แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาซื้อขายหม้อแปลงไฟฟ้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1ได้ระบุในหมายเหตุท้ายสัญญาว่าผู้ขายรับประกันสินค้าตามสัญญานี้เป็นเวลา3ปีหลังจากส่งของข้อสัญญาดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่1ซึ่งเป็นผู้ขายได้รับรองคุณภาพของหม้อแปลงไฟฟ้าที่ขายให้แก่โจทก์ไว้เป็นพิเศษว่าหากหม้อแปลงไฟฟ้าที่โจทก์ซื้อไปเกิดขัดข้องใช้การไม่ได้ภายในเวลา3ปีหลังจากส่งของจำเลยที่1ยินยอมรับผิดเมื่อปรากฏว่าหม้อแปลงไฟฟ้าที่โจทก์ซื้อจากจำเลยที่1บางส่วนจำนวน276เครื่องชำรุดระหว่างรับประกันคุณภาพโจทก์แจ้งให้จำเลยที่1จัดการซ่อมแต่จำเลยที่1เพิกเฉยโจทก์จึงจัดการซ่อมเองเสียค่าซ่อม2,436,726บาทจำเลยที่2ผู้ค้ำประกันชำระค่าซ่อม221เครื่องเป็นเงิน1,946,500บาทคงค้างค่าซ่อมอีกจำนวน55เครื่องเป็นเงิน490,226บาทโจทก์จึงฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในเงินจำนวนดังกล่าวกรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องให้จำเลยที่1รับผิดชดใช้ค่าซ่อมหรือค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ตามข้อตกลงรับประกันสินค้าตามสัญญาซื้อขายหาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่1รับผิดในความชำรุดบกพร่องแห่งทรัพย์ซึ่งมีอายุความ1ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา474ไม่สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ให้จำเลยที่1รับผิดตามข้อตกลงพิเศษแห่งสัญญาดังกล่าวข้างต้นไม่มีกฎหมายเรื่องอายุความบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะจึงมีอายุความ10ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา164
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2523จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายหม้อแปลงไฟฟ้า ขนาด 20 กิโลโวลต์จำนวน 1,920 เครื่อง และขนาด 30 กิโลโวลต์ จำนวน400 เครื่อง เป็นเงินทั้งสิ้น 243,806,592 เยนญี่ปุ่น ให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 รับประกันคุณภาพภายใน 3 ปีนับแต่วันส่งของลงเรือ มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันในวงเงิน24,380,660 เยนญี่ปุ่น หรือคิดเป็นเงินไทย 3,169,485.80 บาทจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบหม้อแปลงไฟฟ้าให้โจทก์ตามสัญญาโจทก์นำไปติดตั้งใช้งาน ปรากฏว่ามีหม้อแปลงไฟฟ้าจำนวน 276 เครื่องชำรุดระหว่างรับประกันคุณภาพโจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 จัดการซ่อม จำเลยที่ 1 เพิกเฉยโจทก์จึงจัดการซ่อมเองคิดเป็นเงินค่าซ่อม 2,436,726 บาทจำเลยที่ 2 ชำระเงินค่าซ่อมจำนวน 221 เครื่อง เป็นเงิน1,946,500 บาท แล้วยังคงเหลือค้างค่าซ่อมอีกจำนวน55 เครื่อง เป็นเงิน 490,226 บาท จำเลยทั้งสองไม่ยอมชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ อ้างว่าโจทก์แจ้งการชำรุดให้จำเลยที่ 1 ทราบหลังจากวันหมดอายุรับประกันคุณภาพแล้วขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน490,226 บาท พร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน108,360.36 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินจำนวน 490,226 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ฟ้องโจทก์มิได้แนบสัญญาซื้อขายหม้อแปลงไฟฟ้ามาด้วย จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม หม้อแปลงไฟฟ้าที่จำเลยทำสัญญาขายและส่งมอบแก่โจทก์มีคุณภาพดี ที่ชำรุดบกพร่องเป็นความผิดของโจทก์ที่ไม่ระมัดระวังในการใช้และไม่บำรุงรักษา เงื่อนไขแห่งสัญญาที่ว่าจำเลยที่ 1รับประกันหม้อแปลงไฟฟ้าที่ซื้อขายมีกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันส่งของลงเรือนั้นเป็นประเพณีทางการค้าและเข้าใจกันว่าหากสินค้าชำรุดบกพร่องเพราะการใช้ตามปกติภายใน 3 ปีนับแต่วันที่ส่งมอบของลงเรือ โจทก์จะต้องแจ้งความชำรุดบกพร่องนั้นให้จำเลยทราบภายใน 3 ปี