คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3837/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีที่ลูกจ้างฟ้องนายจ้างเรียกค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเพราะถูกไล่ออกจากงานเนื่องจากนายจ้างกล่าวหาลูกจ้างเป็นคดีอาญาว่า ปลอมและใช้เอกสารปลอม ฉ้อโกงและพยายามฉ้อโกงซึ่งศาลอาญาพิพากษายกฟ้องไปแล้วนั้น ไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานโดยกล่าวหาว่าโจทก์ร่วมกับบุคคลภายนอกกระทำการทุจริต ซึ่งไม่เป็นความจริงและจำเลยได้ดำเนินคดีกับโจทก์ต่อศาลอาญาในข้อหาร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอมร่วมกันฉ้อโกง และพยายามฉ้อโกง แต่ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุดแล้ว การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำผิด จึงเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ขอเรียกค่าเสียหายเพียงระยะเวลา 10 ปี เป็นเงิน652,550 บาท และขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 11,625 บาทจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 7,750 บาท ด้วย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 11,625 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า7,750 บาท พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 652,550 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ยกเลิกคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงาน
จำเลยให้การว่า โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยโดยโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยจึงมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงาน เป็นการเลิกจ้างโดยชอบธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยกับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างใด ๆ ทั้งสิ้น
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ได้ร่วมกับนายแสวงพี่ของโจทก์และบุคคลภายนอกทุจริตด้วยวิธีแจ้งโอนเงินทางโทรศัพท์ จากธนาคารจำเลยสาขาอ่างทองไปยังสาขาอื่นของจำเลยในเขตกรุงเทพมหานครหลายสาขา ทั้งที่ความจริงธนาคารจำเลยสาขาอ่างทองไม่ได้มีการโอนเงินดังกล่าว การกระทำของโจทก์จึงเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ กระทำและยอมให้ผู้อื่นกระทำการอันเป็นผลเสียหายต่อธนาคารจำเลย อันเป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงไม่ถือเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย และจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ ทั้งไม่มีเหตุที่จะสั่งยกเลิกคำสั่งของจำเลยที่ไล่โจทก์ออกจากงาน พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่า คดีนี้เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8750/2528 ของศาลอาญาซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติว่า ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา โจทก์และจำเลยต่างก็เป็นคู่ความในคดีส่วนอาญาคำพิพากษาของศาลส่วนอาญาจึงมีผลผูกพันโจทก์จำเลยในคดีนี้ เมื่อคดีส่วนอาญาศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าโจทก์มิได้เป็นผู้ร่วมกระทำการทุจริต คดีนี้ศาลแรงงานกลางย่อมจะต้องรับฟังว่าโจทก์มิได้กระทำการทุจริต พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างถูกจำเลยผู้เป็นนายจ้างร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาในข้อหาร่วมกับพวกปลอมและใช้เอกสารปลอม ร่วมกันฉ้อโกงและพยายามฉ้อโกง และศาลได้พิพากษายกฟ้องในคดีอาญา ตามคดีหมายเลขแดงที่ 8750/2528 ของศาลอาญานั้น หากจะฟ้องบังคับในทางแพ่งด้วย ในกรณีที่ฉ้อโกงได้เงินของจำเลยไป ก็ได้แต่ขอให้ใช้คืนเงินเท่านั้น จะขอให้ศาลบังคับให้โจทก์พ้นจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยด้วยย่อมกระทำไม่ได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ต้องหาว่าร่วมกับพวกกระทำความผิดทางอาญาฐานร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม ร่วมกันฉ้อโกงและพยายามฉ้อโกง จึงมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค 1 ลักษณะ 3หมวด 2 ดังนั้นในการวินิจฉัยว่าโจทก์กระทำการทุจริตต่อจำเลยหรือไม่ศาลแรงงานกลางไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญา…”
พิพากษายืน

Share