คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6966/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

มูลหนี้เดิมเป็นหนี้ค่าเช่าซื้อค้างชำระ มีกำหนดอายุความ 2 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(6) เดิมนับตั้งแต่วันครบกำหนดแต่ละงวดตามสัญญาเช่าซื้ออันเป็นวันที่เจ้าหนี้อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของตนได้ คืออย่างช้าวันที่ 1 ธันวาคม 2529 และเมื่อนับจนถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2533อันเป็นวันทำสัญญารับสภาพหนี้เป็นเวลาเกินกว่า 2 ปีแล้วหนี้ค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อจึงขาดอายุความลูกหนี้ไม่อาจทำสัญญารับสภาพหนี้ได้ เพราะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 เดิม ลูกหนี้ จะทำหนังสือรับสภาพหนี้ได้ก่อนอายุความครบบริบูรณ์เท่านั้น แต่การที่ลูกหนี้จะทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้พอถือได้ว่า เป็นเรื่องที่ลูกหนี้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความและรับสภาพ ความรับผิดโดยสัญญา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 188 วรรคสามและมาตรา 192 วรรคหนึ่ง เดิม เนื่องจากขณะทำสัญญาดังกล่าวประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/35 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ซึ่งบัญญัติให้สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากการที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือมีกำหนดอายุความ 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดยังไม่ใช้บังคับ สัญญารับสภาพหนี้จึงมีผลใช้บังคับได้ และแม้หากต้องถืออายุความตามสัญญาเช่าซื้ออันเป็นมูลหนี้เดิมคือ 2 ปี เมื่อนับจากวันที่เจ้าหนี้อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องดังที่ระบุไว้ในสัญญารับสภาพหนี้ดังกล่าวคือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 จนถึงวันที่เจ้าหนี้ฟ้องบังคับตามสัญญาดังกล่าวในวันที่ 16 ตุลาคม 2535 แล้ว ไม่เกินกำหนด2 ปี สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

คดีนี้มูลกรณีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ (จำเลย) เด็ดขาดเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2537เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจำนวน 469,724 บาทจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นว่าควรยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483มาตรา 107(1)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน469,724 บาท ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483มาตรา 107(2)
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้บางส่วนเป็นเงินจำนวน 130,463.06 บาท ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 107(3)
เจ้าหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วข้อเท็จจริงเป็นอันยุติรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2526ลูกหนี้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อไปจากเจ้าหน้า 1 คันในราคา 862,000 บาท ชำระเงินดาวน์ในวันทำสัญญาเช่าซื้อจำนวน 70,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระรวม 36 งวด งวดละ22,000 บาท ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.2 และเมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าซื้อในวันที่ 1 ธันวาคม 2529 ลูกหนี้ค้างชำระค่าเช่าซื้อจำนวน 254,000 บาท ต่อมาเจ้าหนี้ทราบว่ารถยนต์ดังกล่าวเป็นของกลางที่ถูกริบตามคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1917/2531 ของศาลชั้นต้น เจ้าหนี้จึงยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2531 คดีถึงที่สุด โดยศาลฎีกาพิพากษายกคำร้องต่อมาวันที่ 2 ตุลาคม 2533 ระหว่างคดีขอคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อยังไม่ถึงที่สุด ลูกหนี้ทำสัญญารับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.4 ยอมชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระจำนวน 254,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจนถึงวันทำสัญญากับยอมชำระค่าใช้จ่ายของเจ้าหนี้ในการติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนในช่วงก่อนที่รถยนต์ดังกล่าวจะถูกยึดเป็นของกลางเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2530 รวมทั้งค่าใช้จ่ายและค่าทนายความของเจ้าหนี้ในการยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 471,000 บาท โดยผ่อนชำระเดือนละ20,000 บาท ทุกวันที่ 1 ของเดือนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2533หากผิดสัญญายอมให้เจ้าหนี้ฟ้องบังคับชำระหนี้ทั้งหมดได้ทันทีโดยลูกหนี้ไม่ติดใจว่าเจ้าหนี้จะได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือไม่ลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้เพียง 3 ครั้ง คือในวันที่ 18 ธันวาคม 2533วันที่ 21 สิงหาคม 2534 และวันที่ 11 พฤศจิกายน 2534 รวมจำนวน60,000 บาท เจ้าหนี้จึงฟ้องบังคับชำระหนี้ส่วนที่เหลือตามสัญญาดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2535 ซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยชำระเงินจำนวน 437,971 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 411,000 บาทนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 16 ตุลาคม 2535) จนกว่าจะชำระเสร็จกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ1,000 บาท ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 4/2536 ของศาลชั้นต้นหลังจากนั้นลูกหนี้ไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อีกเลย เจ้าหนี้จึงฟ้องเป็นคดีนี้และขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวโดยคำนวณดอกเบี้ยถึงวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด รวมเป็นหนี้ที่ลูกหนี้ค้างชำระหนี้ทั้งสิ้น 469,724 บาท คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าหนี้ว่า หนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ขาดอายุความหรือไม่ และเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนที่ขอรับชำระหนี้หรือไม่
สำหรับปัญหาว่า หนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ขาดอายุความหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่ามูลหนี้เดิมรายนี้เป็นหนี้ค่าเช่าซื้อค้างชำระตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งมีกำหนดอายุความ 2 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(6) เดิมนับตั้งแต่วันครบกำหนดแต่ละงวดตามสัญญาเช่าซื้ออันเป็นวันที่เจ้าหนี้อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของตนได้ คืออย่างช้าวันที่1 ธันวาคม 2529 และเมื่อนับจนถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2533 อันเป็นวันทำสัญญารับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.4 เป็นเวลาเกินกว่า 2 ปีแล้วหนี้ค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อจึงขาดอายุความลูกหนี้ไม่อาจทำสัญญารับสภาพหนี้ได้ เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 เดิม ลูกหนี้จะทำหนังสือรับสภาพหนี้ได้ก่อนอายุความครบบริบูรณ์เท่านั้น แต่การที่ลูกหนี้ทำสัญญารับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้พอถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ลูกหนี้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความและรับสภาพความรับผิดโดยสัญญา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 188 วรรคสามและมาตรา 192 วรรคหนึ่ง เดิม เนื่องจากขณะทำสัญญาดังกล่าวประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/35 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ซึ่งบัญญัติให้สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากการที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือมีกำหนดอายุความ2 ปี นับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดยังไม่ใช้บังคับสัญญารับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.4 จึงมีผลใช้บังคับได้และแม้หากต้องถืออายุความตามสัญญาเช่าซื้ออันเป็นมูลหนี้เดิมคือ2 ปี เมื่อนับจากวันที่เจ้าหนี้อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องดังที่ระบุไว้ในสัญญารับสภาพหนี้ดังกล่าว คือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2533จนถึงวันที่เจ้าหนี้ฟ้องบังคับตามสัญญาดังกล่าวในวันที่ 16 ตุลาคม 2535 แล้ว ไม่เกินกำหนด 2 ปี สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้จึงไม่ขาดอายุความ หนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ย่อมไม่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ ฎีกาข้อนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาว่า เจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนที่ขอรับชำระหนี้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า หนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระจำนวน 469,724 บาท นั้น เป็นหนี้ตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลชั้นต้น โดยศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลูกหนี้รับผิดตามสัญญารับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.4 ซึ่งมีมูลหนี้มาจากสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.2 เป็นค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระจำนวน254,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จนถึงวันทำสัญญากับค่าใช้จ่ายของเจ้าหนี้ในการติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนในช่วงผิดสัญญาเช่าซื้อรวมทั้งค่าใช้จ่ายและค่าทนายความของเจ้าหนี้ในการยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งลูกหนี้นำไปใช้ในการกระทำความผิดและถูกศาลชั้นต้นสั่งริบ ถึงแม้หนี้ดังกล่าวจะมีจำนวนสูงกว่าค่าเช่าซื้อที่ลูกหนี้ค้างชำระ แต่เจ้าหนี้ก็มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ในจำนวนที่เพิ่มขึ้นทั้งนี้เพราะลูกหนี้ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้เป็นอย่างมาก โดยผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2529 ถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2533เป็นเวลา 3 ปี 10 เดือน 1 วัน คำนวณค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงินดอกเบี้ยถึง 146,154.38 บาท นอกจากนี้การที่ลูกหนี้ไม่คืนรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่เจ้าหนี้ภายหลังเลิกสัญญาเช่าซื้อและนำรถยนต์ดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิดอาญาจนถูกศาลมีคำสั่งริบ ทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหายต้องเสียค่าใช้จ่ายในการติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนรวมทั้งค่าใช้จ่ายและค่าทนายความในการยื่นคำร้องต่อศาลขอคืนรถยนต์ที่เช่าซื้ออีกส่วนหนึ่งด้วยเมื่อนำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยทั้งหมดมาหักออกจากเงินที่ลูกหนี้ยอมชำระให้แก่เจ้าหนี้จำนวน 471,000 บาท ตามสัญญารับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.4 แล้ว ค่าเสียหายส่วนนี้จะมีจำนวน70,845.62 บาท ซึ่งเห็นว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสม ทั้งลูกหนี้เองก็ได้ยินยอมทำสัญญารับสภาพหนี้ดังกล่าวด้วยความสมัครใจโดยลูกหนี้ไม่ติดใจว่าเจ้าหนี้จะได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือไม่แสดงว่าที่ลูกหนี้ทำสัญญารับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ ลูกหนี้ก็ได้คำนึงถึงความเสียหายจากการที่เจ้าหนี้ไม่ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนด้วยแล้ว ฉะนั้นกรณีจึงไม่มีเหตุที่จะนำค่าเสียหายในส่วนที่เกี่ยวกับราคารถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตีราคาไว้ 200,000 บาท มาหักออกจากหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าหนี้ขอรับชำระดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย เจ้าหนี้จึงชอบที่จะได้รับอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนที่ขอรับชำระหนี้คือ469,724 บาท คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน ฎีกาของเจ้าหนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น

Share