แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ขายห้องชุดพิพาทจำนวน 223 ห้อง ไปในราคาต่ำกว่าราคาที่โจทก์ระบุไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายโดยไม่มีเหตุอันควร ทั้งโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าราคาตลาดของห้องชุดดังกล่าวในวันที่มีการโอนมีราคาเท่าใด การที่เจ้าพนักงานประเมินถือเอาราคาประเมินของทางราชการที่ใช้คำนวณเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ผู้ซื้อจากโจทก์ในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทเป็นราคาตลาดในวันที่โอนจึงเหมาะสมและชอบด้วยประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 65 ทวิ (4)แล้ว การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามฟ้องจึงชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของจำเลยตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 1005300/2/100405 ลงวันที่ 20 มกราคม 2540 และหนังสือแจ้งภาษีการค้า (ค.ค.80) เลขที่ 1005300/4/104419 ลงวันที่ 20 มกราคม 2540 ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบระยะเวลาบัญชี 2534 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2542 และภาษีการค้าเดือนธันวาคม2534 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2542
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด สร้างอาคารชุดจำหน่ายที่ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ รวม 2 โครงการ โครงการที่ 1 ชื่อ อาคารชุดชมดอยคอนโดเต็ล เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2532 เป็นอาคารสูง 13 ชั้น แบ่งเป็นห้องชุด 455 ห้อง เมื่อสร้างอาคารชุดเสร็จแล้ว มีการประเมินราคาห้องชุดแต่ละห้องไว้และจดทะเบียนอาคารชุดตามพระราชบัญญัติอาคารชุด ราคาประเมินที่กำหนดนี้เป็นราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อใช้ในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ของทางราชการสำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ ในปี 2534 โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ผู้ซื้อไปทั้งสิ้น 361 ห้อง โดยเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีการค้าแล้ว ต่อมาวันที่ 18 ตุลาคม 2536 จำเลยมีหนังสือเรียกตรวจสอบโจทก์และประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 1 มกราคม 2534 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2534 ตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 1005300/2/100405 ลงวันที่ 20 มกราคม 2540 เป็นเงิน4,777,867 บาท และภาษีการค้าสำหรับเดือนธันวาคม 2534 ตามหนังสือแจ้งการค้าที่ 1005300/4/104419 ลงวันที่ 20 มกราคม 2540 เป็นเงิน 1,697,411 บาท รวมเป็นเงิน6,475,278 บาท โจทก์อุทธรณ์การประเมินคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเบี้ยปรับเงินเพิ่มลงคงเรียกเก็บเป็นเงิน 4,657,409.12 บาท ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.1 (อธ. 1)/320/2542 และลดภาษีการค้า เบี้ยปรับเงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่นลงคงเรียกเก็บเป็นเงิน 1,628,961.15 บาท ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.1 (อธ. 1)/321/2542 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่เจ้าพนักงานประเมินถือเอาราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของสำนักงานที่ดินเป็นราคาตลาดในการประเมินเรียกเก็บภาษีจากโจทก์โดยถือว่าโจทก์ขายห้องชุดพิพาทตามฟ้องได้ในราคาดังกล่าวนั้นขัดต่อประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) เพราะกฎหมายไม่ได้บัญญัติเช่นนั้นและราคาดังกล่าวก็ไม่ใช่ราคาตลาด การจะใช้ราคาตลาดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4)ต้องปรากฏว่าผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีไม่ได้ลงราคาหรือลงราคาไว้ไม่เหมาะสม เมื่อโจทก์ลงราคาจริงตรงกับราคาตามสัญญาที่โจทก์ขายห้องชุดให้ลูกค้าและพิสูจน์ได้จึงไม่มีเหตุต้องนำราคาตลาดมาพิจารณา ทั้งโจทก์ก่อสร้างอาคารชุดจำหน่ายแก่คนทั่วไปเป็นจำนวนมากโดยมีการกำหนดราคาขายแจ้งให้แก่บุคคลทั่วไปทราบ ซึ่งราคาขายห้องชุดที่กำหนดนี้จะตรงกับราคาสัญญาจะซื้อจะขายที่โจทก์ทำกับลูกค้าและถือเป็นราคาตลาดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) การที่โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดตามราคาประเมินของกรมที่ดินเพราะหากโต้แย้งก็ไม่สามารถจดทะเบียนโอนได้และลูกค้าก็จะไม่ยอมจ่ายเงินส่วนใหญ่ที่เหลืออยู่ให้โจทก์ หาใช่โจทก์ยินยอมหรือยอมรับราคาดังกล่าวไม่ นายคงวุฒิ รุ่งพรชัย กรรมการโจทก์ไม่ได้ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ณ สำนักงานที่ดิน จึงไม่ทราบว่าขณะจดทะเบียนมีการกำหนดราคาประเมินอย่างไร ต่อมาเมื่อจำเลยประเมินเรียกเก็บภาษีเพิ่มจากโจทก์นายคงวุฒิจึงทราบถึงการกำหนดราคาประเมินแต่ไม่อาจโต้แย้งได้เพราะล่วงเลยเวลาแล้ว เห็นว่าข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ก่อสร้างอาคารชุดจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไปและในปี 2534โจทก์ขายห้องชุดให้ผู้ซื้อไปจำนวนมากถึง 361 ห้อง ตามราคาขายในสัญญาจะซื้อจะขายราคาขายดังกล่าวจึงถือเป็นราคาตลาดนั้น ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบได้ความตรงกันว่าห้องชุดที่โจทก์ขายไปและถูกประเมินเรียกเก็บภาษีเพิ่มในคดีนี้จำนวน 223 ห้องตามตารางเปรียบเทียบราคาขายเอกสารหมาย ล.6 หน้า 256 ถึง 269 การทำสัญญาจะซื้อจะขายได้ระบุราคาห้องชุดไว้ในสัญญา แต่ปรากฏว่ายังมีราคาขายห้องชุดที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายตามแบบ อช.16 ซึ่งโจทก์ทำกับผู้ซื้อรายเดียวกันในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์อีกราคาหนึ่ง ซึ่งส่วนมากมีราคาสูงกว่าราคาตามสัญญาจะซื้อจะขายและยังมีราคาประเมินของทางราชการซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินนำมาใช้สำหรับคำนวณเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนระบุไว้อีกราคาหนึ่งซึ่งสูงกว่าราคาตามสัญญาจะซื้อจะขายและโจทก์ยอมรับว่าโจทก์ได้ชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวตามราคาประเมินของห้องชุดที่ทางราชการกำหนดไว้ ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ขายห้องชุดดังกล่าวในราคาใด และราคาห้องชุดที่ระบุในสัญญาจะซื้อจะขายซึ่งโจทก์ทำไว้กับผู้ซื้อเป็นราคาตลาดดังที่โจทก์อุทธรณ์ เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างและมีหน้าที่นำสืบ แต่ไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันให้ศาลรับฟังได้ว่าราคาขายห้องชุดและราคาตลาดเป็นดังที่โจทก์อ้าง และข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ขายห้องชุดพิพาทจำนวน 223 ห้องนี้ไปในราคาต่ำกว่าราคาที่โจทก์ระบุในสัญญาจะซื้อจะขายตามแบบ อช.16 เป็นส่วนมาก ซึ่งโจทก์ใช้เป็นหลักฐานในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่ขายให้แก่ผู้ซื้อ และยังต่ำกว่าประเมินทุนทรัพย์ของทางราชการที่ใช้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่ขายดังกล่าวด้วย โดยโจทก์ไม่ได้นำสืบถึงสาเหตุว่ามีเหตุสมควรอย่างไรจึงขายห้องชุดจำนวน 223 ห้องนี้ไปในราคาต่ำกว่าราคาประเมินของทางราชการซึ่งเป็นราคาที่โจทก์เองยอมให้ใช้คำนวณเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และยอมชำระค่าธรรมเนียมตามราคาประเมินดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่ข้อเท็จจริงปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์เองว่ายังมีห้องชุดอีกจำนวน 138 ห้อง ของอาคารเดียวกันที่โจทก์ขายไปในปีเดียวกันได้ราคาสูงกว่าราคาประเมินของทางราชการและเจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่ได้ประเมินเรียกเก็บภาษีเพิ่ม ดังนั้น การที่โจทก์ขายห้องชุดพิพาทจำนวน223 ห้อง ในราคาตามสัญญาจะซื้อจะขายตามที่โจทก์อุทธรณ์ จึงเป็นการขายในราคาต่ำโดยไม่มีเหตุอันควร ทั้งโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าราคาตลาดของห้องชุดดังกล่าวในวันที่มีการโอนมีราคาเท่าใด การที่เจ้าพนักงานประเมินถือเอาราคาประเมินของทางราชการที่ใช้คำนวณเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ผู้ซื้อจากโจทก์ในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทเป็นราคาตลาดในวันที่โอนจึงเหมาะสมและชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) แล้ว การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามฟ้องจึงชอบแล้วส่วนที่คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยให้ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลภาษีการค้า รวมทั้งเบี้ยปรับเงินเพิ่มสำหรับรายรับจากการขายห้องชุดจำนวน 9 ห้อง ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์โดยยอมให้ถือเอาราคาขายห้องชุดตามที่ระบุในสัญญาจะซื้อจะขายเป็นรายรับได้เพราะโจทก์มีหนังสือยืนยันราคาจากผู้ซื้อมายืนยันตรงกันนั้นเป็นการใช้ดุลพินิจเฉพาะกรณีเท่านั้นไม่อาจนำมาเป็นเหตุผลในการวินิจฉัยว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินข้างต้นไม่ชอบได้ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน