทำหนังสือค้ำประกันดังโจทก์ฟ้องหรือไม่ เห็นว่ามาตรา 118 แห่งประมวลรัษฎากรบัญญัติว่า”ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้และขีดฆ่าแล้วแต่ทั้งนี้ไม่เป็นการเสื่อมสิทธิที่จะเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรตามมาตรา 113 และมาตรา 114″ ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวดนี้ข้อ 17 กำหนดให้ผู้ค้ำประกันเป็นผู้ที่ต้องเสียอากรโดยมีข้อยกเว้นไม่ต้องเสียอากรใน (ข) สำหรับตราสารค้ำประกันหนี้เนื่องแต่การที่สหกรณ์ให้สมาชิกกู้ยืมหรือยืม แต่ตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 เป็นการค้ำประกันความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นตามสัญญาจ้างจำเลยที่ 1เป็นผู้จัดการของโจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียอากรและไม่มีกฎหมายกำหนดให้จดทะเบียนสัญญาค้ำประกัน ดังนั้นแม้โจทก์ซึ่งเป็นสหกรณ์จะเป็นคู่สัญญาก็ไม่ได้รับยกเว้นที่จะไม่ต้องเสียค่าอากรแสตมป์หรือค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 มาตรา 9 และแม้โจทก์จะได้ขออนุญาตนำหนังสือค้ำประกันไปเสียอากรและเงินเพิ่มอากรซึ่งให้มีผลเป็นตราสารที่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 117 แต่โจทก์จะต้องกระทำก่อนหรือในขณะที่ได้นำเอกสารนั้นมาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งก่อนศาลชั้นต้นตัดสินชี้ขาดโจทก์นำหนังสือค้ำประกันไปเสียอากรและเงินเพิ่มอากรภายหลังที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้ว ฉะนั้นหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับจึงเป็นตราสารที่มิได้ปิดแสตมป์ให้บริบูรณ์ย่อมใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้มิได้ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 118 และคดีนี้แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3จะขาดนัดยื่นคำให้การโจทก์ก็ยังมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องรับผิดตามหนังสือค้ำประกันจริงเมื่อหนังสือค้ำประกันใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้มิได้ดังวินิจฉัยมาแล้วคดีย่อมไม่มีทางที่จะให้จำเลยที่ 2 และที่ 3ต้องรับผิดตามฟ้องได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ชอบแล้ว
อนึ่ง เงินที่จำเลยที่ 1 ยักยอกไปตามฟ้องเป็นเงินจำนวนเดียวกับที่พนักงานอัยการจังหวัดปราจีนบุรีเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหายักยอกทรัพย์ โดยมีคำขอทางแพ่งให้จำเลยที่ 1 คืนเงินดังกล่าว คดีถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิด ให้คืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหาย (โจทก์คดีนี้) ตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 462/2532ของศาลชั้นต้นที่โจทก์ได้อ้างเป็นพยาน โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1เป็นคดีนี้ให้รับผิดชำระเงินจำนวนเดียวกับในคดีอาญา จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องคดีแพ่งในประเด็นที่ศาลในคดีอาญาได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246, 247
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 เสียด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share