นับแต่วันส่งของลงเรือเช่นกัน แต่หม้อแปลงไฟฟ้าจำนวน 55 เครื่องที่โจทก์ฟ้องนี้ ปรากฏว่าชำรุดบกพร่องและโจทก์แจ้งมายังจำเลย เมื่อพ้นกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันส่งมอบสินค้าลงเรือ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด ค่าซ่อมที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินความจริง ค่าซ่อมปกติเครื่องละ 6,870 บาทรวม 55 เครื่อง เป็นเงิน 377,850 บาท โจทก์ฟ้องคดีเพื่อให้จำเลยรับผิด เมื่อพ้นกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่เวลาที่พบความชำรุดบกพร่องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ค้ำประกันสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หม้อแปลงไฟฟ้าที่โจทก์ซื้อจากจำเลยที่ 1 นั้นชำรุดหลังจากหมดอายุที่จำเลยที่ 1รับประกันคุณภาพต่อโจทก์และชำรุดเพียง 221 เครื่องเท่านั้น ซึ่งจำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหาย ให้แก่โจทก์เสร็จแล้วเหตุที่จำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์เพราะจำเลยที่ 1 แจ้งให้จำเลยที่ 2 ระงับการจ่ายเงินให้โจทก์เมื่อจำเลยที่ 1มิได้ผิดนัดผิดสัญญาและไม่ต้องรับผิดตามสัญญาแล้ว จำเลยที่ 2ย่อมหลุดพ้นความรับผิดด้วย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์ได้ทำสัญญาซื้อหม้อแปลงไฟฟ้าจากจำเลยที่ 1 รวม 2 ขนาดจำนวนรวมกัน 2,320 เครื่อง เป็นเงิน 243,806,592 เยนญี่ปุ่นจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบหม้อแปลงไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายแก่โจทก์และคณะกรรมการตรวจรับของโจทก์ได้รวมกับหม้อแปลงไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบไว้แล้ว เมื่อโจทก์นำหม้อแปลงไฟฟ้าดังกล่าวไปติดตั้งใช้ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบทั่วประเทศ ปรากฏว่ามีหม้อแปลงไฟฟ้าจำนวน276 เครื่อง ชำรุดภายในกำหนดที่จำเลยที่ 1 รับประกันคุณภาพแต่จำเลยที่ 1 ไม่จัดการซ่อมให้ โจทก์จึงจัดการซ่อมเองและจำเลยทั้งสองได้ชำระค่าซ่อมให้โจทก์บางส่วนแล้วคงมีหม้อแปลงไฟฟ้า จำนวน 55 เครื่อง คิดเป็นเงินค่าซ่อมจำนวน 490,226 บาท ที่จำเลยทั้งสองไม่ยอมชำระแก่โจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขาย จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 มิใช่ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องอันมีความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 474 นั้นเห็นว่าสัญญาซื้อขายหม้อแปลงไฟฟ้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.2 พร้อมคำแปลเอกสารหมายจ.19 ได้ระบุในหมายเหตุท้ายสัญญาในข้อ 2 ว่า ผู้ขายรับประกันสินค้าตามสัญญานี้เป็นเวลา 3 ปี หลังจากส่งของข้อสัญญาดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขายได้รับรองคุณภาพของหม้อแปลงไฟฟ้าที่ขายให้แก่โจทก์ไว้เป็นพิเศษว่าหากหม้อแปลงไฟฟ้าที่โจทก์ซื้อไปเกิดขัดข้องใช้การไม่ได้ภายในเวลา 3 ปี หลังจากส่งของ จำเลยที่ 1 ยินยอมรับผิดเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหม้อแปลงไฟฟ้าที่โจทก์ซื้อจากจำเลยที่ 1บางส่วนจำนวน 276 เครื่อง ชำรุดระหว่างรับประกันคุณภาพโจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 จัดการซ่อมแต่จำเลยที่ 1เพิกเฉยโจทก์จึงจัดการซ่อมเอง เสียค่าซ่อม2,436,726 บาท จำเลยที่ 2 ชำระค่าซ่อมให้ 221 เครื่องเป็นเงิน 1,946,500 บาท คงค้างค่าซ่อมอีกจำนวน 55 เครื่องเป็นเงิน 490,226 บาท โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในเงินจำนวนดังกล่าว กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าซ่อมหรือค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ตามข้อตกลงรับประกันสินค้าตามสัญญาซื้อขาย หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในความชำรุดบกพร่องแห่งทรัพย์ซึ่งมีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 474 