แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้คำให้การชั้นจับกุมของ ฉ. ซึ่งมิได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยคดีนี้ด้วยจะมีลักษณะเป็นคำซัดทอดในระหว่างผู้ต้องหาด้วยกันก็ตาม แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้รับฟังคำให้การเช่นว่านี้เสียทีเดียว หากการซัดทอดมีเหตุผลรับฟังได้ศาลก็มีอำนาจรับฟังมาประกอบการพิจารณาได้
การที่ ฉ. เบิกความในชั้นพิจารณาของศาลมิใช่เป็นคำซัดทอดเพราะ ฉ. มิได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ด้วย และ ฉ. ยังยืนยันข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับที่ได้ให้การไว้ในชั้นถูกจับกุม ทั้งคำเบิกความของ ฉ. ไม่ปรากฏว่ามีเหตุจูงใจในการเบิกความให้ตนพ้นความผิดหรือได้รับประโยชน์แต่อย่างใด จึงรับฟังคำเบิกความดังกล่าวของ ฉ. ด้วยความระมัดระวังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจำหน่ายเฮโรอีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1จำนวน 3 หลอด มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 0.09 กรัม ให้แก่ผู้มีชื่อ และจำเลยมีเฮโรอีนอีกจำนวนหนึ่งปริมาณไม่ปรากฏชัดไว้ในครอบครองกับได้เสพเฮโรอีนจำนวนดังกล่าวอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 91 และ 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 49, 90, 91 ริบของกลางและสั่งห้ามจำเลยเสพยาเสพติดให้โทษทุกประเภท ภายในกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 49
จำเลยให้การรับสารภาพข้อหามีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อเสพ ปฏิเสธข้อหาจำหน่ายเฮโรอีน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง, 67 ฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 1 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 6 เดือน ฐานจำหน่ายเฮโรอีนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 5 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 3 ปี10 เดือน ริบของกลาง ส่วนที่โจทก์ขอให้ห้ามจำเลยมิให้จำเลยเสพยาเสพติดให้โทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 49 ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57, 91 อีกฐานหนึ่งด้วยแต่ให้ลงโทษตามมาตรา 67 ซึ่งเป็นบทหนักเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องเจ้าพนักงานตำรวจจับนายเฉลียวพร้อมด้วยเฮโรอีน 3 หลอด ของกลาง และต่อมาในคืนเดียวกันจับจำเลยได้พร้อมบ้องกัญชาจำนวน1 บ้อง กับเงินสด 220 บาท เป็นของกลาง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้จำหน่ายเฮโรอีนของกลางให้แก่นายเฉลียวหรือไม่ โจทก์มีนายเฉลียวเป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันว่าคืนเกิดเหตุเวลาประมาณ 20 นาฬิกา พยานได้ซื้อเฮโรอีนของกลางจากจำเลยที่ร้านอาหารของจำเลย เมื่อถูกจับแล้วพยานก็ให้การเช่นว่านั้น และพยานเคยซื้อเฮโรอีนจากจำเลยมาก่อนเกิดเหตุ 2 ถึง 3 ครั้ง เห็นว่า แม้คำให้การชั้นจับกุมของนายเฉลียวจะมีลักษณะเป็นคำซัดทอดในระหว่างผู้ต้องหาด้วยกันก็ตาม แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้รับฟังคำให้การเช่นว่านี้เสียทีเดียว หากการซัดทอดมีเหตุผลรับฟังได้ ศาลก็มีอำนาจรับฟังมาประกอบการพิจารณาได้ และการที่นายเฉลียวเบิกความในชั้นพิจารณาของศาลก็มิใช่เป็นคำซัดทอดเพราะนายเฉลียวมิได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ ซึ่งนายเฉลียวยังยืนยันข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับที่ได้ให้การไว้ในชั้นถูกจับกุม ทั้งคำเบิกความดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่ามีเหตุจูงใจในการเบิกความให้ตนพ้นความผิดหรือได้รับประโยชน์แต่อย่างใดจึงรับฟังคำเบิกความดังกล่าวของนายเฉลียวด้วยความระมัดระวังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ ซึ่งโจทก์ก็มีสิบตำรวจสำเริงกับร้อยตำรวจเอกเถลิงศักดิ์ผู้ร่วมจับจำเลยมาเบิกความยืนยันว่า จำเลยให้การว่าธนบัตรหรือเงินสด 220 บาท ของกลางเป็นเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายเฮโรอีนของกลางให้แก่นายเฉลียวและบันทึกการตรวจยึดเงินของกลางพร้อมภาพถ่ายทั้งชั้นสอบสวนจำเลยก็ให้การรับสารภาพว่าจำหน่ายเฮโรอีนของกลางให้แก่นายเฉลียวจริงจำเลยเพียงแต่นำสืบว่าให้การรับสารภาพเพราะถูกขู่บังคับซึ่งเป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย ดังนั้น พยานหลักฐานโจทก์ย่อมมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยได้จำหน่ายเฮโรอีนของกลางให้แก่นายเฉลียว
พิพากษายืน