คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 696/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บทบัญญัติของพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475มาตรา 39 เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลจึงยกขึ้นปรับคดีได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2507 จำเลยในฐานะพนักงานประเมินภาษีได้ชี้ขาดคำร้องของโจทก์ โดยประเมินค่ารายปีเป็นเงิน 2,400 บาท และให้โจทก์เสียภาษีโรงเรือน 300 บาทโจทก์ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งนี้ และให้ศาลสั่งให้โจทก์เสียภาษีโรงเรือนเพียง 60 บาท

จำเลยให้การว่า ค่ารายปีที่ประเมินเป็นจำนวนที่สมควรแล้ว

เมื่อสืบพยานของทั้งสองฝ่ายเสร็จแล้ว จำเลยได้แถลงต่อศาลเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2507 ว่าโจทก์ยังไม่ได้ชำระภาษีต่อเทศบาลเลย ศาลไม่ชอบที่จะรับฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเมื่อฟังได้ว่าโจทก์ยังไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลาในพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 38ฟ้องจึงเป็นฟ้องที่ศาลจะประทับรับไว้พิจารณาไม่ได้ ทั้งค่ารายปีที่ประเมินก็สมควรแล้ว พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ยังไม่ได้ชำระภาษีตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินและชี้ขาดให้แก่เทศบาล (ภายในกำหนดเวลา 90 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน ตามมาตรา 38 พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน) แล้ววินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 39 บัญญัติว่า “ถ้ามีผู้ยื่นฟ้องต่อศาลตามความในมาตรา 31 ท่านห้ามมิให้ศาลประทับฟ้องตามกฎหมาย เว้นแต่จะเป็นที่พอใจศาลว่าผู้รับประเมินได้ชำระค่าภาษีทั้งสิ้นซึ่งถึงกำหนดต้องชำระ เพราะเวลาซึ่งท่านให้ไว้ตามมาตรา 38 นั้นได้สิ้นไปแล้ว หรือจะถึงกำหนดชำระระหว่างที่คดียังอยู่ในศาล ฯลฯ” เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนเพราะเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิของผู้จะฟ้องคดี ศาลจึงยกบทกฎหมายนั้นขึ้นชี้ขาดคดีเองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่ศาลจะรับไว้พิจารณาไม่ได้

พิพากษายืน

Share