ไม่สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามข้อตกลงพิเศษแห่งสัญญาดังกล่าวข้างต้นไม่มีกฎหมายเรื่องอายุความบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความตามที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่านายสมบัติ เวียงแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายธุรการและพนักงานปฏิบัติการแทนผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะได้มีหนังสือยืนยันให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าซ่อมหม้อแปลงไฟฟ้ารวม 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2529 และวันที่13 พฤศจิกายน 2529 ตามลำดับ แต่จำเลยที่ 1 มีหนังสือตอบปฏิเสธไปยังโจทก์แล้ว การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องให้จำเลยที่ 1ชำระค่าซ่อมหม้อแปลงไฟฟ้าเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2530ซึ่งยังไม่พ้นกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันชำระค่าซ่อมหม้อแปลงไฟฟ้าแก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โจทก์ฟ้องและนำสืบว่าหม้อแปลงไฟฟ้าทั้ง 55 เครื่องได้ชำรุดในระหว่างที่จำเลยที่ 1 รับประกันคุณภาพ 3 ปี นับแต่วันส่งของจำเลยที่ 1 ให้การแต่เพียงว่าหม้อแปลงไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1ขายแก่โจทก์มีคุณภาพดีแต่โจทก์ใช้โดยไม่ระมัดระวังและไม่บำรุงรักษาให้ดีจึงเกิดชำรุด ส่วนหม้อแปลงไฟฟ้าทั้ง 55 เครื่อง ที่ชำรุดนั้น โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบเมื่อพ้นกำหนดที่จำเลยที่ 1 รับประกันคุณภาพแล้ว จำเลยที่ 1จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่มิได้นำสืบปฏิเสธว่าหม้อแปลงไฟฟ้าทั้ง 55 เครื่อง ได้เกิดชำรุดเมื่อพ้นกำหนดรับประกันคุณภาพ 3 ปีแล้ว ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังว่าหม้อแปลงไฟฟ้าจำนวนดังกล่าว ได้เกิดชำรุดภายในกำหนดเวลา 3 ปี ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชอบ ที่จำเลยที่ 1ให้การปฏิเสธว่าไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นประเพณีปฏิบัติในทางการค้าและเป็นที่เข้าใจกันว่า หากหม้อแปลงไฟฟ้าชำรุดเพราะการใช้ภายในกำหนด 3 ปี ที่จำเลยที่ 1 รับประกันคุณภาพโจทก์จะต้องแจ้งเหตุดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ทราบภายในกำหนด 3 ปี เช่นเดียวกัน เห็นว่า ตามสัญญาซื้อขายไม่มีเงื่อนไขดังกล่าวกำหนดไว้ในสัญญาข้ออ้างของจำเลยที่ 1จึงเป็นเรื่องนอกเหนือจากสัญญา และไม่มีกฎหมายสนับสนุนไม่อาจรับฟังได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดใช้ค่าซ่อมหม้อแปลงไฟฟ้าทั้ง 55 เครื่องที่เกิดชำรุดบกพร่องในกำหนดเวลารับประกันคุณภาพแก่โจทก์ ส่วนที่โจทก์ฟ้องอ้างว่าค่าซ่อมหม้อไฟฟ้าทั้ง 55 เครื่อง เป็นเงิน490,226 บาท นายสง่า อนัตตศิริจินดา พนักงานของจำเลยเบิกความว่า ค่าซ่อมจริงควรจะตกเครื่องละ6,870 บาท จำนวน 55 เครื่อง เป็นเงิน 377,850 บาท แต่จำเลยที่ 1 เคยมีหนังสือปฏิเสธความรับผิดถึงโจทก์ลงวันที่10 กันยายน 2527 ระบุว่า บริษัทจำเลยที่ 1 ได้ตรวจสอบแล้วมีหม้อแปลงไฟฟ้าชำรุด 61 เครื่อง ค่าซ่อมส่วนใหญ่เครื่องละ 8,570 บาท และส่วนน้อยเครื่องละ 9,730 บาทตามบัญชีที่แนบมากับเอกสารหมาย จ.6 ตรงกับราคาค่าซ่อมตามเอกสารหมาย จ.4 ของโจทก์ จึงเห็นสมควรกำหนดค่าซ่อมหม้อแปลงไฟฟ้าจำนวน 55 เครื่อง เป็นเงิน490,226 บาท แก่โจทก์ตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 10 กันยายน 2527 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ปฏิเสธไม่ชำระแก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.6 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน490,226 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 10 กันยายน 2527 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์หากไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน